ผู้เขียน หัวข้อ: อัดสินเชื่อ 'น้ำยางข้น' กระตุ้นตลาด  (อ่าน 1064 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 88282
    • ดูรายละเอียด
อัดสินเชื่อ 'น้ำยางข้น' กระตุ้นตลาด


ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการหารือเรื่องการแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าขณะนี้รัฐบาลมีมาตรการในการ ช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางแล้วโดยเพิ่มจาก 3 มาตรการเป็น 4 มาตรการครอบคลุมการแก้ปัญหาทุกด้าน โดยในวันที่ 16 ต.ค.นี้จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.)




แหล่งข่าวจากที่ประชุมฯ กล่าวว่า มาตรการในการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางที่เพิ่มเติมขึ้นมา คือ การเพิ่มการใช้ยางพาราในประเทศ โดยให้สินเชื่อเพิ่มเติมกับกลุ่มผู้ประกอบการที่ใช้น้ำยางพาราข้น เนื่องจากกลุ่มนี้ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องและมีผลโดยตรงต่อการรับซื้อยางพาราในประเทศ




อย่างไรก็ตามวงเงินที่จะให้กับผู้ประกอบการกลุ่มนี้ ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่จะไม่มากเท่ากับวงเงินที่ส่งเสริมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมให้แปรรูปยางพาราวงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาทที่มีการอนุมัติไปก่อนหน้านี้




แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่า แนวทางในการบริหารจัดการราคายางพาราในอนาคต จะให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการอุปทาน (ซัพพลาย) ของยางพารา เพราะที่ผ่านมาการแก้ปัญหาซัพพลายยางพารายังไม่เป็นระบบ และราคายางที่ปรับตัวลดลง เนื่องจากมีความพยายามที่จะทำให้ราคายางพาราต่ำลงด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การปล่อยข่าวจากสำนักต่าง ๆ ที่ระบุว่ายางล้นตลาด ซึ่งข้อเท็จจริงมีล้นตลาด 4 แสนตันต่อปีเท่านั้นซึ่งน้อยมาก เมื่อเทียบกับการใช้ยางทั้งโลกอยู่ที่กว่า 12-14 ล้านตัน แต่ราคายางตกลงมาก ดังนั้นตอนนี้เป็นเรื่องที่ประเทศผู้ผลิตยางพาราทั้งโลกต้องมาคุยกัน




"ในช่วง 1 - 3 เดือนก่อนปีใหม่มีโปรแกรมที่ผู้บริหารของประเทศผู้ผลิตยางพาราจะมาพูดคุยกัน เกี่ยวกับปัญหายางพาราตกต่ำ เพราะปัญหานี้ทำให้รัฐมนตรีหลายประเทศ ดูราคายางแล้วก็นอนไม่หลับ ซึ่งของไทยก็จะมีการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีและผู้นำมาเลเซีย ขณะที่ในระดับรัฐมนตรี 10 ประเทศยางพาราก็ต้องแก้ปัญหานี้ด้วยกัน เพราะขณะนี้ราคายางพาราตกต่ำ ทั้งที่ความต้องการยางพาราในโลกก็ไม่ได้ลดลง และซัพพลายก็ลดลงแล้ว กรณีไทยเกษตรกรกรีดยางลดลง 30%" แหล่งข่าวกล่าว




เขากล่าวต่อไปด้วยว่า สำหรับการแก้ปัญหายางพาราในด้านของอุปสงค์ (ดีมานต์) ยางพาราเป็นเรื่องที่จะต้องบริหารจัดการการใช้ยางพาราในประเทศ ซึ่งประเทศไทยยังมีปัญหาในเรื่องนี้มาก เพราะมีการใช้ยางพาราเพียง 14% ในประเทศ ขณะที่ 86% ยังคงต้องพึ่งพาการส่งออก ดังนั้นการวางแผนรักษาเสถียรภาพยางพาราในระยะยาวจะต้องเพิ่มปริมาณการใช้ในประเทศซึ่งควรจะเพิ่มให้ได้เป็น 30% ทั้งนี้แผนการที่รัฐบาลจะทำต่อไปก็คือ ต้องมีการวางแผนธุรกิจ (Business Model) ของยางพาราในประเทศอย่างเป็นระบบ โดยจะจัดทำให้แล้วเสร็จภายใน 1 - 2 เดือนนี้




พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการแก้ปัญหายางพารานั้น จะมีการพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ขออย่าเรียกร้องกันมากนัก เพราะตนไม่รู้จะเอาเงินมาจากที่ไหน








Souce: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