ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปภาวะตลาดหุ้น น้ำมัน ทองคำ และตลาดเงินต่างประเทศ ข่าวหุ้น-การเงิน 31 กรกฎาคม 2564  (อ่าน 482 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 82019
    • ดูรายละเอียด

ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก: ดาวโจนส์ปิดลบ 149.06 จุด หุ้นแอมะซอนร่วงฉุดตลาด
          สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 ก.ค. 2564)--ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (30 ก.ค.) โดยถูกกดดันจากการร่วงลงของหุ้นแอมะซอน.คอม หลังบริษัทคาดการณ์ว่ายอดขายจะชะลอการขยายตัว นอกจากนี้ ความวิตกเกี่ยวกับการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา และอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐ เป็นปัจจัยถ่วงตลาดลงด้วย
          ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,935.47 จุด ลดลง 149.06 จุด หรือ -0.42%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,395.26 จุด ลดลง 23.89 จุด หรือ -0.54% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,672.68 จุด ลดลง 105.59 จุด หรือ -0.71%
          ข้อมูลจาก FactSet บ่งชี้ว่า ในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีดาวโจนส์และดัชนี S&P500 ลดลง 0.4% ขณะที่ดัชนี Nasdaq ลดลง 1.1% แต่ในเดือนก.ค. ดัชนีดาวโจนส์บวก 1.3%, ดัชนี S&P500 เพิ่มขึ้น 2.3% และดัชนี Nasdaq ปรับตัวขึ้น 1.2% โดยดัชนี S&P500 ปิดบวกในเดือนก.ค.ได้เป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน
          หุ้น 7 ใน 11 กลุ่มของดัชนี S&P500 ปิดบวกในวันศุกร์ ขณะที่กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยและกลุ่มพลังงานลดลง 2.77% และ 1.76% ตามลำดับ ส่วนหุ้นกลุ่มวัสดุปรับตัวขึ้น 0.4%
          หุ้นแอมะซอน.คอม อิงค์ ร่วงลง 7.56% หลังบริษัทรายงานเมื่อวันพฤหัสบดีว่า รายได้ในไตรมาส 2 ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ และระบุว่า การขยายตัวของยอดขายจะลดลงในไตรมาสข้างหน้า เนื่องจากผู้บริโภคเดินทางออกจากบ้านมากขึ้น
          หุ้นอัลฟาเบทซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิล และหุ้นเฟซบุ๊ก ปรับตัวลง 0.77% และ 0.56% ตามลำดับ
          หุ้นพินเทอเรสต์ ร่วงลง 18% หลังเปิดเผยจำนวนผู้ใช้งานแพล็ตฟอร์มของบริษัทในสหรัฐนั้นชะลอการขยายตัว
          หุ้นคาเตอร์พิลลาร์ ร่วงลง 2.73% แม้เปิดเผยผลกำไรไตรมาส 2 เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกก็ตาม
          สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ ดีดตัวขึ้น 3.5% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการพุ่งขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ค. 2534 อย่างไรก็ดี ดัชนี PCE พื้นฐานดังกล่าวต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 3.6% หลังจากเพิ่มขึ้น 3.4% ในเดือนพ.ค.
          เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนมิ.ย. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.6% ส่วนดัชนี PCE ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ดีดตัวขึ้น 4.0% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการพุ่งขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.2551 หลังจากเพิ่มขึ้น 3.9% ในเดือนพ.ค.
          นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐยังเปิดเผยว่า การใช้จ่ายส่วนบุคคลของผู้บริโภคสหรัฐเพิ่มขึ้น 1.0% ในเดือนมิ.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้น 0.7% หลังจากลดลง 0.1% ในเดือนพ.ค. และรายได้ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนมิ.ย. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าอาจลดลง 0.2%
          มหาวิทยาลัยมิชิแกนเปิดเผยผลสำรวจระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐร่วงลงสู่ระดับ 81.2 ในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. จากระดับ 85.5 ในเดือนมิ.ย. แต่สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 80.8
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย กัลยาณี ชีวะพานิช โทร.Tel. 02-253-5000 ต่อ 363 อีเมล์: kallayanee.c@infoquest.co.th--

ภาวะตลาดน้ำมัน: น้ำมัน WTI ปิดบวก 33 เซนต์ ขานรับแนวโน้มดีมานด์เพิ่ม
          สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 ก.ค. 2564)--สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดเพิ่มขึ้นเมื่อคืนนี้ (30 ก.ค.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงเชื่อมั่นเกี่ยวกับแนวโน้มอุปสงค์น้ำมันท่ามกลางการเปิดเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ แม้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังคงเพิ่มขึ้นก็ตาม
          สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 33 เซนต์ หรือ 0.5% ปิดที่ 73.95 ดอลลาร์/บาร์เรล โดยเพิ่มขึ้น 2.6% ในรอบสัปดาห์นี้ และเพิ่มขึ้น 0.7% ในเดือนก.ค.
          สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 28 เซนต์ หรือ 0.4% ปิดที่ 76.33 ดอลลาร์/บาร์เรล โดยเพิ่มขึ้น 3% ในรอบสัปดาห์นี้ และเพิ่มขึ้น 1.6% ในเดือนก.ค.
          นอกจากนี้ สัญญาน้ำมันดิบยังคงได้แรงหนุนจากสต็อกน้ำมันของสหรัฐที่ลดลงมากเกินคาดด้วย โดยสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยเมื่อวันพุธว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐลดลง 4.1 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว แตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. 2563 ขณะที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าอาจลดลงเพียง 2.5 ล้านบาร์เรล
          ส่วนสต็อกน้ำมันเบนซินลดลง 2.3 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าอาจลดลงเพียง 1.3 ล้านบาร์เรล และสต็อกน้ำมันกลั่น ซึ่งรวมถึงฮีตติ้งออยล์และน้ำมันดีเซล ลดลง 3.1 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าอาจลดลงเพียง 1.6 ล้านบาร์เรล
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย กัลยาณี ชีวะพานิช โทร.Tel. 02-253-5000 ต่อ 363 อีเมล์: kallayanee.c@infoquest.co.th--


ภาวะตลาดทองคำนิวยอร์ก: ทองปิดลบ 18.6 ดอลล์ จากแรงขายทำกำไร
          สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 ก.ค. 2564)--สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลดลงเมื่อคืนนี้ (30 ก.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเทขายสัญญาทองคำออกมาเพื่อทำกำไร หลังจากราคาทองคำพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 6 สัปดาห์
          ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 18.6 ดอลลาร์ หรือ 1.01% ปิดที่ 1,817.2 ดอลลาร์/ออนซ์ แต่ปรับตัวขึ้นเกือบ 0.9% ในรอบสัปดาห์นี้ และเพิ่มขึ้น 2.6% ในเดือนก.ค.
          สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 23.5 เซนต์ หรือ 0.91% ปิดที่ 25.547 ดอลลาร์/ออนซ์
          สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 19.2 ดอลลาร์ หรือ 1.8% ปิดที่ 1,048.4 ดอลลาร์/ออนซ์
          ส่วนสัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 13.10 ดอลลาร์ หรือ 0.79% ปิดที่ 2,656.20 ดอลลาร์/ออนซ์
          นอกจากนี้ สัญญาทองคำยังปรับตัวลง เนื่องจากการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐได้ลดความน่าสนใจของสัญญาทองคำในฐานะแหล่งลงทุนที่ปลอดภัย
          สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ ดีดตัวขึ้น 3.5% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการพุ่งขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ค. 2534 อย่างไรก็ดี ดัชนี PCE พื้นฐานดังกล่าวต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 3.6% หลังจากเพิ่มขึ้น 3.4% ในเดือนพ.ค.
          เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนมิ.ย. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.6% ส่วนดัชนี PCE ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ดีดตัวขึ้น 4.0% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการพุ่งขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.2551 หลังจากเพิ่มขึ้น 3.9% ในเดือนพ.ค.
          นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐยังเปิดเผยว่า การใช้จ่ายส่วนบุคคลของผู้บริโภคสหรัฐเพิ่มขึ้น 1.0% ในเดือนมิ.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้น 0.7% หลังจากลดลง 0.1% ในเดือนพ.ค. และรายได้ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนมิ.ย. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าอาจลดลง 0.2%
          ส่วนมหาวิทยาลัยมิชิแกนเปิดเผยผลสำรวจระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐร่วงลงสู่ระดับ 81.2 ในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. จากระดับ 85.5 ในเดือนมิ.ย. แต่สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 80.8
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย กัลยาณี ชีวะพานิช โทร.Tel. 02-253-5000 ต่อ 363 อีเมล์: kallayanee.c@infoquest.co.th--