ผู้เขียน หัวข้อ: ภาวะตลาดทองคำนิวยอร์ก: ทองปิดบวก $14.10 หลังดอลล์อ่อน-บอนด์ยีลด์ลดหนุนราคา  (อ่าน 35 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 82396
    • ดูรายละเอียด

ภาวะตลาดทองคำนิวยอร์ก: ทองปิดบวก $14.10 หลังดอลล์อ่อน-บอนด์ยีลด์ลดหนุนราคา
          สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (4 มี.ค. 2566)--สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันศุกร์ (3 มี.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ และการร่วงลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ
          ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 14.10 ดอลลาร์ หรือ 0.77% ปิดที่ 1,854.60 ดอลลาร์/ออนซ์ และปรับตัวขึ้นมากกว่า 2% ในรอบสัปดาห์นี้
          สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 33.70 เซนต์ หรือ 1.61% ปิดที่ 21.238 ดอลลาร์/ออนซ์
          สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 16.20 ดอลลาร์ หรือ 1.68% ปิดที่ 979.40 ดอลลาร์/ออนซ์
          สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 4.10 ดอลลาร์ หรือ 0.3% ปิดที่ 1,449 ดอลลาร์/ออนซ์
          ราคาทองคำได้แรงหนุน หลังดอลลาร์ที่อ่อนค่าจะเพิ่มความน่าดึงดูดของทอง โดยทำให้สัญญาทองมีราคาถูกลงสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น ส่วนการลดลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ จะช่วยลดต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำ เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย
          บรรดานักลงทุนจะจับตาถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ และทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด ก่อนที่เฟดจะจัดการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 21-22 มี.ค.
          นายพาวเวลเตรียมกล่าวแถลงการณ์รอบครึ่งปีว่าด้วยนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจสหรัฐต่อสภาคองเกรสในสัปดาห์หน้า โดยจะแถลงต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาในวันอังคารที่ 7 มี.ค. เวลา 10.00 น.ตามเวลาสหรัฐ หรือ 22.00 น.ตามเวลาไทย ก่อนที่จะกล่าวต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรในวันพุธที่ 8 มี.ค.ในเวลาเดียวกัน
โดย กัลยาณี ชีวะพานิช

ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก: ดาวโจนส์ปิดพุ่ง 387.40 จุด บอนด์ยีลด์ลดช่วยหนุนตลาด
          สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (4 มี.ค. 2566)--ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดทะยานขึ้นต่อในวันศุกร์ (3 มี.ค.) โดยได้แรงหนุนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ปรับตัวลง หลังจากการแสดงความเห็นของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)  ได้ช่วยบรรเทาความวิตกเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ย
          ทั้งนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,390.97 จุด เพิ่มขึ้น 387.40 จุด หรือ +1.17%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,045.64 จุด เพิ่มขึ้น 64.29 จุด หรือ +1.61% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,689.01 จุด เพิ่มขึ้น 226.02 จุด หรือ +1.97%
          ดัชนีหุ้นทั้ง 3 ตัวพุ่งขึ้นมากกว่า 1% โดยดัชนี Nasdaq ปรับตัวขึ้นเกือบ 2% โดยได้แรงหนุนจากหุ้นตัวใหญ่ที่อ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ย และในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีดาวโจนส์เพิ่มขึ้น 1.75%, ดัชนี S&P500 เพิ่มขึ้น 1.9% และดัชนี Nasdaq เพิ่มขึ้น 2.58%
          ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นรายสัปดาห์เป็นครั้งแรกหลังติดลบ 3 สัปดาห์ติดต่อกัน และดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวขึ้นเป็นสัปดาห์แรกนับตั้งแต่ปลายเดือนม.ค.
          นอกจากนี้ ดัชนี S&P500 ยังสามารถพุ่งขึ้นทะลุเส้นค่าเฉลี่ย 50 และ 200 วันด้วย
          การปรับตัวลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเป็นแรงหนุนหลักต่อตลาด โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ลดต่ำกว่าระดับสำคัญทางจิตวิทยาที่ 4% โดยการปรับตัวลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ซึ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยจำนองของสหรัฐ จะทำให้ผู้บริโภคมีเงินสำหรับการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น และช่วยลดต้นทุนการชำระหนี้ของบริษัทต่างๆ ทำให้บริษัทเหล่านี้สามารถเพิ่มการลงทุน และเพิ่มการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน
          นอกจากนี้ ตลาดได้รับปัจจัยหนุนจากถ้อยแถลงของนายราฟาเอล บอสติก ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา ซึ่งกล่าวสนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเดือนนี้
          อย่างไรก็ดี นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟด สาขาเซนต์หลุยส์ กล่าวสนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเดือนมี.ค. และเชื่อว่าการที่เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะไม่ทำให้สหรัฐเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยแต่อย่างใด
          ด้านนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด เตรียมกล่าวแถลงการณ์รอบครึ่งปีว่าด้วยนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจสหรัฐต่อสภาคองเกรสในสัปดาห์หน้า
          ทั้งนี้ นายพาวเวลจะกล่าวถ้อยแถลงต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาในวันอังคารที่ 7 มี.ค. เวลา 10.00 น.ตามเวลาสหรัฐ หรือ 22.00 น.ตามเวลาไทย ก่อนที่จะกล่าวต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรในวันพุธที่ 8 มี.ค.ในเวลาเดียวกัน
          ตลาดจับตาถ้อยแถลงของนายพาวเวลเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ และทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด ก่อนที่เฟดจะจัดการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 21-22 มี.ค.
          สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่เปิดเผยในวันศุกร์ (3 มี.ค.) บ่งชี้ว่า ภาคบริการของสหรัฐยังคงมีการขยายตัว โดยสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 55.1 ในเดือนก.พ. แต่สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 54.5 จากระดับ 55.2 ในเดือนม.ค.
          ดัชนีอยู่สูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้การขยายตัวในภาคบริการของสหรัฐ โดยได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของการจ้างงานและคำสั่งซื้อใหม่แตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 1 ปี
          ด้านเอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 50.6 ในเดือนก.พ. จากระดับ 46.8 ในเดือนม.ค. และสูงกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ระดับ 50.5
          ดัชนี PMI อยู่สูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้การขยายตัวในภาคบริการของสหรัฐ หลังจากหดตัวติดต่อกัน 7 เดือน
          หุ้นทั้ง 11 กลุ่มในดัชนี S&P500 ปิดบวก ขณะที่หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี และกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยปรับตัวขึ้นเป็นเปอร์เซ็นต์มากที่สุด โดยปรับตัวขึ้น 2.14% และ 2.12% ตามลำดับ
          หุ้นแอปเปิ้ล พุ่งขึ้น 3.5% หลังมอร์แกน สแตนลีย์เปิดเผยว่า หุ้นแอปเปิ้ลอาจทะยานขึ้นมากกว่า 20% ในปีนี้จากการเปิดบริการสมัครใช้อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ของแอปเปิ้ล
          หุ้นบรอดคอม อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทผลิตชิป พุ่งขึ้น 5.7% หลังคาดการณ์รายได้ในไตรมาส 2 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ เนื่องจากการลงทุนด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เพิ่มขึ้นนั้นได้กระตุ้นความต้องการใช้ชิป
โดย กัลยาณี ชีวะพานิช

ภาวะตลาดน้ำมัน: น้ำมัน WTI ปิดพุ่ง $1.52 รับข่าว UAE ไม่ถอนตัวออกจากโอเปก
          สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (4 มี.ค. 2566)--สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นในวันศุกร์ (3 มี.ค.) หลังจากมีการยืนยันว่า สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ไม่มีแผนที่จะถอนตัวออกจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) แต่อย่างใด
          ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนเม.ย. พุ่งขึ้น 1.52 ดอลลาร์ หรือ 1.94% ปิดที่ 79.68  ดอลลาร์/บาร์เรล และเพิ่มขึ้น 4.4% ในรอบสัปดาห์นี้
          ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ค. พุ่งขึ้น 1.08 ดอลลาร์ หรือ 1.27% ปิดที่ 85.83 ดอลลาร์/บาร์เรล และเพิ่มขึ้น 3.6% ในรอบสัปดาห์นี้
          ราคาน้ำมันดิ่งลงในช่วงแรก หลังจากหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัลรายงานว่า UAE กำลังพิจารณาที่จะถอนตัวออกจากโอเปก และจะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน
          อย่างไรก็ดี สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างอิงแหล่งข่าวระบุว่า UAE ไม่มีแผนที่จะถอนตัวออกจากโอเปกแต่อย่างใด
          นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังดีดตัวขานรับเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีการนำเข้าน้ำมันมากที่สุดในโลก ขณะที่บรรดาเทรดเดอร์เชื่อมั่นว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของจีนจะหนุนความต้องการใช้พลังงาน
          จีนเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนก.พ.พุ่งแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2555
          นอกจากนี้ มีการคาดการณ์ว่า จีนจะนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียมากเป็นประวัติการณ์ในเดือนนี้ ขณะที่โรงกลั่นน้ำมันของจีนเพิ่มการนำเข้าน้ำมันราคาถูกจากรัสเซีย
โดย กัลยาณี ชีวะพานิช