ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปภาวะตลาดหุ้น น้ำมัน ทองคำ และตลาดเงินต่างประเทศ ข่าวหุ้น-การเงิน 1 สิงหาคม พ.ศ. 2563  (อ่าน 840 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 82391
    • ดูรายละเอียด

****น้ำมัน WTI ปิดบวกเล็กน้อย นลท.ไม่แน่ใจแนวโน้มอุปสงค์-อุปทาน

ข่าวต่างประเทศ Saturday August 1, 2020 06:56 ?สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดปรับตัวขึ้นเล็กน้อยเมื่อคืนนี้ (31 ก.ค.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงไม่มั่นใจในทิศทางตลาด ขณะที่แนวโน้มอุปสงค์น้ำมันยังไม่แน่นอนท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาจากผลกระทบของโรคโควิด-19 และปริมาณน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น หลังประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ผ่อนคลายมาตรการควบคุมการผลิต

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 35 เซนต์ หรือ 0.9% ปิดที่ 40.27 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนต.ค. เพิ่มขึ้น 27 เซนต์ หรือ 0.6% ปิดที่ 43.52 ดอลลาร์/บาร์เรล

ในเดือนก.ค. สัญญาน้ำมันดิบ WTI เพิ่มขึ้นราว 2.6% ขณะที่สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ เพิ่มขึ้นมากกว่า 5%

ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้น โดยได้แรงหนุนจากการที่บริษัทเบเกอร์ ฮิวจ์ซึ่งให้บริการขุดเจาะน้ำมันเปิดเผยว่า แท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐลดลง 1 แท่น สู่ระดับ 180 แท่นในสัปดาห์นี้

นักวิเคราะห์ระบุว่า ราคาน้ำมันได้แรงหนุนจากดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงด้วย โดยดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปีในสัปดาห์นี้ และร่วงลงมากกว่า 4% ในเดือนก.ค.ซึ่งนับเป็นการร่วงลงรายเดือนรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ย. 2553

ดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงช่วยหนุนราคาน้ำมันดิบ เนื่องจากทำให้ราคาน้ำมันดิบถูกลงสำหรับผู้ถือสกุลเงินอื่นๆ

นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังดีดตัวขึ้นขานรับสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยรายงานรายเดือนในวันศุกร์ว่า การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐร่วงลงในเดือนพ.ค.มากเป็นประวัติการณ์ถึง 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน

อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นไม่มากนัก เนื่องจากนักลงทุนยังคงกังวลกับเกี่ยวกับปริมาณน้ำมันที่จะเพิ่มขึ้นในตลาด เนื่องจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัสจะเริ่มผ่อนคลายการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันโดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.นี้

ทั้งนี้ โอเปกพลัสจะปรับลดกำลังการผลิตเพียง 7.7 ล้านบาร์เรล/วัน โดยเริ่มตั้งแต่เดือนส.ค.จนถึงสิ้นปี 2563 จากปัจจุบันที่ปรับลด 9.7 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งจะทำให้มีปริมาณน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นอีก 2 ล้านบาร์เรล/วันจากโอเปกพลัสไหลเข้าสู่ตลาดน้ำมันโลก

นอกจากนี้ นักลงทุนยังคงวิตกเกี่ยวกับแนวโน้มอุปสงค์น้ำมัน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกยังคงเผชิญความไม่แน่นอนที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

****ภาวะตลาดทองคำนิวยอร์ก: ทองปิดพุ่ง 19.1 ดอลล์ เหตุนลท.แห่ซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย

ข่าวต่างประเทศ Saturday August 1, 2020 07:28 ?สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อคืนนี้ (31 ก.ค.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงเข้าซื้อทองในฐานะที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. พุ่งขึ้น 19.1 ดอลลาร์ หรือ 0.97% ปิดที่ 1,985.9 ดอลลาร์/ออนซ์ โดยในรอบสัปดาห์นี้ สัญญาทองคำ เพิ่มขึ้น 4.7% และปรับตัวขึ้น 10.3% ในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นการปรับขึ้นรายเดือนมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. 2559

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ย. พุ่งขึ้น 85.4 เซนต์ หรือ 3.66% ปิดที่ 24.216 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. เพิ่มขึ้น 6.3 ดอลลาร์ หรือ 0.69% ปิดที่ 918.9 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 10.40 ดอลลาร์ หรือ 0.5% ปิดที่ 2,145.30 ดอลลาร์/ออนซ์

นักวิเคราะห์ระบุว่า ราคาทองได้แรงหนุนจากดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง โดยดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปีในสัปดาห์นี้ และร่วงลงมากกว่า 4% ในเดือนก.ค.ซึ่งนับเป็นการร่วงลงรายเดือนรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ย. 2553 โดยดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงทำให้ราคาทองถูกลงสำหรับผู้ถือสกุลเงินอื่น

ทั้งนี้ ราคาทองพุ่งขึ้นแตะระดับสูงถึง 2,005.40 ดอลลาร์/ออนซ์ในวันศุกร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยดีดตัวทะลุแนว 2,000 ดอลลาร์เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เริ่มมีการซื้อขายสัญญาทองคำในตลาด COMEX

การที่ราคาทองสามารถพุ่งทะลุระดับ 2,000 ดอลลาร์ดังกล่าว นับว่าเร็วกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปลายปีนี้

ราคาทองทะยานขึ้น 30% แล้วนับตั้งแต่ต้นปีนี้ และดีดตัวขึ้นเกือบ 11% ในเดือนนี้ โดยทำสถิติทะยานขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. 2555 หรือในรอบกว่า 8 ปี

ราคาทองได้ปัจจัยหนุนจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ และการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยใกล้ระดับ 0%

นอกจากนี้ นักลงทุนยังพากันเข้าซื้อทองในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยขณะนี้ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 17.5 ล้านราย และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 677,000 ราย ขณะที่สหรัฐติดอันดับ 1 ของโลกทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และผู้เสียชีวิต โดยมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 4.6 ล้านราย และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 155,000 ราย

****ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก: ดาวโจนส์ปิดบวก 114.67 จุด รับอานิสงส์หุ้นเทคโนฯพุ่งจากผลประกอบการแกร่ง
          ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดปรับตัวขึ้นเมื่อคืนนี้ (31 ก.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีชั้นนำ อาทิ แอปเปิล, แอมะซอน.คอม และเฟซบุ๊ก หลังจากบริษัทเหล่านี้เปิดเผยรายได้และผลกำไรสูงเกินคาดในไตรมาส 2/2563 อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับมาตรการรอบใหม่ของรัฐบาลสหรัฐในการเยียวยาผลกระทบของโรคโควิด-19 นั้น ยังคงทำให้นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และทำให้ตลาดปรับตัวขึ้นได้ไม่มากนัก
          ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 26,428.32 จุด เพิ่มขึ้น 114.67 จุด หรือ +0.44%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,271.12 จุด เพิ่มขึ้น 24.90 จุด หรือ +0.77% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 10,745.27 จุด เพิ่มขึ้น 157.46 จุด หรือ +1.49%
          ในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ลดลง 0.15%, ดัชนี S&P500 เพิ่มขึ้น 1.73% และดัชนี Nasdaq เพิ่มขึ้น 3.69%
          ส่วนในรอบเดือนก.ค. ดัชนีดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 2.39%, ดัชนี S&P500 เพิ่มขึ้น 5.52% และดัชนี Nasdaq เพิ่มขึ้น 6.83%
          ตลาดหุ้นสหรัฐได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของหุ้นชั้นนำในกลุ่มเทคโนโลยี โดยหุ้นแอปเปิล ทะยานขึ้น 10.47%, หุ้นแอมะซอน.คอม พุ่ง 3.70% และหุ้นเฟซบุ๊ก พุ่งขึ้น 8.17% หลังบริษัทเหล่านี้เปิดเผยผลกำไรไตรมาส 2/2563 ที่สูงเกินคาด
          อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงกังวลเกี่ยวกับมาตรการรอบใหม่ในการเยียวยาผลกระทบของโรคโควิด-19 หลังนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐเปิดเผยว่า ทำเนียบขาวและพรรคเดโมแครตยังคงเจรจากันเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือดังกล่าว แต่ยังไม่สามารถตกลงกันได้
          บรรดานักลงทุนยังคงรอผลการเจรจาระหว่างสภาคองเกรสและทำเนียบขาวเกี่ยวกับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ ซึ่งรวมถึงการขยายโครงการช่วยเหลือคนว่างงานซึ่งจะหมดอายุในสิ้นเดือนก.ค.นี้ โดยมีความเห็นที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับวงเงินที่จะให้ความช่วยเหลือคนว่างงาน ซึ่งพรรคเดโมแครตต้องการให้รักษาวงเงินดังกล่าวไว้ที่ระดับ 600 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์ แต่พรรครีพับลิกันต้องการให้ปรับลดลงมาอยู่ที่ 200 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์
          ส่วนการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐเมื่อคืนนี้ ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐร่วงลงสู่ระดับ 72.5 ในเดือนก.ค. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 72.7 โดยร่วงลงจากระดับ 78.1 ในเดือนมิ.ย.
          ด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายส่วนบุคคลของผู้บริโภคสหรัฐเพิ่มขึ้น 5.6% ในเดือนมิ.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ระดับ 5.5% หลังจากพุ่งขึ้น 8.5% ในเดือนพ.ค. โดยการใช้จ่ายของผู้บริโภคได้แรงหนุนจากการที่รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ขณะที่รายได้ส่วนบุคคล ลดลง 1.1% ในเดือนมิ.ย. หลังจากดิ่งลง 4.2% ในเดือนพ.ค. และลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าอาจลดลง 0.5%
          นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนมิ.ย. หลังจากปรับตัวขึ้น 0.2% เช่นกันในเดือนพ.ค. และเมื่อเทียบรายปี ดัชนี PCE พื้นฐานเพิ่มขึ้น 0.9% หลังจากดีดตัวขึ้น 1.0% ในเดือนพ.ค.