ผู้เขียน หัวข้อ: ส่งออกมือก่ายหน้าผาก ตลาดสหรัฐเริ่มแผ่ว ข้าว ทูน่า การ์เมนต์ ออร์เดอร์วูบ  (อ่าน 115 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 87492
    • ดูรายละเอียด

ส่งออกมือก่ายหน้าผาก ตลาดสหรัฐเริ่มแผ่ว ข้าว ทูน่า การ์เมนต์ ออร์เดอร์วูบ

ฐานเศรษฐกิจ
09 พ.ค. 2568 | 05:41 น.

ส่งออกไทยไปสหรัฐป่วน ออร์เดอร์เริ่มแผ่ว คู่ค้าชะลอนำเข้า หลังตุนสต๊อกเต็มพิกัด ก่อนเส้นตาย 90 วัน ?ทรัมป์? ชะลอขึ้นภาษีตอบโต้ ?ข้าว ถุงมือยาง ทูน่ากระป๋อง อาหารสัตว์เลี้ยง เครื่องนุ่งห่ม? ผวาออร์เดอร์วูบหนัก ด้าน สรท.จี้รัฐเร่งแผนดันตลาดใหม่
การส่งออกของไทยไปสหรัฐช่วง 3 เดือนแรกปี 2568 ที่ขยายตัวสูงถึง 25% (รูปดอลลาร์สหรัฐ) สะท้อนถึงความตื่นตระหนกของผู้ส่งออกไทย และผู้นำเข้าของสหรัฐที่ได้เร่งส่งออก-นำเข้าระหว่างกัน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ?โดนัลด์ ทรัมป์? ผู้นำสหรัฐอเมริกา ได้ส่งสัญญาณจะปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากทั่วโลก เพื่อลดการขาดดุลการค้า ซึ่งต่อมาสหรัฐได้ประกาศเก็บภาษีศุลกากรพื้นฐาน (Baseline Tariff) ในอัตรา 10% กับคู่ค้าทุกประเทศ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2568

ขณะที่ภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ประเทศที่เกินดุลการค้าสหรัฐที่จะเรียกเก็บในอัตรา 11-50% (ไทย 36%) ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 เมษายน ได้ถูกชะลอออกไป 90 วัน

ทั้งนี้ก่อนเส้นตายที่สหรัฐได้ชะลอการปรับขึ้นภาษีตอบโต้(จะครบกำหนด 8 ก.ค. 2568) ผู้นำเข้าของสหรัฐได้มีคำสั่งซื้อสินค้า(ออร์เดอร์) จำนวนมากจากทั่วโลก รวมถึงสินค้าไทย เพื่อนำไปตุนสต๊อก ก่อนที่จะมีการจัดเก็บภาษีตอบโต้ ซึ่งจะทำให้สินค้านำเข้ามีต้นทุนที่สูงขึ้น ระหว่างนี้สหรัฐได้เปิดให้แต่ละประเทศได้เจรจาต่อรองเรื่องอัตราภาษี และ ?ยื่นหมูยื่นแมว? เรื่องผลประโยชน์ระหว่างกัน

อย่างไรก็ดีล่าสุด ?ฐานเศรษฐกิจ? ตรวจสอบพบว่า ออร์เดอร์สั่งซื้อสินค้าจากสหรัฐส่วนใหญ่เริ่มแผ่วลง สอดคล้องกับระยะเวลาการชะลอการขึ้นภาษีเริ่มสั้นลงเรื่อย ๆ

ออร์เดอร์ข้าวเริ่มชะลอ
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เผยว่า การส่งออกข้าวไทยไปสหรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าวหอมมะลิ และข้าวในกลุ่มข้าวหอมที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก (3 เดือนแรกปี 2568 ไทยส่งออกข้าวไปสหรัฐมูลค่า 7,452 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในจำนวนนี้เป็นข้าวหอมมะลิมูลค่า 5,767 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24%) มีปัจจัยหลักจากสหรัฐจะมีการปรับขึ้นภาษีนำเข้า ทำให้ลูกค้าได้เร่งสั่งซื้อเพื่อนำไปตุนสต๊อกไว้จำหน่ายในต้นทุนเดิม

