ผู้เขียน หัวข้อ: วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง วันพฤหัสบดีที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2558  (อ่าน 1044 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 83024
    • ดูรายละเอียด

วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง

วันพฤหัสบดีที่  8  มกราคม  พ.ศ. 2558


ปัจจัย


วิเคราะห์


1. สภาพภูมิอากาศ


-  บริเวณความกดอากาศสูงกำลังแรงจากจีนได้แผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนทำให้บริเวณดังกล่าวอากาศแปรปรวนอาจมีพายุฝนฟ้าคะนอง และมีลูกเห็บตกในบางแห่ง ส่วนมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนกระจายเป็นแห่ง ๆ ร้อยละ 40 ของพื้นที่ เป็นอุปสรรคต่อการกรีดยาง


2. การใช้ยาง


- สมาคมผู้ผลิตยาง (Rubber Manufacture Association : RMA) คาดการณ์ว่าในปี 2558 ยอดจำหน่ายยางล้อจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 310 ล้านเส้น ดังนี้


ยางล้อ OE สำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคล คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 47.5 ล้านเส้นในปี 2557 เป็น 48.7 ล้านเส้นในปี 2558
ยางล้อ OE สำหรับรถบรรทุกเชิงพาณิชย์ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 หรือเพิ่มขึ้นเป็น 5.6 ล้านคัน ในปี 2558
ยางล้อ RE สำหรับรถบรรทุกขนาดเล็ก คาดว่าในปี 2558 จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 เป็น 29.7 ล้านเส้นจาก 29.6 ล้านเส้นในปี 2557
ยางล้อ RE สำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคล คาดว่าในปี 2558 ลดลงร้อยละ 0.6 หรือมีปริมาณ 1.2 ล้านเส้น
3.เศรษฐกิจโลก


- สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป เปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของยูโรโซน ลดลงสู่ระดับ ร้อยละ -0.2 ในเดือนธันวาคม เมื่อเทียบรายปี จากระดับ ร้อยละ 0.3 ในเดือนพฤศจิกายน และถือเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2552 และนับเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีที่ CPI ยูโรโซนอยู่ในระดับติดลบ ส่งผลให้กระแสคาดการณ์ว่าธนาคารกลางยุโรปอาจจะตัดสินใจขยายขอบเขตมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในการประชุมที่กำลังจะมีขึ้น


- สำนักงานสถิติแห่งชาติของเยอรมนี เปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกของเยอรมนีได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับสถิติเดือนก่อนหน้า


- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานว่า ตัวเลขการขาดดุลการค้าภาคสินค้าและบริการของสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 7.7 ในเดือนพฤศจิกายน ปีที่แล้ว เมื่อเทียบรายเดือนสู่ระดับ 3.9 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 1 ปี โดยได้รับอานิสงส์จากการดิ่งลงของราคาน้ำมัน


4. อัตราแลกเปลี่ยน


- เงินบาทอยู่ที่ 32.87 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ อ่อนค่าลง 0.01 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ


- เงินเยนอยู่ที่ 119.68 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ อ่อนค่าลง 0.73 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ


5. ราคาน้ำมัน


- สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยว่า สต๊อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 2 มกราคม ลดลง 3.1 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 880,000 บาร์เรล ขณะที่สต๊อกน้ำมันเบนซินและน้ำมันกลั่นเพิ่มขึ้น 8.1 ล้านบาร์เรล และ 11.2 ล้านบาร์เรล สำหรับสต๊อกน้ำมันดิบที่เมืองคุชชิ่ง รัฐโอกลาโฮมา ซึ่งเป็นจุดส่งมอบน้ำมันเพิ่มขึ้น 1.305 ล้านบาร์เรล


- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymex ส่งมอบเดือน กุมภาพันธ์ ปิดตลาดที่ 48.65 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.72 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล หลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยว่าสต๊อคน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ลดลงเหนือความคาดหมายในรอบสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งทำให้นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับอุปทานน้ำมันล้นตลาด ส่วนสัญญาน้ำมันดิบแบรนท์ส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ ที่ตลาดลอนดอนเพิ่มขึ้น 0.05 ดอลลาร์ ปิดที่ 51.15 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล


6. การเก็งกำไร


- ราคาตลาด TOCOM ส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ 2558 อยู่ที่ 196.1 เยนต่อกิโลกรัม ลดลง 1.7เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนมิถุนายน 2558 อยู่ที่ 207.9 เยนต่อกิโลกรัม ลดลง 1.6 เยนต่อกิโลกรัม


- ราคาตลาด SICOM เปิดตลาดที่ 165.0 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม ลดลง 3.0 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม


7. ข่าว


- สำนักงานสถิติแห่งชาติอิตาลี เปิดเผยว่า อัตราว่างงานในเดือนพฤศจิกายน เพิ่มขึ้นมากกว่าคาดการณ์แตะที่ร้อยละ 13.4 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากภาวะจ้างงานซบเซาท่ามกลางความกังวลที่ว่าเศรษฐกิจที่ถดถอยรุนแรงของประเทศจะยังคงยืดเยื้อต่อไป และเพิ่มขึ้นจากระดับร้อยละ 13.3 ในเดือนตุลาคม


- สำนักงานแรงงานของเยอรมนี เปิดเผยว่า จำนวนคนว่างงานของเยอรมนีในเดือนธันวาคม ลดลง 27,000 ราย แตะ 2.841 ล้านราย ขณะที่อัตราว่างงานหดตัวแตะร้อยละ 6.5 ทำสถิติต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจเยอรมนีน่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในปีนี้


- รายงานการจ้างงานแห่งชาติของ ADP ระบุว่าภาคเอกชนของสหรัฐฯ มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 241,000 ราย ในเดือนธันวาคม 2014 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 226,000 ราย นอกจากนี้ ADP ยังได้ทบทวนปรับเพิ่มตัวเลขการจ้างงานในเดือนพฤศจิกายน สู่ระดับ 227,000 จากเดิมที่รายงานว่าเพิ่มขึ้น 208,000 ราย


- เทอิโกกุ ดาต้าแบงก์ ซึ่งเป็นสำนักงานวิจัย รายงานว่าบริษัทในภาคเอกชนของญี่ปุ่นที่ล้มละลายอันเนื่องจากการอ่อนค่าของเงินเยนมีจำนวนเพิ่มขึ้นราว 2.7 เท่าในปีที่แล้ว เมื่อเทียบจากปี 2013 สู่ระดับ 345 แห่ง


8. ข้อคิดเห็นของ ผู้ประกอบการ


- ราคายางน่าจะปรับลดลงตามตลาดต่างประเทศที่ปรับตัวลงค่อนข้างมาก ส่วนตลาดสิงคโปร์ โตเกียวและเซี่ยงไฮ้  อย่างไรก็ตามราคาได้ปรับลดลงมาก เพราะโดยภาพรวมผลผลิตยางออกสู่ตลาดน้อยมาก และผู้ประกอบการบางรายขาดแคลนยาง ขณะที่ภาครัฐยังคงรับซื้อยาง
อย่างต่อเนื่อง


แนวโน้ม   ราคายางมีแนวโน้มปรับตัวลดลงตามตลาดล่วงหน้าโตเกียวและเซี่ยงไฮ้ โดยมีปัจจัยลบจากกระแสข่าวจีนมีนโยบายปรับเปลี่ยนมาตรฐานยางคอมปาวด์จากเดิมที่มีส่วนผสมยางธรรมชาติไม่น้อยกว่าร้อยละ 95.0  ให้เหลือเพียงไม่น้อยกว่าร้อยละ 88.0 ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกยางคอมปาวด์ ประกอบกับนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกโดยรวม หลังจากเงินฟ้อของยูโรโซนติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี  อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นและเงินเยนอ่อนค่า รวมทั้งนโยบายสนับสนุนราคายางของภาครัฐ ยังคงเป็นปัจจัยหนุนราคายางได้ในระดับหนึ่ง






ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา