ชาวสวนขอค่ายังชีพหยุดกรีดยาง จี้รัฐเจรจาเพื่อนบ้านดันราคาสูงกว่ากก.ละ60บาท
ชาวสวนยาง 5-6 สถาบันทนไม่ไหวจากราคายางต่ำกว่าต้นทุนผลิตนานเกือบปี เตรียมเสนอรัฐบาลช่วยค่ายังชีพในการหยุดกรีดยางทั่วประเทศ ขอปรับโครงสร้างสวนยางเชิงเดี่ยวเป็นแบบผสมผสาน เร่งเจรจาประเทศผู้ผลิตดันราคายางไม่ให้ต่ำกว่า กก.ละ 60 บาท และขอเงินค่าปัจจัยการผลิตไร่ละ 2,520 บาทอีกครั้ง
นายบุญส่ง นับทอง นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ในวันที่ 3 ต.ค.นี้ เครือข่ายชาวสวนยางประกอบด้วย สมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย สหกรณ์อุตสาหกรรมยางพาราแห่งประเทศไทย เครือข่ายชาวสวนยางแห่งประเทศไทย สมาคมเครือข่ายชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย และกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางจำนวนมากจะมาประชุมหารือแก้ไขปัญหาราคายางพาราตก ต่ำที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เพื่อเสนอให้รัฐบาลช่วยแก้ปัญหาระยะสั้นโดยด่วน เนื่องจากขณะนี้ชาวสวนยาง 6-7 ล้านคนทั่วประเทศยังไม่นับคนกรีดยางเดือดร้อนมาก
กรอบในการ ประชุมหาทางออกเร่งด่วนครั้งนี้ คือ 1.มาตรการชะลอการกรีดยางทั่วประเทศ ราคายางขณะนี้ กก.ละ 40 บาทเศษ กรีดไปก็ขาดทุน ปกติรายได้จากสวนยาง 1 ไร่ต่อเดือนประมาณ 1,300 บาท หากรัฐมีมาตรการจูงใจในการหยุดกรีดโดยช่วยค่ายังชีพเหลือครึ่งหนึ่งประมาณ 650 บาทต่อไร่ต่อเดือน คาดว่าจะมีชาวสวนเข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 3 แสนราย รายละ 30 ไร่ จะเท่ากับ 9 ล้านไร่ จะช่วยดึงราคายางได้ด้วยเพราะซัพพลายลดลงไปมาก ส่วนกลไกตรวจสอบว่ามีการหยุดกรีดยางหรือไม่ ต้องหารือรายละเอียดกันอีกครั้งหนึ่ง
2.ยื่นขอปรับโครงสร้างสวน ยาง จากเชิงเดี่ยวเป็นแบบผสมผสาน ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์เพิ่มเติม โดยขอให้รัฐอนุมัติเงินกู้อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนเหลือ 1% ต่อปี หรือ 0% ไปเลย เนื่องจากการปรับเปลี่ยนให้ครบวงจรต้องใช้เวลาประมาณ 3 ปี ขณะเดียวกันรัฐต้องช่วยเหลือแหล่งน้ำตั้งแต่แหล่งน้ำขนาดเล็กถึงใหญ่ เช่น บ่อน้ำบาดาล บ่อตอก สระน้ำ จนถึงระบบชลประทานขนาดใหญ่ช่วยเหลือ นอกจากนี้ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์ชาวสวนยาง (สกย.) ต้องปรับเปลี่ยนกฎระเบียบในการนำเงินสงเคราะห์ชาวสวนยาง (เงินเซส) มาช่วยชาวสวนยางได้ เช่น เป็นสวนยาง 8 ไร่ที่เหลือ 2 ไร่ สามารถนำเงินเซสมาขุดสระน้ำ 2 ไร่ ไร่ละ 1.6 หมื่นบาทแก่ชาวสวนได้ด้วย และต่อไปชาวสวนยาง ต้องลดจำนวนต้นยางต่อไร่จาก 70 ต้นเหลือ 40-50 ต้น ที่เหลือปลูกไม้ยืนต้นโตเร็ว รวมทั้งปลูกพืชผักจากแสงแดดที่ส่องถึงพื้นดินมากขึ้น
3.ทำอย่าง ไรไม่ ให้ราคายางลดต่ำไปกว่านี้ ซึ่งรัฐต้องเร่งเจรจาประเทศผู้ปลูกยางที่ชาวสวนยางก็เดือดร้อนเหมือนกัน หากจับมือกันพยุงราคายางไม่ให้ตกต่ำกว่า กก.ละ 60 บาท (ณ ราคาไร่นา) หากต่ำกว่านี้ รัฐบาลประเทศนั้น ต้องมีมาตรการดึงราคายางขึ้นมา การจะไปพึ่งไตรภาคียางแก้ปัญหาเรื่องนี้ สำเร็จยาก เพราะมีบางประเทศเป็นผู้ผลิตยางแปรรูปซึ่งมีการนำเงินกำไรกลับไปอุดหนุนชาว สวนยางในรูปแบบปัจจัยการผลิตต่อ
ส่วนข้อเสนอสุดท้ายที่จะเสนอ รัฐบาล คือ การช่วยเหลือปัจจัยการผลิตให้ชาวสวนยางไร่ละ 2,520 บาท เหมือนที่ผ่านมาอีกครั้ง แม้ว่ารัฐบาลชุดนี้จะไม่เห็นด้วยกับนโยบายประชานิยม แต่การต่อลมหายใจให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง จะช่วยลดความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสได้มาก เพราะขายยางในราคาขาดทุนมาเกือบปี
"เงินที่ช่วยจะหมุนได้แรงและ หลาย รอบ เพราะเกษตรกรต้องกินต้องใช้ตลอด ทุกวันนี้ยอดขายมอเตอร์ไซด์ รถยนต์ตกลงมาก นักศึกษาต้องดรอปเรียน หรือขอผ่อนชำระค่าหน่วยกิต ความเดือดร้อนแผ่วงกว้างค่อนข้างมาก" นายบุญส่งกล่าว
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์