ผู้เขียน หัวข้อ: วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง วันศุกร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557  (อ่าน 1166 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 88287
    • ดูรายละเอียด

วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง

วันศุกร์ที่  7  พฤศจิกายน  พ.ศ. 2557


ปัจจัย


วิเคราะห์


1. สภาพภูมิอากาศ


- หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงจากทะเลจีนใต้ทางตะวันออกของจังหวัดสงขลาจะเคลื่อนผ่านภาคใต้ตอนล่าง ทำให้ภาคใต้ฝั่งตะวันออกตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไปมีฝนตก ร้อยละ 70 ของพื้นที่และตกหนักบางแห่ง ส่งผลกระทบต่อการกรีดยาง


2. การใช้ยาง


- ข้อมูลของคณะกรรมการยางอินเดียพบว่า ปริมาณการผลิตยางในเดือนกันยายนลดลงเหลือ 60,000 ตัน จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 80,000 ตัน เนื่องจากราคายางที่ตกต่ำ ประกอบกับค่าจ้างและค่าปุ๋ยสูงขึ้นจนทำให้เกษตรกรหลายรายงดกรีดยาง ขณะที่การบริโภคยางในเดือนกันยายนเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 อยู่ที่ 85,500 ตัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 80,550 ตัน ขณะเดียวกันก็มีการนำเข้ายางเป็นจำนวนมาก เนื่องจากการกระตุ้นโดยกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศของอินเดีย โดยช่วงเดือนเมษายน - กันยายน มีการนำเข้ายางจำนวน 225,652 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของ
ปีก่อนที่ 181,700 ตัน หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 24.0


3. เศรษฐกิจโลก


- กระทรวงเศรษฐกิจเยอรมันเปิดเผยว่า คำสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรมเดือนกันยายนเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 ต่ำกว่ามากเมื่อเทียบกับที่คาดว่าจะปรับตัวขึ้นร้อยละ 2.0


- ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สาขามินเนอาโพลิส กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า การดำเนินการของเฟดที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีหน้ามีแนวโน้มจะเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม โดยระบุว่าเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มต่ำกว่าร้อยละ 2.0 อย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่าจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าที่เงินเฟ้อจะกลับมาสู่เป้าหมายอีกครั้ง โดยเขาคาดว่าเงินเฟ้อจะยังไม่แตะเป้าหมายร้อยละ 2.0 จนกว่าจะถึงปี 2561


- ธนาคารกลางยุโรป (ECB.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 0.05 ซึ่งเป็นไปตามคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ ท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจภูมิภาคที่ย่ำแย่ลง และอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำมาก โดยอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนอยู่ที่ร้อยละ 0.4 ในเดือนตุลาคม เป็นเดือนที่ 13 ติดต่อกันที่ตัวเลขเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 1.0 เนื่องจากเศรษฐกิจยุโรปตอนใต้อ่อนแอลง และราคาพลังงานปรับตัวลดลง


- สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ (ONS) เปิดเผยว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนกันยายนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบเป็นรายปี และเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 จากเดือนก่อน สูงกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่ร้อยละ 0.4


- กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานว่า ช่วงไตรมาส 3 ประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานนอกภาคการเกษตรขยายตัวร้อยละ 2.0 ต่อปี ขณะที่ต้นทุนแรงงานต่อหน่วยซึ่งเป็นสัดส่วนผลตอบแทนรายชั่วโมงต่อประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 ต่อปี


- องค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปี 2557 ลงสู่ร้อยละ 3.3 จากเดิมที่ร้อยละ 3.4 และคาดว่าเศรษฐกิจปี 2558 จะขยายตัวร้อยละ 3.7 ลดลงจากร้อยละ 3.9 พร้อมกับผลักดันให้ธนาคารกลาง-
ยุโรปเร่งใช้มาตรการเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจยูโรโซนที่กำลังชะลอตัวจนฉุดรั้งให้เศรษฐกิจทั่วโลกอ่อนแรงลงตามไปด้วย