อีกปัจจัยหนึ่งเป็นผลพวงจากผู้บริโภคในสหรัฐในกลุ่มเชื้อสายฮิสแปนิกที่นิยมบริโภคข้าวคล้ายคนเอเชียมีความต้องการบริโภคข้าวเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง จึงมีการนำเข้าเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม จากการขายข้าวให้คู่ค้าในสหรัฐเป็นการให้เครดิตในการจ่ายเงินค่าสินค้า เช่นให้เครดิตในการชำระเงินหลังสินค้าไปถึงแล้ว 45-60 วัน แล้วแต่จะตกลงกันซึ่งพอมียอดการสั่งซื้อเข้ามามาก ผู้ส่งออกไทยก็มีความกังวลว่าคู่ค้าจะติดหนี้มากขึ้น และหากมีการเบี้ยวเรื่องการชำระเงินขึ้นมาก็จะมีความเสี่ยงเรื่องสภาพคล่องได้ ดังนั้นบางรายจึงได้ลดปริมาณการขายให้คู่ค้าลง เช่น สั่งซื้อ 1,000 ตัน อาจจะขอส่งมอบให้เพียง 400-500 ตัน เป็นต้น

?ในช่วงนี้หลังระยะเวลาการชะลอขึ้นภาษี 90 วันของสหรัฐเริ่มนับถอยหลัง คำสั่งซื้อก็จะเริ่มแผ่วลงตาม เพราะสินค้าต้องเร่งส่งมอบภายใน 90 วัน หากผ่าน 2 เดือนหรือ 60 วันไปแล้วที่เขาชะลอขึ้นภาษี ผมว่าเขาคงหยุดซื้อแล้ว และหลังครบ 90 วันและทราบผลการเจรจาระหว่างไทยกับสหรัฐ ไม่ว่าภาษีตอบโต้ที่สหรัฐจะเก็บจากไทยเท่าไร เช่น 10% 20% หรือ 30% คาดการสั่งซื้อก็จะหยุดชะงักไปซักพักหนึ่ง เพราะเขายังใช้สต๊อกที่ซื้อไปล่วงหน้า?

ส่งออกมือก่ายหน้าผาก ตลาดสหรัฐเริ่มแผ่ว ข้าว ทูน่า การ์เมนต์ ออร์เดอร์วูบ

ถุงมือยางยังเสียเปรียบมาเลย์
นายอดิศักดิ์ กองวารี นายกสมาคมถุงมือยางไทย กล่าวว่า ตัวเลขการส่งออกถุงมือยางไทยไปสหรัฐช่วง 3 เดือนแรกปีนี้ มีมูลค่า 5,274 ล้านบาท ขยายตัว 5.5% ถือว่าขยายตัวไม่หวือหวา เนื่องจากเวลานี้ผู้ส่งออกถุงมือยางอันดับ 1 ของโลก และผู้ส่งออกถุงมือยางอันดับ 1 ไปสหรัฐคือ มาเลเซีย ซึ่งช่วงที่ผ่านมาผู้ส่งออกถุงมือยาง 3 อันดับแรกของโลกตามลำดับได้แก่ มาเลเซีย จีน และไทย

ในช่วงที่ผ่านมาไทยส่งออกถุงมือยางไปสหรัฐได้เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งจากได้รับคำสั่งซื้อเพื่อทดแทนสินค้าจีนที่ถูกสหรัฐปรับขึ้นภาษีนำเข้าสูงถึง 145% และลูกค้าได้เร่งนำเข้าไปตุนสต๊อก ก่อนถูกเก็บภาษีเพิ่ม และเวลานี้ได้เริ่มชะลอการนำเข้า อย่างไรก็ดีนับจากนี้การส่งออกถุงมือยางของไทยไปสหรัฐจะเพิ่มขึ้นได้มากน้อยเพียงใด ขึ้นกับอัตราภาษีตอบโต้ที่ไทยจะได้รับหลังจากรัฐบาลไทยได้มีการเจรจากับสหรัฐแล้วจะออกมาในอัตราเท่าใด แต่ในเบื้องต้น มาเลเซียจะถูกเก็บภาษี 24% ไทย 36% ซึ่งยังมีช่วงห่างกันอยู่ 12% ถือว่าไทยยังเสียเปรียบมาเลเซียมาก และไทยอาจเสียส่วนแบ่งตลาดสหรัฐให้มาเลเซียเพิ่มขึ้น

