ผู้เขียน หัวข้อ: วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557  (อ่าน 1219 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 88287
    • ดูรายละเอียด

วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง

วันพฤหัสบดีที่  6  พฤศจิกายน  พ.ศ. 2557


ปัจจัย


วิเคราะห์


1. สภาพภูมิอากาศ


- หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมอ่าวเบงกอลได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชั่น  และมีทิศทางเคลื่อนตัวทางทิศเหนือของเมียนมาร์ ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคเหนือ ภาคกลางและภาคใต้ตอนบน มีฝนตกร้อยละ 60 ของพื้นที่ และตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ซึ่งส่งผลกระทบต่อการกรีดยาง


2. การใช้ยาง


- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า หลังจากที่กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับธนาคารออมสิน ตั้งโครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยางเพื่อขยายกำลังการผลิตหรือปรับเปลี่ยนเครื่องจักรการผลิตภายใต้วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท โดยผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกของสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทยทั้งหมด 14 ราย สนใจที่จะเข้าร่วมขอสินเชื่อปรับเปลี่ยนครื่องจักรในครั้งนี้ ซึ่งจะลงทุนขยายกำลังการผลิตให้เสร็จสิ้นภายใน 3 ปี คาดว่าจะเพิ่มปริมาณการใช้น้ำยางพาราได้ประมาณ 4 แสนตันต่อปี เพิ่มปริมาณสินค้าได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80.0 จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิต 3-4 หมื่นล้านชิ้นต่อปี


3.เศรษฐกิจโลก


- HSBC โฮลดิ้งส์ เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของจีนในเดือนตุลาคม ลดลงแตะ 52.9 จาก 53.5 ในเดือนกันยายน


- มาร์กิต อิโคโนมิกส์ เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายของเดือน ตุลาคม ของสหรัฐฯ อยู่ที่ระดับ 57.1 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน หรือในรอบ 6 เดือน ลดลงจากระดับ 58.9 ในเดือนกันยายน


- ธนาคารยูบีเอส คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนจะยังคงขยายตัวในระดับปานกลางในอีก 2 ปีข้างหน้า  เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศมีแนวโน้มอ่อนแอลง อันเนื่องมาจากการปรับตัวขาลงของตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยคาดว่าการขยายตัวของ GDP ของจีนจะชะลอตัวลงมาอยู่ที่ร้อยละ 6.8 ในปี 2558 และร้อยละ 6.5 ในปี 2559


- ผลสำรวจของมาร์กิต แสดงให้เห็นว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการของยูโรโซนในเดือนตุลาคม แตะ 52.1 จากระดับ 52.0 ในเดือนกันยายน และจากตัวเลขเบื้องต้นเดือนตุลาคม ที่ 52.2


ผลสำรวจของมาร์กิตเผยให้เห็นว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของเยอรมนีลดลงแตะ 54.4 ในเดือนตุลาคม จากระดับ 55.7 ในเดือนกันยายน
ภาคบริการของฝรั่งเศสในเดือนตุลาคม ลดลงแตะ 48.3 ซึ่งต่ำสุดในรอบ 4 เดือน จาก 48.4 ในเดือนกันยายน
ภาคบริการของอิตาลีในเดือนตุลาคม ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 50.8 จาก 48.8 ในเดือนกันยายน ซึ่งเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 3 เดือน
ภาคบริการของสเปนในเดือนตุลาคม ขยับขึ้นเล็กน้อย แตะ 55.9 จาก 55.8 ในเดือนกันยายน ซึ่งส่งสัญญาณถึงการเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งของกิจกรรมในภาคบริการของสเปน
4. อัตราแลกเปลี่ยน


- เงินบาทอยู่ที่ 32.81 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ อ่อนค่า 0.15 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐและเงินเยนอยู่ที่ 114.92 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ อ่อนค่า 1.39 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ


- ดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นเมื่อเทียบสกุลเงินหลัก อื่น ๆ เมื่อคืนนี้( 5 พฤศจิกายน) จากข้อมูลจ้างงานที่สดใส ขณะที่ชัยชนะของพรรคริพับลิกันในการเลือกตั้งกลางเทอมได้หนุนคาดการณ์ที่ว่าจะมีการดำเนินนโยบายที่เอื้อต่อธุรกิจมากขึ้นในสหรัฐฯ โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นเทียบกับสกุลเงินเยนที่ 114.8 เยน ซึ่งเป็นระดับที่เงินเยนอ่อนค่าสุดในรอบ 7 ปี


5. ราคาน้ำมัน


- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymex ส่งมอบเดือน ธันวาคม ปิดตลาดที่ 78.68 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.49 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล หลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยว่าสต๊อคน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่มากเท่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งช่วยให้นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับภาวะชะลอตัวของอุปสงค์พลังงานในสหรัฐฯ ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เพิ่มขึ้น 1.49 ดอลลาร์ ปิดที่ 82.95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล


- สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยว่าสต๊อคน้ำมันดิบสหรัฐฯ ในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 31 ตุลาคม ปรับตัวเพิ่มขึ้น 460,000 บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.2 ล้านบาร์เรล


6. การเก็งกำไร


- ราคา TOCOM ส่งมอบเดือนธันวาคม 2557 อยู่ที่ 185.5 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 0.5 เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนเมษายน  2558 อยู่ที่ 193.9 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 1.3 เยนต่อกิโลกรัม


- ราคาตลาด SICOM เปิดตลาดที่ 160.2 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม ลดลง 5.2 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม


7. ข่าว


- ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สาขาเซนต์หลุยต์ได้แสดงความคิดเห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากเฟดแต่อย่างใด และการตัดสินใจยุติโครงการซื้อพันธบัตรเมื่อสัปดาห์ที่แล้วยังคงเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง


- ADP ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยตลาดแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ตัวเลขจ้างงานของภาคเอกชนปรับตัวขึ้น 230,000 ตำแหน่ง ในเดือน ตุลาคม ซึ่งสูงกว่าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 220,000 ราย และนับเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกันที่ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเกิน 200,000 ตำแหน่ง


8. ข้อคิดเห็นของ ผู้ประกอบการ


- ราคายางปรับลดลงเล็กน้อยตามตลาดต่างประเทศ  อย่างไรก็ตามราคาจะยังไม่ปรับลงมากในระยะนี้ เพราะผลผลิตมีน้อย ผู้ประกอบการยังมีความต้องการซื้อเพื่อส่งมอบและข่าวการเข้ามาซื้อยางขององค์การสวนยางยังเป็นปัจจัยด้านบวกอยู่ในระดับหนึ่ง




แนวโน้ม ราคายางมีแนวโน้มทรงตัวหรือเปลี่ยนแปลงในช่วงแคบ ๆ โดยมีปัจจัยบวกจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น และการอ่อนค่าของเงินบาท รวมทั้งค่าเงินเยนที่อ่อนค่าสุดในรอบ 7 ปี ประกอบกับอุปทานยางยังคงมีน้อยและข่าวการเข้ามาซื้อยางขององค์การสวนยาง ขณะที่ปัจจัยลบมาจากความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนและยูโรโซนที่อ่อนแอ อาจจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกโดยรวม








ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา