ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปภาวะตลาดหุ้น น้ำมัน ทองคำ และตลาดเงินต่างประเทศ ข่าวหุ้น-การเงิน 11 มีนาคม 2566  (อ่าน 56 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 82396
    • ดูรายละเอียด

ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก: ดาวโจนส์ปิดร่วง 345.22 จุด วิตกปัญหาภาคธนาคารฉุดตลาด
          สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 มี.ค. 2566)--ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 300 จุดในวันศุกร์ (10 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกเกี่ยวกับสภาวะของภาคธนาคารสหรัฐ หลังจากมีการสั่งปิดกิจการธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) ซึ่งอยู่ในเครือของบริษัทเอสวีบี ไฟแนนเชียล กรุ๊ป หลังจากประสบปัญหาด้านการเงิน
          ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 31,909.64 จุด ลดลง 345.22 จุด หรือ -1.07% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,861.59 จุด ลดลง 56.73 จุด หรือ -1.45% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,138.89 จุด ลดลง 199.47 จุด หรือ -1.76%
          ดัชนีดาวโจนส์ปิดลดลงเป็นวันที่ 4 ติดต่อกันแล้วและยาวนานที่สุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2565
          ในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลง 4.4%, ดัชนี S&P500 ร่วง 4.5% และดัชนี Nasdaq ดิ่งลง 4.7%
          บรรษัทรับประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FDIC) ได้สั่งปิด SVB เพื่อปกป้องผู้ฝากเงิน ขณะที่วิกฤตของ SVB ได้สร้างแรงกดดันให้กับหุ้นธนาคารทั่วโลก
          SVB ไม่สามารถเพิ่มงบดุลบัญชีผ่านการเสนอขายหุ้นเมื่อวันพุธ (8 มี.ค.) ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ซิลเวอร์เกต แคปิตอลเปิดเผยว่าจะต้องยุติการดำเนินงานของซิลเวอร์เกตแบงก์ซึ่งเป็นธนาคารในเครือ หลังจากขาดทุนอย่างหนักจากการล้มละลายของบริษัทเอฟทีเอ็กซ์ซึ่งเป็นบริษัทซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี
          ดัชนี KBW หุ้นกลุ่มธนาคารและหุ้นกลุ่มการเงินของดัชนี S&P500 เผชิญแรงกดดันตลอดทั้งวัน
          ตลาดปรับตัวลงหลังได้แรงหนุนในช่วงแรกจากการเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานของสหรัฐที่ชะลอตัวลง โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 311,000 ตำแหน่งในเดือนก.พ. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 225,000 ตำแหน่ง แต่ชะลอตัวจากระดับ 504,000 ตำแหน่งในเดือนม.ค.
          ส่วนอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.6% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.4%
          นอกจากนี้ ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 0.2% เมื่อเทียบรายเดือน ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.4% และเพิ่มขึ้น 4.6% เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.8%
          ข้อมูลการจ้างงานที่ชะลอตัวลงดังกล่าวได้ช่วยคลายความวิตกที่ว่า เฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเดือนนี้
          สำหรับหุ้นรายตัวที่ปรับตัวลง อาทิ หุ้นแก๊ป อิงค์ ร่วงลง หลังเปิดเผยยอดขาดทุนไตรมาส 4 มากกว่าคาด และคาดการณ์แนวโน้มผลประกอบการทั้งปีต่ำกว่าคาด
          หุ้นออราเคิล ร่วงลง หลังเปิดเผยคาดการณ์รายได้ไตรมาส 3 ต่ำกว่าคาด
โดย กัลยาณี ชีวะพานิช


ภาวะตลาดน้ำมัน: น้ำมัน WTI ปิดบวก 96 เซนต์ ดอลล์อ่อนหนุนแรงซื้อ
          สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 มี.ค. 2566)--สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดปรับตัวขึ้นในวันศุกร์ (10 มี.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ รวมถึงจากการเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานที่แข็งแกร่งของสหรัฐซึ่งบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจมีการขยายตัว และจะทำให้ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น
          ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนเม.ย.เพิ่มขึ้น 96 เซนต์ หรือ 1.27% ปิดที่ 76.68 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่ร่วงลง 3.8% ในรอบสัปดาห์นี้
          ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ค.เพิ่มขึ้น 1.19 ดอลลาร์ หรือ 1.46% ปิดที่ 82.78 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่ลดลงเกือบ 3.6% ในรอบสัปดาห์นี้
          นักลงทุนได้พากันเข้าซื้อสัญญาน้ำมันหลังจากที่ราคาร่วงลงในช่วงที่ผ่านมา
          การอ่อนค่าของดอลลาร์ช่วยหนุนแรงซื้อสัญญาน้ำมันด้วย โดยการอ่อนค่าของดอลลาร์ทำให้สัญญาน้ำมันดิบซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีราคาถูกลงและน่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่น ๆ
          ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.68% สู่ระดับ 104.5913
          นอกจากนี้ สัญญาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นขานรับแนวโน้มเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและอุปสงค์พลังงานที่เพิ่มขึ้น หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 311,000 ตำแหน่งในเดือนก.พ. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 225,000 ตำแหน่ง แต่ชะลอตัวจากระดับ 504,000 ตำแหน่งในเดือนม.ค. ขณะที่อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.6% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.4%
โดย กัลยาณี ชีวะพานิช


ภาวะตลาดทองคำนิวยอร์ก: ทองปิดบวก $32.60 วิตกภาคธนาคารหนุนแรงซื้อทอง
          สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 มี.ค. 2566)--สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันศุกร์ (10 มี.ค.) โดยได้แรงซื้อในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับปัญหาในภาคธนาคารของสหรัฐ หลังการสั่งปิดกิจการธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) นอกจากนี้ การอ่อนค่าของดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ลดลงหลังการเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานที่ชะลอตัวนั้น ได้ช่วยหนุนแรงซื้อทองคำด้วย
          ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 32.60 ดอลลาร์ หรือ 1.78% ปิดที่ 1,867.20 ดอลลาร์/ออนซ์ และปรับตัวขึ้น 0.7% ในรอบสัปดาห์นี้
          สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 34.10 เซนต์ หรือ 1.69% ปิดที่ 20.506 ดอลลาร์/ออนซ์
          สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 12.90 ดอลลาร์ หรือ 1.36% ปิดที่ 962.20 ดอลลาร์/ออนซ์
          สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 12.40 ดอลลาร์ หรือ 0.9% ปิดที่ 1,362.30 ดอลลาร์/ออนซ์
          สัญญาทองคำได้แรงหนุนจากข้อมูลที่บ่งชี้ว่าอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นในเดือนก.พ. โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 311,000 ตำแหน่งในเดือนก.พ. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 225,000 ตำแหน่ง แต่ชะลอตัวจากระดับ 504,000 ตำแหน่งในเดือนม.ค. ขณะที่อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.6% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.4%
          กรมคุ้มครองการเงินและนวัตกรรมแห่งแคลิฟอร์เนียและบรรษัทประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FDIC) ได้สั่งปิดกิจการธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ (SVB) หลังจากบริษัทเอสวีบี ไฟแนนเชียล กรุ๊ปซึ่งเป็นบริษัทแม่เปิดเผยว่า บริษัทขาดทุนอย่างหนักจากการขายหลักทรัพย์เมื่อวันพฤหัสบดี (9 มี.ค.)
          การปิดกิจการ SVB ทำให้เกิดความวิตกเกี่ยวกับผลกระทบในภาคธนาคาร ซึ่งเป็นแรงหนุนให้นักลงทุนเข้าซื้อทองในฐานะแหล่งลงทุนที่ปลอดภัย
          ดัชนีดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ลดลง หลังการเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานสหรัฐนั้น ได้ช่วยหนุนราคาทองด้วย
          การอ่อนค่าของดอลลาร์ทำให้สัญญาทองคำซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีราคาถูกลงและน่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่น ๆ โดยดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.68% สู่ระดับ 104.5913
          ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ลดลง จะช่วยลดต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำ เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย
          บรรดานักลงทุนรอการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐในวันอังคารหน้า (14 มี.ค.) เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากเพียงใดในการประชุมนโยบายการเงินในเดือนนี้
โดย กัลยาณี ชีวะพานิช