ผู้เขียน หัวข้อ: ไทยจับมือ6ปท.ผู้ผลิต ลดพื้นที่-ขายยางราคาเดียว  (อ่าน 1097 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 88287
    • ดูรายละเอียด
ไทยจับมือ6ปท.ผู้ผลิต ลดพื้นที่-ขายยางราคาเดียว


         เกษตรฯเสนอแพคเกจแก้ผลกระทบราคายางพาราร่วงหนัก ตั้ง "กองทุนมูลภัณฑ์กันชน" วงเงิน 6 พันล้านรับซื้อยางแผ่นดิบ-ยางแท่ง พร้อมอุดหนุนสินเชื่อ-ทุนหมุนเวียน ด้านออมสิน-ธ.ก.ส.พร้อมอุดหนุนสภาพคล่อง ขณะ"ปีติพงศ์"เผยลงนาม 6 ประเทศ ขายยางพาราราคาเดียว-ลดพื้นที่เพาะปลูก หวังลดการผลิต


          คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) จะออกมาตรการแก้ปัญหาราคายางตกต่ำและช่วยเหลือเกษตรกรสวนยาง โดยการตั้งกองทุนซื้อยางพารา และอุดหนุนเงินทุนในอัตราดอกเบี้ยต่ำแก่เกษตรกร นอกจากการช่วยเหลือทางการเงินไร่ละ 1,000 บาท
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลเตรียมจะใช้มาตรการแก้ปัญหายางพาราทั้งระบบ ได้แก่ การสนับสนุนเงินทุนเพื่อปรับเปลี่ยนการปลูกยาง การจัดสรรการปลูกพืชชนิดอื่นให้เหมาะสมหรือโซนนิ่ง ซึ่งอยู่ในขั้นตอนศึกษาวิเคราะห์ว่าควรใช้นโยบายใดเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับ เกษตรกรรายย่อย
?สำหรับมาตรการช่วยเหลือผู้ปลูกยางพารา จะมีการแถลงที่ 16 ต.ค. โดยมีจำนวน 4 มาตรการและไม่ได้นับเป็นวงเงิน แต่จะนับเป็นแอ็คชั่น ซึ่งไม่เหมือนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะการแก้ปัญหาราคายาง มันไม่ใช่กระตุ้นเศรษฐกิจ มันไม่เหมือนกัน ถ้ารับปากว่าแถลงก็แถลง แต่รัฐบาลนี้มีวินัย ถ้ายังไม่ผ่านกรรมการนโยบายจะไม่แถลง บางมาตรการนำเข้าครม.ในสิ่งที่จำเป็น บางมาตรการกนย.อนุมัติ ได้เลย และขอท่านนายกฯไว้แล้วว่า ถ้าคณะกรรมการยางอนุมัติก็ให้แถลงเลย คืออธิบายให้ท่านนายกฯเข้าใจหมดแล้ว?ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว
ตั้งกองทุนซื้อยางพารา-สินเชื่ออุดหนุน


          นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่าวันนี้ (16 ต.ค.) จะเข้านำเสนอแพ็คเกจการช่วยเหลือชาวสวนยางในช่วงเวลาที่ยางทั่วโลกเป็นขาลง ต่อกนย. ซึ่งในแพ็คเกจ มีทั้งการให้เงินอุดหนุนแบบให้เปล่าการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ชาวสวนยาง และการจัดตั้งกองทุน 6,000 ล้านบาท เพื่อให้องค์การสวนยาง นำไปบริหารจัดการยางในสต็อกเก่า 2.08 แสนตัน และเพื่อรับซื้อยางใหม่นำไปแปรรูปและขายให้เกิดยางหมุนเวียนในตลาด ภายใต้การบริหารจัดการของกองทุนมูลภัณฑ์กันชน (Bubble Fund) ซึ่งทั้งหมดขึ้นอยู่กับ กนย. ว่าจะพิจารณาอย่างไร


         สำหรับมาตรการอุ้มชาวสวนยางประกอบด้วย 1.เรื่องของการสนับสนุนสินเชื่อการปรับเปลี่ยนชาวสวนยางให้หันไปทำการเกษตร ผสมผสาน 2.การให้สินเชื่อเพื่อขยายตัวของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยาง3.การบริหารจัดการสต็อกยาง หาวิธีทำให้สต็อกยางนั้นมีการขายและนำเข้าอย่างหมุนเวียน รวมทั้งการนำยางที่มีคุณภาพเปื่อยมาใช้ประโยชน์เพื่อบริการสาธารณะ และ 4.การชดเชยรายได้ให้กับเกษตรกร


          ?ยอมรับมาตรการที่จะเสนอ กนย.อาจไม่พอเพียง เพราะยางมีตลาดที่ใหญ่มาก มากกว่า มากกว่าที่รัฐบาลจะเข้าอุดหนุน แต่ในเวลานี้ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย? นายปีติพงศ์ กล่าว

ลงนาม6ประเทศผู้ผลิตฮั้วราคาขายยาง

นายปีติพงศ์ กล่าวว่า ขณะนี้ไทยอยู่ระหว่างรอ อินโดนีเซียมีรัฐมนตรีจะร่วมเซ็นสัญญาในข้อตกลงระหว่างผู้ผลิตยาง 6 ประเทศของโลกประกอบด้วย 6 ประเทศ คือ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม และกัมพูชา เนื่องจากประเทศอินโดนีเซียอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเพิ่งเลือกตั้ง

หลังจากไทยได้หารือในระดับเจ้าหน้าที่ของ 6 ประเทศผู้ผลิตยางของโลกไปแล้ว ว่า 6 ประเทศผู้ผลิตยางจะร่วมมือกันใน 2 เรื่องคือ 1.กำหนดราคาขายยางให้เป็นราคาเดียวกัน และ 2. ลดพื้นที่การผลิต โดยตกลงร่วมกันโค่น ยางทิ้งตามสัดส่วนพื้นที่ปลูกและผลผลิตเชื่อว่าหากทำได้ น่าจะสามารถชี้นำราคาและไม่ให้ราคายางของชาวสวนในตลาดโลกตกลงมากกว่าที่ควร จะเป็นกองทุนซื้อยางแผ่นดิบรมควัน-ยางแท่ง


แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าการจัดตั้ง กองทุนมูลภัณฑ์กันชนหรือ Bubble Fund วงเงิน 6 พันล้านบาท อายุโครงการ 18 เดือน มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ อ.ส.ย.นำเงินจำนวนนี้เข้ามาพยุงราคายางพาราในช่วงขาลง ซื้อขายยางพาราในระดับราคาที่กำหนดเพื่อนำไปแปรรูปและขายทันที


ยางพาราที่กองทุนฯนี้จะซื้อได้จะเป็นยางแผ่นดิบรมควัน และยางแท่ง โดยจะมีการตั้งกรรมการขึ้นมาเพื่อพิจารณาราคาซื้อ หรือ ขาย หากกองทุนต้องขาดทุน ก็ต้องมีการของบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ


ทั้งนี้เงินที่จะใช้เป็นทุนประเดิม ในการจัดตั้งกองทุนจะขึ้นกับ กนย. ว่าจะมีแนวทางอย่างไร จาก 2 ทางเลือกที่มีการหารือกัน คือ 1.เงินสนับสนุนโครงการรัฐบาล หากกนย.ใช้ ทางเลือกนี้จะสามารถดำเนินการได้ทันที หลังจาก คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการ ส่วนแนวทางที่ 2 . อ.ส.ย.กู้เงินเพื่อดำเนินการแนวทางนี้จะช้า เพราะต้องให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้


