ข้อความโดย: Rakayang.Com
« เมื่อ: ตุลาคม 20, 2014, 12:35:18 PM »วันที่ 20 ตุลาคม 2557 11:32
ชี้ช่วยเหลือข้าว-ยางไร่ละพัน
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ชี้ช่วยเหลือข้าว-ยางไร่ละพัน กระตุ้นเศรษฐกิจ รายย่อยได้ประโยชน์
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงนโยบายจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาทไม่เกิน 15 ไร่ว่าจากการศึกษาข้อมูลพบว่าชาวนารายเล็กที่มีที่ดินต่ำกว่า 5 ไร่ในประเทศไทย มีกว่า 4.9 แสนครัวเรือน ซึ่งกลุ่มนี้เป็นชาวนาที่รัฐบาลต้องการให้ความช่วยเหลือและที่ผ่านมาเป็นชาวนาที่ไม่ได้ประโยชน์จากโครงการรับจำนำข้าวเลย และแนวคิดนี้แตกต่างจากการไปช่วยชาวนารายใหญ่หรือชาวนาที่เช่านาที่มีการเช่าทีละ 25 - 50 ไร่ ซึ่งการช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาทหมายความว่าชาวนาที่มีที่นาเพียง 5 ไร่จะได้เงินเพิ่มคนละ 5,000 บาท ซึ่งถือว่าช่วยเหลือเกษตรกรที่ยากจนได้ในระดับหนึ่งเพราะชาวนากลุ่มนี้มีรายได้จากการทำนาเฉลี่ยเพียงปีละ 20,000 บาทเท่านั้น
?วิธีการช่วยเหลือชาวนาแบบนี้ เป็นการทำให้ชาวนาเห็นว่าการช่วยเหลือแบบนี้ คือ นโยบายที่ไม่เกาะหลังชาวนากิน ไม่มีการคอร์รัปชัน สามารถทำได้ และการช่วยแบบนี้เป็นการช่วยที่เผื่อแผ่ถึงทุกครัวเรือนไม่ใช่แบบจำนำข้าวที่มีชาวนาได้ประโยชน์เพียง 1.1 ล้านครัวเรือน คือ ชาวนาที่มีที่ดินมากกว่า 15 ไร่ขึ้นไป ที่ผมทำด้วยเจตนานี้และเป็นมาตรการที่ออกมาในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังชะลอตัวก็ถือว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง?
สำหรับการจ่ายเงินชาวนาไร่ละ 1,000 บาทจะเริ่มในวันที่ 20 ต.ค.นี้ โดยเงินจะเข้าบัญชีของชาวนาตามที่ได้มีการขึ้นทะเบียนไว้จำนวน 2.9 ล้านครัวเรือนโดยจะทยอยจ่ายเงิน ส่วนที่เหลือประมาณ 5 แสนรายจะมีการตรวจสอบทะเบียนให้แน่ชัดภายใน 20 วัน ก่อนมีการจ่ายเงิน
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่าขั้นตอนของการขึ้นทะเบียนก็เชื่อถือได้ในระดับหนึ่งเพราะมีการทำติดต่อกันมา 4 ปีแล้ว โดยในขั้นตอนนี้จะมีเจ้าหน้าที่ของรัฐและมีการทำประชาคมในชุมชนเพื่อตรวจสอบ โดยวิธีการขึ้นทะเบียนพบว่ามีความซ้ำซ้อนในการจดทะเบียนลดลง โดยปัจจุบันพื้นที่ทำนาที่มีการขึ้นทะเบียนเหลือ 63 ล้านไร่ จากเดิม 77 ล้านไร่
ส่วนการให้ความช่วยเหลือชาวสวนยางในอัตรา 1,000 บาทต่อไร่และจำกัดการช่วยเหลือรายละไม่เกิน 15,000 บาท เป็นมาตรการที่ต้องการช่วยเหลือชาวสวนยางรายย่อยที่ได้รับความเดือดร้อนโดยให้เงินช่วยเหลือในระยะสั้น ขณะที่แนวโน้มราคายางมีโอกาสที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้มีการออกมาซื้อยางตามจำนวนออเดอร์ที่มีอยู่ และเป็นการทยอยซื้อยางพาราและมีการขายออกไปไม่ใช่ซื้อมาแล้วเก็บค้างไว้ในสต็อก
ทั้งนี้ ผู้ที่มาซื้อยางจะให้มีการเปิดการเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต (Letter of Credit : L/C) ให้ชัดเจนเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ที่จะซื้อยางมีความน่าเชื่อถือ นอกจากนั้นยังมีวงเงินสินเชื่อที่ให้กับกลุ่มสหกรณ์ไปซื้อยางแผ่น รวมทั้งให้วงเงินกู้แก่อุตสาหกรรมน้ำยางข้นเพื่อช่วยซื้อน้ำยางดิบ ซึ่งการเพิ่มปริมาณการซื้อยางพร้อมกันในหลายๆส่วนทำให้ราคายางพาราที่ 60 บาทต่อกิโลกรัมมีความเป็นไปได้ และนโยบายเรื่องยางพาราที่ออกมาเป็นมติคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ(กนย.) เป็นแนวคิดที่ได้มีการหารือกับตัวแทนกลุ่มเกษตรกรแล้ว และจะสามารถเริ่มจ่ายเงินให้กับชาวสวนยางได้ในเดือน พ.ย.นี้
สำหรับในพื้นที่ปลูกยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ได้ให้รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หารือกับรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยแนวทางคืออาจจะอนุโลมให้เกษตรกรที่ปลูกยางพาราในพื้นที่ป่าโซนอี ซึ่งไม่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์และไม่มีเอกสารสิทธิ์ แต่กรมป่าไม้อนุโลมให้ปลูกยางได้ก็จะได้รับเงินช่วยเหลือในส่วนนี้ด้วย
หลักการคือหากพิสูจน์ได้ว่าเป็นเกษตรกรผู้ปลูกยางจริงรัฐบาลก็จะจ่ายเงินช่วยเหลือให้
?ปัจจุบันต้นทุนยางพาราอยู่ที่ประมาณ 49 บาท/กก. แต่ที่คิดราคาเป้าหมายที่ 60 บาท/กก.เนื่องจากเป็นราคาที่บวกกำไรให้กับเกษตรไปแล้วประมาณ 20% ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่ทำให้เขาอยู่ได้ และแนวโน้มราคายางพาราสามารถเพิ่มขึ้นได้ถ้ามีการบริหารจัดการที่ดีซึ่งรัฐบาลได้เตรียมแนวทางต่างๆพร้อมไว้แล้ว?ม.ร.ว.ปรีดิยารกล่าว