ผู้เขียน หัวข้อ: วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง วันพุธที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557  (อ่าน 1127 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 82584
    • ดูรายละเอียด

วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง

วันพุธที่  5  พฤศจิกายน  พ.ศ. 2557


ปัจจัย


วิเคราะห์


1. สภาพภูมิอากาศ


- อิทธิพลลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือยังคงทำให้ภาคใต้มีฝนเกือบทั่วไป ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่ ส่งผลกระทบต่อการกรีดยาง


2. การใช้ยาง


- สมาคมผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ยอดจำหน่ายรถยนต์ญี่ปุ่นเดือนตุลาคมลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 เนื่องจากอุปสงค์ของผู้บริโภคยังคงอ่อนแอ หลังจากปรับขึ้นภาษีเมื่อเดือนเมษายน โดยยอดจำหน่ายรถยนต์เดือนตุลาคมมีจำนวน 396,508 คัน ลดลงร้อยละ 6.0 เมื่อเทียบเป็นรายปี


- ออโต้ ดาต้า คอร์ป ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยด้านยานยนต์สหรัฐฯ เปิดเผยว่า ยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ตลาดสหรัฐฯ เดือนตุลาคม รวมถึงรถยนต์นั่งและรถบรรทุกน้ำหนักเบา อยู่ที่ 1,281,313 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยเป็นการปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 ขณะที่ยอดจำหน่ายโดยรวมอยู่ที่ 16.46 ล้านคัน


3. สต๊อคยาง


- สต๊อคยางจีน ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2557 เพิ่มขึ้น 2,285 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.33 อยู่ที่ 173,792 ตัน จากระดับ 171,507 ตัน เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2557


4. เศรษฐกิจโลก


- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยว่า ยอดขาดดุลการค้าเดือนกันยายนปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 7.6 อยู่ที่ 4.303 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐ มากกว่าที่คาดว่าจะอยู่ที่ 4 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐ หลังจากยอดส่งออกลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือน เนื่องจากการชะลอตัวของอุปสงค์ทั่วโลกได้ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ


- ข้อมูลกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ระบุว่า รัฐบาลมียอดขาดดุลงบประมาณลดลงอยู่ที่ร้อยละ 2.8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ช่วงเวลา 12 เดือน สิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2557


- คณะกรรมาธิการยุโรปปรับลดคาดการณ์การขยายตัวผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของยูโรโซนปี 2557 เหลือร้อยละ 0.8 และร้อยละ 1.1 ในปี 2558 จากคาดการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคมว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.2 และ 1.7 ตามลำดับ พร้อมระบุว่าเงินเฟ้อของกลุ่มสหภาพยุโรปจะอ่อนตัวลงกว่าที่ธนาคารกลางยุโรปได้คาดการณ์ไว้


- สำนักงานสถิติแห่งชาติอิตาลีเปิดเผยว่า เศรษฐกิจอิตาลีจะหดตัวลงในปีนี้ และค่อย ๆ ฟื้นตัวในปี 2558 โดยระบุในรายงานว่าปี 2557 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.3 และ GDP ที่แท้จริงจะขยายตัวร้อยละ 0.5 ในปี 2558 และร้อยละ 1.0 ในปี 2559 ทั้งนี้เศรษฐกิจอิตาลีหดตัวลงเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน


- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนกันยายนปรับตัวลดลงร้อยละ 0.6 ซึ่งเป็นการปรับตัวลงติดต่อกัน 2 เดือน สะท้อนให้เห็นว่าภาคการผลิตของสหรัฐฯ เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว


5. อัตราแลกเปลี่ยน


- เงินบาทอยู่ที่ 32.66 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 0.02 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ


- เงินเยนอยู่ที่ 113.53 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 0.07 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ


6. ราคาน้ำมัน


- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymex ส่งมอบเดือนธันวาคม ปิดตลาดที่ 77.19 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 1.59 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากตลาดยังได้รับแรงกดดันจากข่าวซาอุดิอาระเบียปรับลดราคาน้ำมันที่ส่งออกให้สหรัฐฯ นอกจากนี้ยังได้รับแรงกดดันจากรายงานที่ระบุว่ายอดสั่งซื้อภาคโรงงานสหรัฐฯ เดือนกันยายนปรับตัวลดลง


- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ตลาดลอนดอน ส่งมอบเดือนธันวาคม ปิดที่ 82.82 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 1.96 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล


- การปิโตรเลียมซาอุดิอาระเบียได้ปรับลดราคาน้ำมันดิบที่ส่งออกให้กับสหรัฐฯ โดยเทรดเดอร์ระบุว่า ความเคลื่อนไหวของซาอุดิอาระเบียในครั้งนี้มีเป้าหมายที่จะชิงส่วนแบ่งในตลาดน้ำมันโลกที่มีการแข่งขันสูง และผลสำรวจบ่งชี้ว่าปริมาณการผลิตน้ำมันของกลุ่มผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) ปรับตัวสูงขึ้น 53,000 บาร์เรล สู่ระดับ 30.974 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 14 เดือน


7. การเก็งกำไร


- ราคาตลาด TOCOM ส่งมอบเดือนธันวาคม 2557 อยู่ที่ 187.9 เยนต่อกิโลกรัม ลดลง 3.9 เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนเมษายน 2558 อยู่ที่ 195.7 เยนต่อกิโลกรัม ลดลง 4.1 เยนต่อกิโลกรัม


- ราคาตลาด SICOM เปิดตลาดที่ 165.4 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม ลดลง 2.6 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม


8. ข่าว


- รัฐบาลจีนกำลังร่างแผนการผ่อนคลายแรงกดดันเกี่ยวกับหนี้เสียที่มีต่อสถาบันการเงินต่าง ๆ โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ คาดว่าจะเปิดเผยในอีกไม่ช้านี้ โดยแผนการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs)


9. ข้อคิดเห็นของผู้ประกอบการ


- ราคามีทิศทางปรับตัวลดลงตามตลาดต่างประเทศ ขณะที่ผู้ประกอบการกล่าวว่า ราคาซื้อขายตลาดในประเทศยังคงบิดเบือนราคาตลาดโลก เพราะเกินราคาอยู่มากเมื่อเทียบกับราคาตลาดล่วงหน้าสิงคโปร์ จากนโยบายการแก้ไขปัญหาราคายางของภาครัฐ จึงต้องรอดูว่าทิศทางจะปรับตัวสูงขึ้นต่อไปได้หรือไม่ และต้องรอดูว่าองค์การสวนยางจะเข้ามาซื้อยางในรูปแบบใด


แนวโน้ม ราคายางมีแนวโน้มปรับตัวลดลงตามตลาดล่วงหน้าโตเกียวและราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับอุปสงค์ยางทั่วโลกอาจชะลอตัว หลังจากมีการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐฯ และคณะกรรมาธิการยุโรปได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจยูโรโซน รวมถึงเศรษฐกิจจีนยังคงซบเซา ขณะที่ผู้ประกอบการในประเทศยังรอดูเรื่องการจัดตั้งกองทุนมูลภัณฑ์กันชน (Buffer Fund) เพื่อรับซื้อยางขององค์การสวนยาง








ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา