ผู้เขียน หัวข้อ: ตลาดยานยนต์ไทยกระเพื่อม เมื่อกำแพงเมืองจีนเดินเครื่องใส่  (อ่าน 667 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 82283
    • ดูรายละเอียด
ตลาดยานยนต์ไทยกระเพื่อม เมื่อกำแพงเมืองจีนเดินเครื่องใส่

ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร BTCOL13


22 FEBRUARY 2020





คอลัมน์ china inside-out
พลันที่ Great Wall Motors (GWM) หนึ่งในผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่จากแดนมังกรประกาศเข้าซื้อ General Motors (GM)

หลายคนก็อดถามไม่ได้ว่า GWM คือใคร ค่ายไหน มีแบรนด์อะไรอยู่ในมือที่มาที่ไปของ GWM ? ฝันให้ไกล ไปให้ถึง
GWM ก่อตั้งขึ้นเมื่อราวปี 1984  มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองป่าวติ้ง (Baoding) มณฑลเหอเป่ย (Hebei) ติดกับกรุงปักกิ่ง
ระยะแรก บริษัทเผชิญกับปัญหาอุปสรรคมากมาย ทำให้การพัฒนาเป็นไปอย่างช้าๆ แต่ด้วยความทุ่มเทและเอาจริงเอาจัง ทำให้สามารถผลิตรถยนต์ภายใต้แบรนด์ Great Wall คันแรกออกสู่ท้องตลาดได้ในปี 1993 และสร้างสถิติผลิตรถยนต์ทะลุ 10,000 คันเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของบริษัทในปี 1999


แหล่งข่าวกระซิบอีกว่า แม้ GWM จะเป็นกิจการเอกชน แต่ก็มีอดีตนายทหารเป็นผู้บริหารระดับสูง จึงได้รับการสนับสนุนอันดีจากกองทัพจีน แถมยังมีกลิ่นอายของทัศนคติและสไตล์การบริหารแบบทหารติดมา ตัวอย่างเช่น การส่งพนักงานใหม่ไปเข้าคอร์สฝึกความอดทนแบบทหารเป็นเวลาถึง 1 เดือนเต็มก่อนเข้าทำงาน

กลางปี 2001 GWM Co., Ltd. ได้ถูกจัดตั้งขึ้นใหม่ด้วยทุนจดทะเบียน 170.5 ล้านหยวน และตามมาด้วยการเปิดตัวรถกระบะใหม่อย่างต่อเนื่อง ตอกย้ำการเป็นผู้นำตลาดรถกระบะและรถ SUV
ราวปี 2003 GWM จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง นับเป็นผู้ผลิตยานยนต์เอกชนที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ได้เป็นรายแรก ส่งผลให้บริษัทระดมทุนจำนวนมาก และขยายกิจการได้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง
ในช่วง 10 ปีหลังนี้ GWM หันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาเชิงกลยุทธ์ โดยปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับนโยบายบุกโลก ?Made in China 2025? และนโยบายอื่นของรัฐบาลจีน และปี 2011 GWM ก็จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้
GWM ยังทุ่มทุนกับการวิจัยและพัฒนาเพื่อหวังเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมในอุตสาหกรรมยานยนต์ อาทิ การลงทุนจัดตั้งสถาบันวิจัยด้านเทคโนโลยี (GWM Technology Research Institute) และการเสริมสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาระหว่างประเทศจำนวน 10 แห่งใน 7 ประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ เยอรมนี อินเดีย ออสเตรีย และเกาหลีใต้ เพื่อเชื่อมโยงเข้ากับศูนย์วิจัยและพัฒนาหลักในจีน

นับแต่ปี 2016 บริษัททำยอดขายทั่วโลกทะลุ 1 ล้านคันอย่างต่อเนื่อง และช่วง 2 ปีที่ผ่านมา GWM ปรับโครงสร้างองค์กรและยกระดับกลยุทธ์สู่ระดับโลกอย่างแท้จริง และมีหลายแบรนด์ใต้ GWM ได้แก่ เกรทวอลล์ ฮาวาล เวย์ รถกระบะวิงเกิ้ล และรถยนต์ไฟฟ้าออร่า


GWM ดูจะเอาจริงเอาจังกับการสร้างแบรนด์ Great Wall ให้ยิ่งใหญ่สู่ระดับโลก หลายคนที่ติดตามแบรนด์ Great Wall อาจทราบดีว่า GWM ได้เปิดตัวรถปิคอัพรุ่น P series เมื่อปี 2019 ซึ่งนับว่าเป็นดาวเด่นในบรรดารถกระบะในตลาดจีนในยุคหลัง