"ทูน่า-อาหารสัตว์เลี้ยง" กังวลภาษีสูง
ด้านนายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทย เผยว่า การนำเข้าสินค้าทูน่า และอาหารสัตว์เลี้ยงของสหรัฐที่เพิ่มขึ้นมากในช่วงนี้ มาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ เป็นการนำปกติ และอีกส่วนหนึ่งเร่งนำเข้าก่อนภาษีตอบโต้จะมีผลบังคับใช้

ขณะที่ตัวเลขการส่งออกทูน่ากระป๋องของไทยไปสหรัฐที่เพิ่มขึ้นช่วง 3 เดือนแรกปีนี้ (มูลค่า 4,181 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15%) และอาหารสัตว์เลี้ยง ที่ใช้ชิ้นส่วนปลาทูน่าเป็นวัตถุดิบ (มูลค่า 8,737 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29%) ยังเป็นผลจากราคาวัตถุดิบปลาทูน่าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

ล่าสุดช่วงไตรมาสแรกปีนี้ ราคาวัตถุดิบปลาทูน่านำเข้าเฉลี่ยที่ 1,700 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน จากปีที่แล้วเฉลี่ยที่ 1,400 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน หรือเพิ่มขึ้นกว่า 20% ส่งผลมีต้นทุนเพิ่มขึ้น และต้องปรับราคาขายสินค้าสูงขึ้นตาม เวลานี้คู่ค้าในสหรัฐเริ่มชะลอการสั่งซื้อ เพราะส่วนใหญ่ได้เร่งนำเข้าไปตุนสต๊อก และรอดูว่าอัตราภาษีตอบโต้ของไทยจะถูกสหรัฐจัดเก็บในอัตราเท่าใด ซึ่งจะมีผลต่อการสั่งซื้อสินค้าในระยะต่อไป

?ภาพรวมการส่งออกทูน่าไทย ถ้าไม่มีเรื่องภาษีทรัมป์คาดปีนี้จะโตได้ 5-10% ส่วนอาหารสัตว์เลี้ยงน่าจะโตได้ 15% แต่พอมาเจออย่างนี้ก็ประเมินลำบาก เพราะนโยบายทรัมป์เปลี่ยนเป็นรายสัปดาห์ เป็นรายเดือน แต่ถ้าเราเจอภาษี 36% ก็คงมีผลกระทบมากพอสมควร เพราะสหรัฐคือตลาดหลักของเรา ทั้งนี้ในเรื่องที่ไทยส่งชาวอุยกูร์ให้จีน และการดำเนินคดีกับ ดร.พอล แชมเบอร์ส อาจจะมีผลต่อการตัดสินใจของสหรัฐในเรื่องการเก็บภาษีไทย ซึ่งเราก็มีความกังวล?

เครื่องนุ่งห่มลุ้นระทึก
ด้าน นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ กรรมการที่ปรึกษา และอดีตนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า การส่งออกเครื่องนุ่งห่มของไทยไปสหรัฐช่วง 3 เดือนแรกปีนี้มีมูลค่า 218 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (7,382 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 23% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีส่วนสำคัญจากออร์เดอร์ที่สั่งซื้อกันไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ช่วงนี้อาจมีคำสั่งซื้อเพื่อเร่งส่งมอบให้ทันภายใน 90 วันที่สหรัฐชะลอขึ้นภาษีตอบโต้บ้าง เพื่อนำสินค้าไปตุนสต๊อก

