สกย.เปิดรับคำขอทุนสงเคราะห์ หนุนเกษตรกรโค่นต้นยางพารา
นายทวีศักดิ์ คงแย้ม ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนแนวทางแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบของ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (วอร์รูม สกย.) เปิดเผยว่า โครงการควบคุมปริมาณการผลิต เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญที่ช่วยแก้ปัญหายางพาราทั้งระบบให้แก่เกษตรกรชาวสวน ยาง เพื่อจะเพิ่มอุปทานของปริมาณยางพารา ให้มีความต้องการของตลาดในประเทศเพิ่มมากขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สกย. มีนโยบายในการส่งเสริมการโค่นยางเก่าหรือต้นยางที่ให้ผลผลิตต่ำทุกปี แต่สำหรับปีนี้ สกย.ได้เพิ่มเป้าหมายในการส่งเสริมการปลูกแทนเป็น 400,000 ไร่ ภายในระยะเวลา 7 ปี (ปี 2558-2560) เพราะฉะนั้น ในแต่ละปีจะสามารถลดปริมาณผลผลิตยางในตลาดลงปีละ 101,600 ตัน และที่สำคัญ ในจำนวนพื้นที่โค่นยางเก่า จะให้การส่งเสริมปลูกแทนด้วยยางพาราพันธุ์ดี จำนวน 300,000 ไร่ต่อปี ซึ่งเกษตรกรชาวสวนยางที่เข้าร่วมในโครงการดังกล่าว สกย.จะให้ความรู้ในการปลูกแทนแบบเกษตรผสมผสานด้วยการทำกิจกรรมทางการเกษตร ควบคู่กับการปลูกยางเป็น เช่น พืชผักสวนครัว หรือพืชอื่น หรือการเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น เพื่อเป็นทางเลือกในการทำการเกษตรควบคู่กับการให้ความรู้เรื่องการปลูก ยางพารา เพื่อให้เกษตรกรสามารถมีรายได้เลี้ยงครอบครัวอย่างต่อเนื่อง และสำหรับอีก 100,000 ไร่ จะเป็นการให้ทุนสงเคราะห์แก่เกษตรกรที่จะปลูกพืชอื่นที่มีความสำคัญทาง เศรษฐกิจและเหมาะสมกับพื้นที่ โดยคำนึงถึงเรื่องตลาดในพื้นที่นั้นๆ ให้แก่เกษตรกรด้วย
ทั้งนี้ เมื่อเปิดปีงบประมาณใหม่ 2558 มีเจ้าของสวนยางจำนวน 6,866 ราย จากทั่วประเทศ ยื่นคำขอรับทุนสงเคราะห์ปลูกแทน คิดเป็นพื้นที่โค่นยางเก่า ประมาณ 79,164 ไร่ โดยส่วนมาก จะเป็นพื้นที่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ที่มีการยื่นรับคำขอมากที่สุดในขณะนี้ และคาดว่าก่อนจะถึงฤดูกาลปลูกยางพารารอบใหม่ น่าจะมีเกษตรกรยื่นรับคำขอปลูกแทนใหม่ เกินกว่าเป้าหมายที่ สกย.กำหนดไว้
ที่มา หนังสือพิมพ์แนวหน้า (วันที่ 6 พฤศจิกายน 2557)