- ธนาคารกลางจีนประกาศว่า ธนาคารได้อัดฉีดเงิน 7.695 แสนล้านหยวนเข้าสู่ระบบธนาคารในเดือนกันยายนและตุลาคม ผ่านโครงการปล่อยสินเชื่อระยะกลาง โดยธนาคารกลางจีนเปิดเผยว่าในเดือนกันยายนและตุลาคมได้ปล่อยเงินกู้ระยะ 3 เดือนที่อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.5 ให้แก่ธนาคารพาณิชย์ วงเงิน 5 แสนล้านหยวน และ 2.695 แสนล้านหยวน ซึ่งเป็นการช่วยนำทางให้ธนาคารพาณิชย์ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และต้นทุนการระดมทุนลง อีกทั้งยังเป็นการขยายตัวของเศรษฐกิจ


- ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) แถลงว่า ECB พร้อมที่จะดำเนินมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมหากจำเป็น โดยโครงการซื้อสินทรัพย์จะดำเนินไปอย่างน้อย 2 ปี ร่วมกับการปล่อยสินเชื่อระยะยาว ซึ่งจะทำให้งบดุลของ ECB มีขนาดใหญ่ขึ้นสู่ระดับเดียวกับเมื่อช่วงต้นปี 2555


4. อัตราแลกเปลี่ยน


- เงินบาทอยู่ที่ 32.89 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ อ่อนค่าลง 0.08 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ


- เงินเยนอยู่ที่ 115.33 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ อ่อนค่าลง 0.41 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ


5. ราคาน้ำมัน


- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymex ส่งมอบเดือนธันวาคม ปิดตลาดที่ 77.91 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 0.77 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล หลังจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) ปรับลดความต้องการน้ำมันดิบทั่วโลก นอกจากนี้ยังได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐ


- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ตลาดลอนดอน ส่งมอบเดือนธันวาคม ปิดที่ 82.86 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 0.09 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล


6. การเก็งกำไร


- ราคาตลาด TOCOM ส่งมอบเดือนธันวาคม 2557 อยู่ที่ 191.0 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 0.4 เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนเมษายน 2558 อยู่ที่ 199.0 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 4.6 เยนต่อกิโลกรัม


- ราคาตลาด SICOM เปิดตลาดที่ 163.2 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 3.0 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม


7. ข่าว


- กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยว่า จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานในรอบสัปดาห์ สิ้นสุดวันที่ 1 พฤศจิกายน 2557 ปรับตัวลง 100,100 ราย อยู่ที่ 278,000 ราย นับเป็นสัปดาห์ที่ 8 ติดต่อกันที่ตัวเลขดังกล่าวอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 300,000 ราย บ่งชี้ว่าการจ้างงานยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่การเลิกจ้างงานแตะระดับต่ำสุดในรอบหลายปี


8. ข้อคิดเห็นของผู้ประกอบการ


- ราคาปรับตัวสูงขึ้นได้อีก เพราะปัจจัยพื้นฐานผลผลิตยางมีน้อย ขณะที่ผู้ประกอบการยังต้องซื้อเพื่อส่งมอบในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี โดยหลายรายยังขาดแคลนยาง อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกบางส่วนยังติดสัญญาส่งมอบในราคาต่ำ เมื่อราคาปรับตัวสูงมากก็จะขาดทุน จึงต้องกดราคาลงมาในบางช่วง แต่ในสภาพที่อุปทานยางมีน้อย ทำให้ไม่สามารถกดราคาได้มาก ราคาจึงปรับตัวขึ้นมาได้อีก






แนวโน้ม ราคายางมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามตลาดล่วงหน้าโตเกียวจากการอ่อนค่าของเงินเยนและเงินบาท ประกอบกับนักลงทุนขานรับข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐฯ และธนาคารกลางยุโรปจะยังคงเดินหน้าใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งธนาคารกลางจีนประกาศอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบธนาคารพาณิชย์อัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ นอกจากนี้การเริ่มเข้ามาซื้อยางขององค์การสวนยางยังเป็นปัจจัยหนุนราคายางได้ในระดับหนึ่ง








ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา