ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน
เร่งแก้ไขปัญหาสถานการณ์ขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์สำหรับส่งออกสินค้า และเร่งพิจารณากำหนดแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบโดยเร็ว หลังจากภาคเอกชนได้หารือในการประชุม ศบศ. หรือศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ โดยนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญต่อเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง จนนำมาซึ่งการปรับปรุงระเบียบของกรมเจ้าท่า อำนวยความสะดวกให้เรือใหญ่ที่บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์เข้าเทียบท่าเรือที่แหลมฉบังได้สะดวกขึ้น ลดปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นอย่างชัดเจน
กรมเจ้าท่า ได้ออกประกาศกรมเจ้าท่า ที่ 25/2564 เรื่อง กำหนดให้เรือที่มีความยาวมากกว่า 300 เมตร แต่ไม่เกิน 400 เมตรเข้าเทียบท่า สาระสำคัญคือ การกำหนดแนวปฏิบัติให้เรือที่มีความยาวมากกว่า 300 เมตร แต่ไม่เกิน 400 เมตร เข้ามายังประเทศไทยครั้งแรก ณ ท่าเรือแหลมฉบัง จะต้องขออนุญาตจากกรมเจ้าท่า และเมื่อผ่านการพิจารณาแล้วไม่ต้องขออนุญาตอีกภายในระยะเวลา 2 ปี โดยการออกประกาศดังกล่าว คาดว่าจะช่วยให้สามารถนำเรือใหญ่ที่บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์เข้ามาเทียบท่าเรือได้เพิ่มขึ้นประมาณ ร้อยละ 20-30 ในเส้นทางหลัก และจะส่งเสริมให้มีการนำตู้เปล่าเข้ามายังประเทศไทยเพิ่มขึ้นเดือนละประมาณ 12,000 ตู้ ช่วยบรรเทาการขาดแคลนตู้สินค้าได้ นอกจากนี้ยังช่วยให้ค่าระวางเรือในการขนส่งจากประเทศไทยลดลงด้วย
สำหรับแนวทางหรือมาตรการในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ทั้งในส่วนของท่าเรือกรุงเทพ และท่าเรือแหลมฉบังนั้น ประกอบด้วย 2 แนวทาง ได้แก่ 1.ให้ท่าเรือกรุงเทพปรับลดค่าภาระตู้สินค้าเปล่าขาเข้า ผ่านท่าเรือกรุงเทพ ในอัตรา 1,000 บาทต่อทีอียู เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ ม.ค.-มี.ค. 2564 รวมค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ เป็นจำนวนเงินประมาณ 5,280,000 บาท และ 2.ให้ท่าเรือแหลมฉบังชดเชยค่ายกขนตู้สินค้าให้แก่เอกชนผู้ประกอบการนำเข้าที่ท่าเรือแหลมฉบัง โดยจ่ายส่วนลดคืนในอัตรา 1,000 บาทต่อทีอียู เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ ม.ค.-มี.ค. 2564 รวมค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ เป็นจำนวนเงินประมาณ 384,000,000 บาท
มาตรการที่ออกมาดังกล่าวนั้น เป็นการลดอัตราค่าภาระและค่าใช้จ่าย เพื่อจูงใจให้สายเรือนำตู้คอนเทนเนอร์เปล่าเข้ามาให้บริการ เพื่อแก้ไขปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน อย่างไรก็ตาม จากการคาดการณ์ว่า สถานการณ์ขาดแคลนตู้สินค้าจะคลี่คลายในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2564 เนื่องจากการส่งออกของผู้ส่งออกรายใหญ่เริ่มอิ่มตัว และสถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่คลี่คลายลง จะทำให้ตู้สินค้าที่ตกค้างจากประเทศปลายทาง (ยุโรปและสหรัฐอเมริกา) เริ่มหมุนเวียนกลับสู่ระบบมากขึ้น