ผู้เขียน หัวข้อ: 'ศรีตรังโกลฟส์' คาดเสนอขาย IPO-เข้า SET ก.ค.นี้ ใช้ขยายกำลังผลิต-คืนหนี้-ทุนหมุนเวียน  (อ่าน 978 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 82291
    • ดูรายละเอียด

'ศรีตรังโกลฟส์' คาดเสนอขาย IPO-เข้า SET ก.ค.นี้ ใช้ขยายกำลังผลิต-คืนหนี้-ทุนหมุนเวียน

          นายวราห์ สุจริตกุล กรรมการบริหาร บล.ฟินันซ่า ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า คาดว่า บมจ.ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) (STGT) จะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนครั้งแรก (IPO) และเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในช่วงเดือนก.ค.นี้ โดยปัจจุบัน STGT อยู่ระหว่างการนำข้อมูลงบการเงินไตรมาส 1/63 เข้ามาเพิ่มเติมในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (Filing) ที่ได้ยื่นต่อสำนักงานณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ไปแล้ว
          นอกจากนี้ในวันที่ 1 มิ.ย. 63 จะมีบทวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) 9 รายออกมา เพื่อเป็นการวิเคราะห์ความน่าสนใจของ STGT ให้กับนักลงทุนได้ทราบ เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน
          โดย STGT ถือเป็นบริษัทผลิตถุงมือยางเบอร์ 3 ของโลก ถือเป็นบริษัทที่มีศักยภาพ และมีโอกาสเติบโตขึ้นได้อีกมากในอนาคต จากความต้องการใช้ถุงมือยางทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การดูแลด้านสุขอนามัยเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งส่งผลบวกต่อธุรกิจของ STGT ที่มียอดออร์เดอร์ถุงมือยางเข้ามามากขึ้น ทำให้เห็นภาพการเติบโตในอนาคตได้อย่างชัดเจน
          สำหรับการเสนอขาย IPO ในครั้งนี้ จะนำเงินไปใช้ขยายกำลังการผลิต ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ติดตั้งระบบ SAP ชำระคืนเงินกู้สถาบันการเงิน และใช้เป็นเงินหมุนเวียนในกิจการ ทำให้มีเงินลงทุนสามารถรองรับการเติบโตของธุรกิจได้อย่างเต็มที่ในอนาคต 
          สำหรับการเสนอขายหุ้น IPO ของ STGT แบ่งเป็น 1. เสนอขายแก่บุคคลทั่วไป นักลงทุนสถาบัน และผู้มีอุปการคุณของบริษัทฯ จำนวนไม่เกิน 432,780,000 หุ้น 2. เสนอขายแก่กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน บมจ. ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี  (STA) และบริษัทย่อย จำนวนไม่เกิน 2,000,000 หุ้น 3. เสนอขายแก่กรรมการ ผู้บริหารและพนักงาน บมจ. ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) และบริษัทย่อย จำนวนไม่เกิน 10,000,000 หุ้น ในจำนวนนี้จะเสนอขาย ณ วัน IPO จำนวนไม่เกิน 4,000,000 หุ้น และส่วนที่เหลืออีก 6,000,000 หุ้นจะถูกเสนอขายในปีที่ 1 - 2 ภายหลังวัน IPO และ 4. หุ้นที่เหลือจากการจัดสรรในส่วนที่ 2-3 (ถ้ามี) จะเสนอขายแก่บุคคลทั่วไป นักลงทุนสถาบันและผู้มีอุปการคุณของบริษัท
          นางสาวจริญญา จิโรจน์กุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ STGT เปิดเผยว่า บริษัทวางแผนขยายกำลังการผลิตถุงมือยางอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองความต้องการใช้สินค้าที่เพิ่มขึ้น โดยมีเป้าหมายในการรักษาการเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายถุงมือยางรายใหญ่ 1 ใน 3 ของโลก ซึ่งจะเน้นเพิ่มกำลังการผลิตถุงมือยางธรรมชาติและรักษาสัดส่วนผลิตถุงมือยางไนไตรล์ที่ใช้น้ำยางสังเคราะห์เป็นวัตถุดิบอย่างเหมาะสม รวมถึงนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ภายในโรงงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ตลอดจนให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิต
          โดยเบื้องต้นบริษัทได้วางแผนการขยายกำลังผลิตถุงมือยางเพิ่มเฉลี่ย 4-5 พันล้านชิ้น/ปี โดยในช่วงปี 63-71 บริษัทคาดว่าจะใช้เงินลงทุน 2 หมื่นล้านบาท ขยายกำลังการผลิตให้เพิ่มเป็น 7 หมื่นล้านชิ้น/ปี จากปัจจุบันที่ 3 หมื่นล้านชิ้น/ปี ซึ่งหลังจากได้รับเงินจากการเสนอขาย IPO มาแล้วบริษัทจะนำเงินส่วนหนึ่งไปลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตถุงมือยางในสงขลา ตรัง และชุมพร เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตให้รองรับกับความต้องการใช้ถุงมือยางที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะความต้องการใช้ถุงมือยางจากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีการสนับสนุนด้านการยกระดับบริการสาธารณสุขจากภาครัฐมากขึ้น เช่น จีน อินเดีย และกลุ่มประเทศในทวีปแอฟริกา
          ทั้งนี้ ในช่วงปี 59-62 ความต้องการใช้ถุงมือยางมีการเติบโตเฉลี่ย 12% ต่อปี ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวทางการแพทย์ที่ในหลายๆประเทศต้องการพัฒนาคุณภาพบริการทางการแพทย์ให้ดีขึ้น ส่งผลต่อความต้องการใช้ถุงมือยางที่เติบโตมาอย่างต่อเนื่อง และหลังจากโควิด-19 แพร่ระบาดในปัจจุบัน ทำให้ความต้องการใช้ถุงมือยางเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ โดยปัจจุบันยอดออร์เดอร์ถุงมือยางของที่ลูกค้าสั่งซื้อเข้ามากับบริษัทได้มีออร์เดอร์ล่วงหน้าในปีนี้เต็มปีแล้ว และมีออร์เดอร์ล้นไปถึงปี 64 ซึ่งมองว่าปัจจัยโควิด-19 ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและการเร่งผลักดันการพัฒนาบริการทางการแพทย์ ส่งผลบวกต่อภาพรวมผลการดำเนินงานของบริษัทในปีนี้และในปีต่อๆไปด้วย
          สำหรับสัดส่วนการขายถุงมือยางของบริษัทส่วนใหญ่มาจากการส่งออกไปต่างประเทศ สัดส่วน 90% และขายในประเทศ 10% ซึ่งบริษัทมีการส่งออกถุงมือยางไปจำหน่ายใน 140 ประเทศทั่วโลก พร้อมวางแผนขยายตลาดใหม่ๆในกลุ่มประเทศที่มีโอกาสเติบโตสูง เช่น ทวีปเอเชียตะวันออก เอเชียใต้ แอฟริกา อเมริกาใต้ เป็นต้น ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาระบบสาธารณสุขและสุขอนามัย ดังนั้น อัตราการบริโภคถุงมือยางเฉลี่ยต่อคนต่อปีจึงมีโอกาสเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยบริษัทจะใช้จุดแข็งด้านทำเลที่ตั้งของโรงงานในประเทศไทย ซึ่งอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์การเพาะปลูกยางพาราและโรงงานผลิตน้ำยางข้นของกลุ่ม STA ที่เป็นวัตถุดิบหลักเพื่อสร้างความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตและซัพพลายเชน
          นางสาวธนวรรณ เสงี่ยมศักดิ์ ผู้อำนวยการสายงานบัญชีและการเงิน STGT กล่าวว่า ภาพรวมการดำเนินงานปี 62 บริษัทมีรายได้รวม 12,224.02 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10.3% และมีกำไรสุทธิ 613.91 ล้านบาท เนื่องจากมีปริมาณการขายสินค้าเพิ่มขึ้นจากการขยายตลาดใหม่ๆ เช่น ประเทศอินเดีย แอฟริกาใต้ ประเทศในแถบลาตินอเมริกา และการรับรู้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน
          ขณะที่ผลการดำเนินงานไตรมาส 1/63 มีรายได้รวม 3,873.28 ล้านบาท เติบโต 28.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 421.89 ล้านบาท เติบโต 184.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยมาจากการขยายกำลังการผลิต รวมไปถึงความต้องการใช้ถุงมือยางที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก หลังเกิดโรคระบาดโควิด-19 ส่งผลให้บริษัทต้องเร่งการผลิตสินค้าอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า