ธ.ก.ส.-ออมสินพร้อมช่วยเกษตรกรสวนยาง

นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดถึงแนวคิดของนายอำนวย ปะติเส ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จะช่วยงานไร่ละ 1,000 บาท ในลักษณะเดียวกับการช่วยชาวนาว่า ต้องรอผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ว่า สรุปแล้วจะให้ช่วยอย่างไร ซึ่งในส่วนของกระทรวงการคลัง และ ธ.ก.ส. ยินดีให้ความช่วยเหลือ และมีเงินพร้อม
ด้านนายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า กำลังให้ฝ่ายปฏิบัติการไปดูสภาพคล่องของ ธ.ก.ส. ว่ายังมีเหลือที่จะสามารถนำมาช่วยยางตามนโยบายของรัฐบาลเท่าไหร่


"ธ.ก.ส. เป็นสถาบันการเงิน ที่ต้องช่วยเหลือด้านการเงินให้กับเกษตรกรตามนโยบายรัฐอยู่แล้ว หากนโยบายของรัฐที่มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และรัฐบาลจะจัดสรรเงินชดเชยทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร" นายลักษณ์ กล่าว

เบื้องต้นที่ดูทราบว่าจะมีมาตรการลดพื้นที่ปลูกยาง ด้วยการสนับสนุนให้ชาวสวนยางโค่นยางจากไร่ละ 70 ต้นเหลือ 30 ต้น และให้เกษตรกรมากู้เงินจากธ.ก.ส.ไปลงทุนทำอาชีพอื่น ซึ่งคาดว่าจะใช้วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท โดย ธ.ก.ส.จะรอผลการประชุมจาก กนย. ว่า จะให้ดำเนินการอย่างไร รวมถึงจะมีมาตรการอื่นๆ ออกมาให้ธ.ก.ส.ดำเนินการอะไรบ้าง

ส่วนกรณีเงินกู้ 1.5 หมื่นล้านบาท ที่ ธ.ก.ส. ปล่อยกู้สหกรณ์ไปซื้อยางนั้น ขณะนี้ได้มีการอนุมัติสินเชื่อไปแล้ว 5 พันล้านบาท แต่มีสหกรณ์เบิกไปใช้เพียง 400-500 ล้านบาท ซึ่งการเบิกเงินไปใช้นั้นขึ้นอยู่กับทางสหกรณ์ เพราะสหกรณ์ต้องรับความราคายางที่จะไปรับซื้อเอง


ด้านแหล่งข่าวจากธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะให้ธนาคารออมสินเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการยางพาราเพิ่มเติมหรือไม่ จากเดิมทางรัฐบาลให้ออมสินปล่อยกู้ผู้ประกอบการแปรรูปยางพาราปลายน้ำ 1.5 หมื่นล้านบาท


ส่วนเกษตรรายย่อยนั้น ธ.ก.ส. จะเป็นผู้ดูแลปล่อยกู้ ส่วนที่ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรองนายกรัฐมนตรี อยู่ระหว่างพิจารณาช่วยเหลือเพิ่มเติม คือ ผู้ประกอบการกลางน้ำ เช่น ผู้ประกอบการที่นำยางมารมควัน ซึ่งยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือ วงเงินในการปล่อยกู้เบื้องต้นอยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท


"ออมสินพร้อมให้ความช่วยเหลือตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งสภาพคล่องของออมสิน มีเพียงพอ แต่ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปว่า ในส่วนนี้ทางรัฐบาลจะให้ออมสิน หรือทางสถาบันการเงินอื่นๆ เข้าไปช่วยเหลือ สำหรับโครงการปล่อยกู้ผู้ประกอบการแปรรูปยางพารา 1.5 หมื่นล้านบาท ล่าสุดมีลูกค้ามาลงทะเบียนปล่อยกู้แล้ว 7 ราย และมีมายื่นความจำนง แต่ยังไม่ได้ลงทะเบียนอีก 2 ราย เป็นวงเงินรวม 9 พันล้านบาท แต่ยังไม่ได้อนุมัติ"



กรุงเทพธุรกิจออนไลน์