อย่างไรก็ดี หลังจากนี้ที่การชะลอการเก็บภาษีตอบโต้เหลืออีกประมาณ 60 วัน คำสั่งซื้อคงชะลอตัวลง และหากอัตราภาษีตอบโต้ได้ข้อสรุปตัวเลขสุดท้ายหลังรัฐบาลไทยได้เจรจากับรัฐบาลสหรัฐแล้ว คู่ค้าคงกลับมาลงออเดอร์ใหม่ (ปกติสินค้าเครื่องนุ่งห่มสั่งซื้อล่วงหน้า 7-8 เดือน) แต่จะมาลงที่ไทยมากน้อยเพียงใดนั้น ลูกค้าคงนำอัตราภาษีของไทยไปเปรียบเทียบกับคู่แข่งขัน เช่น เวียดนาม กัมพูชา อินโดนีเซียว่าจะถูกสหรัฐเก็บในอัตราเท่าใด ซึ่งลูกค้าคงนำเข้าจากประเทศที่ได้รับอัตราภาษีต่ำสุดเป็นหลัก

สรท.ชี้เป็นนาฬิกาปลุก-เร่งปรับตัว
นายธนากร เกษตรสุวรรณ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า จากที่สหรัฐได้ชะลอการเก็บภาษีตอบโต้ออกไป 90 วัน จากการติดตามสถานการณ์พบว่าในเกือบทุกกลุ่มสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปสหรัฐได้รับอานิสงส์มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น แต่เริ่มชะลอตัวลง เพราะก่อนหน้านี้คู่ค้าได้มีการสั่งนำเข้าสินค้าเข้าไปตุนสต๊อกเป็นจำนวนมาก เห็นได้จากตัวเลขการส่งออกของไทยในภาพรวมทุกตลาดช่วง 3 เดือนแรกปีนี้ขยายตัวถึง 15% และการส่งออกไปสหรัฐขยายตัวสูงถึง 25%

สำหรับคำสั่งซื้อในช่วงนี้ จะเริ่มชะลอตัวลง ซึ่งจะทำให้ตัวเลขการส่งออกในไตรมาสที่ 2 ของไทยจะแผ่วลง และหากทราบผลตัวเลขอัตราภาษีตอบโต้ที่สหรัฐจะเก็บจากไทยมีความชัดเจนหลังมีการเจรจาแล้ว หากอัตราภาษีของไทยสูงกว่าคู่แข่งขัน การสั่งซื้อสินค้าจากไทยจะมีการซื้อขายลดลง และคู่ค้าอาจจะหันไปนำเข้าจากประเทศอื่นที่ได้เปรียบไทยด้านภาษีนำเข้าที่ต่ำกว่ามากขึ้น เพราะสัญญาณจากผู้บริโภคในสหรัฐในเรื่องภาษีนี้ทำให้คนตื่นตระหนกและลดการใช้จ่าย

ล่าสุดจากการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ณ เดือนพฤษภาคม 2568 ได้ปรับลดคาดการณ์ส่งออกไทยลงเหลือ 0.3-0.9% กรณีไทยถูกเก็บภาษีตอบโต้ที่ 10% และจะติดลบ 2% กรณีไทยถูกเก็บภาษีตอบโต้ 36% มองว่าน่าจะมีความใกล้เคียงกับข้อเท็จจริง เนื่องจากตัวเลขการส่งออกในไตรมาสที่ 1-2 ของไทยคาดยังขยายตัว แต่ในครึ่งปีหลังที่ภาษีตอบโต้มีผลบังคับใช้แล้วการส่งออกไทยจะชะลอตัวลง

?สถานการณ์การค้าที่เกิดขึ้นเปรียบเสมือน wake-up call หรือนาฬิกาปลุกให้ไทยต้องเร่งปรับตัว ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการในเวลานี้คือ การเตรียมแผนเจรจากับสหรัฐเพื่อให้ได้ดีลภาษีที่ดีที่สุด และไม่เสียเปรียบในการแข่งขัน รวมถึงการวางแผนทำการบ้านว่า การส่งออกของไทย ในกลุ่มสินค้าใดจะไปตลาดไหนที่เราและคู่ค้ามีความสะดวกใจที่จะค้าขายกัน และในกรอบข้อตกลงการค้าใด? นายธนากร กล่าว

ส่งออกมือก่ายหน้าผาก ตลาดสหรัฐเริ่มแผ่ว ข้าว ทูน่า การ์เมนต์ ออร์เดอร์วูบ