โดยบริษัทต้องการสะท้อนอัตลักษณ์ของ p ใน 3 ส่วนสำคัญ อันได้แก่ power (ความแข็งแกร่ง) peak (ความท้าทายและนวัตกรรม) และ perfect (ชีวิตที่มีความโอ่อ่า)

พอสืบเสาะดูเบื้องลึกเบื้องหลังของการพัฒนารถยนต์รุ่นดังกล่าวก็พบว่า บริษัททุ่มทุนมหาศาลดึงเอานักวิจัยและพัฒนาจำนวน 5,000 คนมาร่วมกันพัฒนารถยนต์ที่ผสมผสานความสะดวกสบายของรถยนต์นั่งและความเอนกประสงค์ของรถ SUV ให้เข้าด้วยกันอย่างลงตัว

แหล่งข่าววงในเปิดเผยว่า กว่าจะได้รถยนต์ต้นแบบ ทีมวิจัยและพัฒนาต้องใช้เวลาถึง 3 ปี ผลิตงานออกแบบกว่า 12,600 ชิ้นบนพื้นฐานความละเอียดแม่นยำในระดับ 0.001 มิลลิเมตร


ผลจากความทุ่มเท ความหลากหลายของแบรนด์และรุ่นรถ รวมทั้งลูกเล่นในการพัฒนารถกระบะดังกล่าว ทำให้บริษัทได้รับรางวัลมากมายและถูกกล่าวขวัญว่าเป็น ?ผู้เชี่ยวชาญด้านรถกระบะ? ของจีน ส่งผลให้ประสบความสำเร็จในการส่งออกและทำตลาดรถกระบะในกว่า 60 ประเทศทั่วโลก อาทิ รัสเซีย ยุโรป ออสเตรเลีย อเมริกาใต้ อาเซียน ตะวันออกกลาง และแอฟริกา จนผู้บริหารกล้าประกาศที่จะพัฒนาแบรนด์ Great Wall ให้ก้าวขึ้นไปอยู่ใน 3 อันดับแรกของตลาดรถปิคอัพโลก
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา GWM ยังได้เปิดเข้าสู่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า โดยเริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้าคันแรกนับแต่กลางปี 2017 และลงทุนในคลัสเตอร์นี้ทั้งระบบนิเวศน์จนกลายเป็นหนึ่งในผู้นำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในจีนในปัจจุบัน
ทำไม GWM ? ไม่ใช่ SAIC
ผู้อ่านบางท่านมีคำถามสงสัยว่า ทำไมไม่ใช่ SAIC รัฐวิสาหกิจยานยนต์รายใหญ่สุดของจีน ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นครเซี่ยงไฮ้ ที่เข้าซื้อกิจการโรงงานของ GM
ประการหนึ่ง SAIC ได้ลงหลักปักฐานและก่อสร้างโรงงานผลิตขนาดใหญ่ที่ชลบุรีไปก่อนหน้านี้ โรงงานผลิตในปัจจุบันก็ยังเดินไม่เต็มกำลังการผลิต ขณะเดียวกัน ก็ยังกันพื้นที่ไว้อีกมากสำหรับการก่อสร้างโรงงานใหม่เพื่อขยายกำลังการผลิตรองรับความต้องการในอนาคต
และหากมองในภาพใหญ่ การเปิดเวทีให้ GWM เข้ามาสยายปีกสร้างฐานการผลิตในไทย ก็เข้าข่าย ?แยกกันเดิน รวมกันตี? เพราะการบุกเบิกเข้าสู่ตลาดรถยนต์นั่งของแบรนด์ MG ในสังกัดของ SAIC ก่อนหน้านี้ก็ถือว่าค่อนข้างโดดเดี่ยวในหมู่คู่แข่งจากค่ายญี่ปุ่น ยุโรป และสหรัฐฯ
อีกประการหนึ่ง GWM เข้าสู่ตลาดรถยนต์ในไทยล่าช้ากว่าคู่แข่งขัน การเลือกวิธีการเทคโอเวอร์โรงงานรถยนต์ในครั้งนี้จะมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้ GWM สามารถ ?ก้าวกระโดด? ขยายฐานการผลิตและสร้างแบรนด์ที่มีอยู่ในมือ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Great Wall และ HAVAL ในตลาดของไทย อาเซียน และออสเตรเลียได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในเวลาอันสั้น มิฉะนั้นแล้วก็จะเหนื่อยมากขึ้นกับการ ?วิ่งไล่กวด? แบรนด์ชั้นนำที่ครองตลาดอยู่เป็นแน่
การถ่ายเลือดครั้งใหญ่ ? ใครได้ ใครเสีย

