ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปภาวะตลาดหุ้น น้ำมัน ทองคำ และตลาดเงินต่างประเทศ ข่าวหุ้น-การเงิน 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2563  (อ่าน 1969 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 84880
    • ดูรายละเอียด

***น้ำมัน WTI ปิดบวก 55 เซนต์ รับสต็อกน้ำมันดิบร่วง,ข้อมูลศก.แข็งแกร่ง

ข่าวต่างประเทศ Thursday July 2, 2020 07:03 ?สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ภาวะตลาดน้ำมัน: น้ำมัน WTI ปิดบวก 55 เซนต์ รับสต็อกน้ำมันดิบร่วง,ข้อมูลศก.แข็งแกร่ง
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (1 ก.ค.) ขานรับสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐที่ร่วงลงกว่า 7 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมทั้งข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ ซึ่งบ่งชี้ถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 55 เซนต์ หรือ 1.4% ปิดที่ 39.82 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 76 เซนต์ หรือ 1.8% ปิดที่ 42.03 ดอลลาร์/บาร์เรล

ตลอดไตรมาส 2 ปีนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI พุ่งขึ้นราว 92% ขณะที่สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์พุ่งขึ้นราว 81%

สัญญาน้ำมันดิบปิดตลาดในแดนบวกเมื่อคืนนี้ หลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐร่วงลง 7.2 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 26 มิ.ย. หลังจากเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 3 สัปดาห์ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าลดลง 2.7 ล้านบาร์เรล

ทางด้านสถาบันปิโตรเลียมอเมริกา (API) ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันของสหรัฐ เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐลดลง 8.2 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 26 มิ.ย.

รายงานของ EIA ยังเปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 1.2 ล้านบาร์เรล ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลง 2.7 ล้านบาร์เรล ส่วนสต็อกน้ำมันกลั่น ซึ่งรวมถึงฮีตติ้งออยล์และน้ำมันดีเซล ลดลง 600,000 บาร์เรล ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้น 900,000 บาร์เรล

นอกจากนี้ ภาวะการซื้อขายในตลาดน้ำมันยังได้รับแรงหนุนจากข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ โดยออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) และมูดี้ส์ อนาลิติกส์ เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้น 2.369 ล้านตำแหน่งในเดือนมิ.ย. ขณะเดียวกัน ADP ได้ปรับตัวเลขการจ้างงานของภาคเอกชนในเดือนพ.ค. โดยรายงานว่ามีการจ้างงานพุ่งขึ้น 3.065 ล้านตำแหน่ง จากเดิมที่รายงานว่า การจ้างงานลดลง 2.76 ล้านตำแหน่ง

ทางด้านผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 52.6 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.ปีที่แล้ว จากระดับ 43.1 ในเดือนพ.ค. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 49.5

ทั้งนี้ ข้อมูลของ ISM สอดคล้องกับที่ไอเอชเอส มาร์กิต รายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 49.8 ในเดือนมิ.ย. จากระดับ 39.8 ในเดือนพ.ค.

***ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก: ดาวโจนส์ปิดลบ 77.91 จุด แต่ S&P500,Nasdaq บวกรับความหวังวัคซีนต้านโควิด
          ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (1 ก.ค.) หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือนมิ.ย.ซึ่งนักลงทุนมองว่า เฟดไม่ได้ให้รายละเอียดมากนักเกี่ยวกับแนวทางการสื่อสารให้ตลาดรับรู้เรื่องสัญญาณชี้นำทิศทางนโยบายการเงิน (Forward Guidance) อย่างไรก็ดี ดัชนี S&P500 ปิดในแดนบวก ขณะที่ดัชนี Nasdaq ปิดทำนิวไฮ ขานรับความคืบหน้าในการผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 รวมทั้งข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ
          ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 25,734.97 จุด ลดลง 77.91 จุด หรือ -0.30% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,115.86 จุด เพิ่มขึ้น 15.57 จุด หรือ +0.50% ส่วนดัชนี Nasdaq ปิดที่ 10,154.63 จุด เพิ่มขึ้น 95.86 จุด หรือ +0.95%
          ดัชนีดาวโจนส์ปิดในแดนลบ หลังจากเฟดเปิดเผยรายงานการประชุมเดือนมิ.ย.เมื่อวานนี้ ซึ่งใจความส่วนหนึ่งระบุว่า กรรมการเฟดส่วนใหญ่มองว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ควรสื่อสารให้ตลาดรับรู้  สัญญาณชี้นำทิศทางนโยบายการเงิน (Forward Guidance) เกี่ยวกับการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ขณะที่กรรมการเฟดส่วนหนึ่งกล่าวว่า เฟดจำเป็นต้องผลักดันให้มีการใช้เครื่องมืออื่นๆ ที่มีความเป็นไปได้ เช่น การควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน (yield curve control) ซึ่งจะช่วยควบคุมอัตราดอกเบี้ยระยะยาว
          รายงานการประชุมยังระบุด้วยว่า กรรมการเฟดส่วนใหญ่มองว่า มีโอกาสอย่างมากที่จะเกิดการแพร่ระบาดรอบสองของไวรัสโควิด-19 และยังระบุว่า มีความเสี่ยงที่มาตรการการคลังในการให้ความช่วยเหลือภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ และรัฐบาลท้องถิ่น อาจจะไม่เพียงพอ
          นักวิเคราะห์จากบริษัทแคปิตอล อิโคโนมิกส์กล่าวว่า รายงานการประชุมเดือนมิ.ย.ของเฟดไม่ได้บ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงของนโยบายการเงินในระยะใกล้ และยังแสดงให้เห็นว่า เฟดยังต้องใช้เวลาอีกนานในการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนสำหรับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว
          หุ้นโบอิ้งร่วงลง 1.53% ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ดัชนีดาวโจนส์ปิดอ่อนแรงลง หลังจากสื่อรายงานว่า สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐ (FAA) ได้ชะลอการอนุมัติการขึ้นบินของเครื่องโบอิ้ง 737 MAX เนื่องจากโบอิ้งไม่ได้ยื่นรายละเอียดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงระบบควบคุมการบินที่สำคัญของเครื่องบินโบอิ้ง 737 MAX
          อย่างไรก็ดี ดัชนี S&P500 และ Nasdaq ปิดในแดนบวก หลังจากไฟเซอร์ อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทยาใหญ่ที่สุดของสหรัฐเปิดเผยว่า ผลการทดลองใช้วัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ในมนุษย์ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ โดยไฟเซอร์ได้ดำเนินการทดลองดังกล่าวร่วมกับ BioNTech ซึ่งเป็นบริษัทยาของเยอรมนี และคาดว่าบริษัทจะสามารถผลิตวัคซีน 100 ล้านโดสภายในปลายปีนี้ และมากกว่า 1.2 พันล้านโดสภายในสิ้นปีหน้า
          ทั้งนี้ ข่าวดังกล่าวช่วยหนุนหุ้นไฟเซอร์ พุ่งขึ้น 3.21% และเป็นปัจจัยหนุนภาพรวมของตลาดให้ยังคงอยู่ในทิศทางบวก แม้ว่าศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐ (CDC) เปิดเผยว่า พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่มอีก 43,644 รายก็ตาม
          หุ้น 8 ใน 11 กลุ่มที่คำนวณในดัชนี S&P500 ปิดตลาดดีดตัวขึ้น นำโดยดัชนีหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และกลุ่มสาธารณูปโภค พุ่งขึ้น 2.57% และ 2.29% ตามลำดับ ขณะที่ดัชนีหุ้นกลุ่มพลังงานร่วงลง 2.49%
          หุ้นเฟดเอ็กซ์ ทะยานขึ้น 11.7% หลังจากบริษัทเปิดเผยกำไรและรายได้ในไตรมาส 2 ที่แข็งแกร่งเกินคาด โดยได้แรงหนุนจากความต้องการส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาด
          นอกจากนี้ ตลาดยังได้ปัจจัยหนุนจากข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ โดยออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) และมูดี้ส์ อนาลิติกส์ เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้น 2.369 ล้านตำแหน่งในเดือนมิ.ย. ขณะเดียวกัน ADP ได้ปรับตัวเลขการจ้างงานของภาคเอกชนในเดือนพ.ค. โดยรายงานว่ามีการจ้างงานพุ่งขึ้น 3.065 ล้านตำแหน่ง จากเดิมที่รายงานว่า การจ้างงานลดลง 2.76 ล้านตำแหน่ง
          ทางด้านผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 52.6 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.ปีที่แล้ว จากระดับ 43.1 ในเดือนพ.ค. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 49.5
          ทั้งนี้ ข้อมูลของ ISM สอดคล้องกับที่ไอเอชเอส มาร์กิต รายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 49.8 ในเดือนมิ.ย. จากระดับ 39.8 ในเดือนพ.ค.
          นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมิ.ย., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, อัตราว่างงานเดือนมิ.ย., ดุลการค้าเดือนพ.ค., ดัชนีภาวะธุรกิจนิวยอร์กเดือนมิ.ย.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) และยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนพ.ค.

***ภาวะตลาดทองคำนิวยอร์ก: แรงขายทำกำไรฉุดทองปิดร่วง 20.6 ดอลลาร์
          สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 20 ดอลลาร์เมื่อคืนนี้ (1 ก.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเทขายทำกำไรหลังจากราคาทองคำทะยานขึ้นเหนือระดับ 1,800 ดอลลาร์เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา นอกจากนี้ ข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐยังเป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนเทขายทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย
          สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. ร่วงลง 20.6 ดอลลาร์ หรือ 1.14% ปิดที่ 1,779.9 ดอลลาร์/ออนซ์
          สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 41.9 เซนต์ หรือ 2.25% ปิดที่ 18.218 ดอลลาร์/ออนซ์
          สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 16.8 ดอลลาร์ หรือ 1.97% ปิดที่ 834.4 ดอลลาร์/ออนซ์
          สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. ร่วงลง 36.20 ดอลลาร์ หรือ 1.8% ปิดที่ 1,930.70 ดอลลาร์/ออนซ์
          นักลงทุนเทขายทำกำไรหลังจากสัญญาทองคำพุ่งขึ้นเหนือระดับ 1,800 ดอลลาร์เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา อันเนื่องมาคำสั่งซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยหลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง
          นอกจากนี้ ข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐยังทำให้นักลงทุนเทขายสินทรัพย์ปลอดภัยเมื่อคืนนี้ด้วย โดยออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) และมูดี้ส์ อนาลิติกส์ เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้น 2.369 ล้านตำแหน่งในเดือนมิ.ย. ขณะเดียวกัน ADP ได้ปรับตัวเลขการจ้างงานของภาคเอกชนในเดือนพ.ค. โดยรายงานว่ามีการจ้างงานพุ่งขึ้น 3.065 ล้านตำแหน่ง จากเดิมที่รายงานว่า การจ้างงานลดลง 2.76 ล้านตำแหน่ง
          ทางด้านผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 52.6 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.ปีที่แล้ว จากระดับ 43.1 ในเดือนพ.ค. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 49.5
          ทั้งนี้ ข้อมูลของ ISM สอดคล้องกับที่ไอเอชเอส มาร์กิต รายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 49.8 ในเดือนมิ.ย. จากระดับ 39.8 ในเดือนพ.ค.