My Community
ข่าวที่มีผลต่อราคายาง => ข่าวยางโดยตรง => ข้อความที่เริ่มโดย: Rakayang.Com ที่ พฤศจิกายน 20, 2014, 01:36:44 PM
-
ชาวสวนแห่ 'รับทุน' โค่นยางหนีราคาร่วง
สกย.หวั่นงบไม่พอ เตรียมขอรัฐสนับสนุนแทน
ราคายางร่วงพ่นพิษ ชาวสวนแห่ขอรับทุน โค่นยางเก่าเกินเป้า พบช่วงเดือนต.ค.-พ.ย. ยื่นขอทุนแล้วกว่า 9 หมื่นไร่
นายประสิทธิ์ หมีดเส็น รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ในฐานะรักษาการผู้อำนวยการ กล่าวว่าตั้งแต่เดือน ต.ค. - พ.ย.2557 ได้มีเกษตรกรยื่นคำขอรับทุนสงเคราะห์ปลูกทดแทนยางเก่าเข้ามาแล้วกว่า 9 หมื่นไร่ ซึ่งเกินเป้าหมายที่กำหนดไว้ 3 หมื่นไร่ต่อเดือน ทั้งนี้เป็นผลมาจากราคายางที่ตกต่ำต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรหันมายื่นขอรับทุนมากขึ้น โดยเกษตรกรที่ยื่นขอทุนมามากกว่า 9 หมื่นไร่นั้น สกย.ไม่สามารถจะโค่นยางได้ทันในช่วงปีนี้ เพราะเหลือเวลาไม่ถึง 2 เดือน
จากเป้าหมายการโค่นยางที่กำหนดไว้ ปีละ 4 แสนไร่ คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้เพียง 90% เนื่องจากเกษตรกรยื่นขอรับทุนในช่วงกลางปีน้อยมาก ส่วนหนึ่งเพราะเป็นช่วงปิดกรีด เกษตรกรจึงต้องการพักผ่อน แต่กลับมาเร่งช่วงปลายปี ดังนั้นเกษตรกรที่ไม่สามารถโค่นได้ทัน ปีนี้ ทางส.ก.ย.จะเลื่อนไปเป็นปี 2558
"ปีนี้เกษตรกรให้ความสนใจขอรับทุนเพิ่มขึ้น เพราะราคายางไม่ดี ปีที่ผ่านมากำหนดให้โค่น 3 แสนไร่ แต่ทำได้ไม่ตามเป้า ยางที่โค่นส่วนใหญ่อยู่ในเขตภาคใต้ มีอายุนานกว่าเมื่อเทียบกับอีสานที่เพิ่งปลูกในช่วงโครงการอีสานเขียว ประมาณปี 2533-2534 ปัจจุบันก็มีการขอรับทุนเพื่อโค่นยางเก่าบ้างแล้ว แต่มีไม่มาก อย่างที่จังหวัดศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ "นายประสิทธิ์ กล่าว
ทั้งนี้ผู้ขอรับทุนการโค่นยาง กรณีที่ต้องการปลูกยางต่อจะได้รับทุนไร่ละ1.6 หมื่นบาท กรณีเปลี่ยนไปปลูกปาล์มน้ำมัน จะได้รับทุนไร่ละ 2.6 หมื่นบาท ที่ผ่านมาเกษตรกรส่วนใหญ่ต้องการปลูก ยางทดแทน เนื่องจากเป็นพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกปาล์ม การขอรับทุนเพื่อโค่นจำนวนมาก ประกอบกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องการขยายเป้าหมาย โดยหวังว่าจะเป็นผลให้ราคายางปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต
นายประสิทธิ์ กล่าวว่า ในส่วนของการบริหาร งานสกย.ก็จะมีปัญหา เนื่องจากทุนที่จ่ายให้เกษตรกร เป็นรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษการส่งออกยางหรือเซส ที่เก็บได้ปีละประมาณ 6,000 ล้านบาท แต่มีการนำมาใช้เพื่อสนับสนุนการโค่นยางถึงปีละกว่า 7,000 บาท โดยปีนี้คาดว่า จะใช้ไปทั้งสิ้น 4,448.8 ล้านบาท ส่วนปี 2558 จะเพิ่ม เป็น 5,000 ล้านบาท ดังนั้นเงินที่มีอยู่ในกองทุนฯจะ ลดลงต่อเนื่อง จากปัจจุบันเหลือเป็นเงินที่ไม่ผูกพัน อยู่ประมาณ 8,000-9,000 ล้านบาท ในอนาคต สกย.จะต้องขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลแน่นอน
นายทวีศักดิ์ คงแย้ม ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนแนวทางแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบของ วอร์รูม สกย. กล่าวว่า ที่ผ่านมา สกย.มีนโยบาย ส่งเสริมการโค่นยางเก่าหรือต้นยางที่ให้ผลผลิตต่ำทุกปี แต่สำหรับปีนี้ได้เพิ่มเป้าหมายการส่งเสริม การปลูกแทนเป็น 4 แสนไร่ ภายในเวลา 7 ปี (2558-2560) ดังนั้นแต่ละปีสามารถลดปริมาณผลผลิตยางในตลาดได้ปีละ101,600 ตัน ที่สำคัญจำนวนพื้นที่โค่นยางเก่า จะให้การส่งเสริมปลูกแทนด้วยยางพาราพันธุ์ดี ปีละ 3 แสนไร่
เกษตรกรชาวสวนยางที่เข้าร่วมในโครงการ สกย.จะให้ความรู้การปลูกทดแทนแบบเกษตรผสมผสาน ด้วยการทำกิจกรรมทางการเกษตรควบคู่กับการปลูกยาง เช่น พืชผักสวนครัว หรือ พืชอื่นหรือการเลี้ยงสัตว์ เพื่อเป็นทางเลือกในการทำการเกษตรควบคู่กับการให้ความรู้การปลูกยางพารา เพื่อให้เกษตรกรสามารถมีรายได้เลี้ยงครอบครัว ส่วนอีก 1 แสนไร่ จะเป็นการให้ทุนสงเคราะห์แก่เกษตรกร ที่จะปลูกพืชอื่น ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและเหมาะสมกับพื้นที่ โดยคำนึงถึงตลาดในพื้นที่นั้นๆ
ทั้งนี้ หลังจากเปิดปีงบประมาณปี 2558 มีเจ้าของสวนยาง 6,866 ราย จากทั่วประเทศ ยื่นคำขอรับทุนสงเคราะห์ปลูกแทน คิดเป็นพื้นที่โค่นยางเก่า ประมาณ 79,164 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ที่มีการยื่นรับคำขอมากที่สุด คาดว่า ก่อนจะถึงฤดูกาลปลูกยางพารารอบใหม่ น่าจะมีเกษตรกรยื่นรับ คำขอปลูกแทนใหม่ เกินกว่าเป้าหมายแน่นอน
Souce: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