แหล่งข่าวระบุว่า การส่งมอบโรงงานและสิ่งอำนวยความสะดวกคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งจะนำไปสู่การถ่ายเลือดครั้งใหญ่ทั้งในมิติของการจ้างแรงงาน ห่วงโซ่อุปทานและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ศูนย์วิจัยและพัฒนา และเครือข่ายดีลเลอร์และบริการหลังการขาย
ในทันทีที่ข่าวส่วนแรกเกี่ยวกับการปิดโรงงานออกมา ดูเหมือนจะสร้างแรงกระเพื่อมถาโถมเพิ่มเติมจากผลกระทบของโควิด-19 ท่ามกลางกระแสลมเศรษฐกิจของไทยที่อ่อนแรง
แบรนด์ Chevrolet และ GM คงดำดิ่งในสายตาของผู้บริโภคชาวไทย ข่าวการทิ้งทวนตัดราคาขายเพื่อกำจัดรถยนต์ในสต็อก อาจสร้างกระแสความฮือฮาสำหรับผู้ที่นิยม ?ของถูก? ได้บ้าง แต่ภาพลักษณ์ที่เสียไปจะทำให้บริษัทลำบากกับการกลับเข้าสู่ตลาดในระยะยาว
แต่หลังจากข่าวการเปลี่ยนมือชัดเจนขึ้นก็กลับทำให้ตลาดยานยนต์ในไทยและอาเซียนกลับคึกคักขึ้นมาในทันที แบรนด์หลัก Great Wall และ HAVAL ของ GWM ก็ดูได้รับความสนใจมากขึ้น สานต่อจากกระแสหลังการเปิดตัวรถกระบะรุ่น P Series ที่มีลูกเล่นที่เพียบพร้อมในไทยเมื่อปีที่ผ่านมา
ในทางกลับกัน เจ้าของตลาดเดิมจากค่ายญี่ปุ่น เกาหลี อเมริกัน และยุโรป หรือแม้กระทั่งจีน ก็อาจจะได้รับผลกระทบจากการเข้ามาของคู่แข่งรายนี้เช่นกัน นัยว่านอกจากรถกระบะภายใต้แบรนด์ Great Wall แล้ว ยังเตรียมเอารถไฟฟ้า HAVAL เข้ามาตีตลาดไทยและอาเซียนอีกด้วย
ในระดับมหภาค การที่ GWM เข้าเทคโอเวอร์โรงงานดังกล่าวก็ผลิต ?ลมส่งท้าย? ให้แก่เศรษฐกิจไทยในระยะสั้น และด้วยศักยภาพของ GWM ก็ทำให้ผมประเมินว่า การเข้ามาลงทุนเต็มตัวในครั้งนี้จะสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจในระยะยาวแก่ไทยมากกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ
เพราะหากลองพิจารณาดู นับแต่โรงงานของ GM แห่งนี้เปิดเดินสายการผลิตเมื่อปี 2000 หรือเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ผู้ผลิตค่ายอเมริกันผลิตรถกระบะและรถ SUV ภายใต้ยี่ห้อ Chevrolet รวมกันไม่ถึง 1.4 ล้านคัน
ขณะที่ GWM นับเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่ไม่เพียงเห็นโอกาสทางธุรกิจของตลาดรถปิคอัพในไทยเท่านั้น แต่ยังต้องการใช้ไทยเป็น ?จิ๊กซอว์? ชิ้นสำคัญในการเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกในภูมิภาคอาเซียนเพื่อสานต่อนโยบายระดับโลกให้เกิดเป็นรูปธรรม
ดังนั้น การเห็นตัวเลขการผลิตระดับ 500,000 คันต่อปีจึงเป็นสิ่งที่ไม่ไกลเกินเอื้อม แม้ว่าแบรนด์ GWM อาจยังไม่คุ้นหูคุ้นตาผู้รักความเร็วชาวไทยนักในขณะนี้ แต่ผมเชื่อมั่นว่า คนไทยจะรู้จักแบรนด์นี้มากขึ้นในอนาคตอันใกล้
เมื่อ ?กำแพงเมืองจีน? (great wall) พาดผ่านไทยก็ดูเหมือนจะทำเอาวงการยานยนต์ในภูมิภาคอาเซียนสั่นไหวไปตามกัน ?
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กุมภาพันธ์ 22, 2020, 10:32:01 AM โดย Rakayang.Com »