วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง
วันจันทร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557
ปัจจัย
วิเคราะห์
1. สภาพภูมิอากาศ
- ประเทศไทยตอนบนอากาศเย็นลง อุณหภูมิลดลง 2 - 7 องศาเซลเซียส ส่วนภาคใต้ตอนล่างมีฝนเพิ่มขึ้นและตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีฝนร้อยละ 60 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา พัทลุง ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส สภาพอากาศไม่เอื้อต่อการกรีดยาง
2. การใช้ยาง
- คณะกรรมการผู้จัดงานไชน่าอินเตอร์เนชั่นแนล ออโตโมบิล คาดว่าทั้งยอดการผลิตและยอดจำหน่ายรถยนต์โดยรวมของจีนจะอยู่ที่ 24 ล้านคันในปี 2557 ทำสถิติเป็นอันดับ 1 ของโลกติดต่อกันเป็นปีที่ 6 ส่วนปี 2556 จีนผลิตรถยนต์โดยรวมได้มากกว่า 22 ล้านคัน ขณะที่ยอดจำหน่ายอยู่ที่ 21.98 ล้านคัน และช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 ทั้งการผลิตและการจำหน่ายต่างสูงกว่า 17 ล้านคัน
3. สต๊อคยาง
- สต๊อคยางจีน ณ วันที่ 14 พฤศจิกายน 2557 เพิ่มขึ้น 5,401 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.09 อยู่ที่ 180,234 ตัน จากระดับ 174,833 ตัน เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2557
4. เศรษฐกิจโลก
- รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3 หดตัวลงร้อยละ 1.6
- สำนักงานสถิติแห่งชาติฝรั่งเศสรายงานว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3 ขยายตัวร้อยละ 0.3 ซึ่งเป็นการขยายตัวที่แข็งแกร่งที่สุดในรอบกว่า 1 ปี อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของฝรั่งเศสยังคงซบเซา เนื่องจากรัฐบาลได้ปรับลดการใช้จ่ายลง 5 หมื่นล้านยูโรในระยะเวลา 3 ปี ขณะที่ภาคเอกชนลดการจ้างงานและการลงทุน ส่วนอัตราว่างงานยังอยู่ในระดับสูงถึงร้อยละ 10.5 เมื่อเทียบกับเยอรมันที่ร้อยละ 5.0
- สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมันรายงานว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3 สามารถพลิกกลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง โดยปรับตัวขึ้นร้อยละ 0.1 เพราะได้แรงหนุนจากการอุปโภค บริโภคในภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม การที่ GDP ขยายตัวเพียงเล็กน้อยสะท้อนให้เห็นว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยูโรโซนเป็นไปอย่างเชื่องช้า
- กระทรวงการคลังจีนเปิดเผยว่า รายได้ทางการคลังของจีนขยายตัวรวดเร็วขึ้นในเดือนตุลาคม ขณะที่ยอดการใช้จ่ายปรับตัวลดลงเนื่องจากได้มีการจ่ายเงินล่วงหน้าในโครงการสำคัญบางโครงการในช่วงหลายเดือนก่อนหน้านี้ โดยข้อมูลกระทรวงการคลังระบุว่า รายได้ทางการคลังเดือนตุลาคมเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งขยายตัวเพิ่มขึ้นจากอัตราร้อยละ 6.3 ในเดือนกันยายน
- กระทรวงการคลังสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ยอดขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นในเดือนตุลาคม เนื่องจากมีการปรับปีปฏิทิน โดยรายงานระบุว่ายอดขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ เดือนตุลาคมอยู่ที่ 1.22 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 34.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
- สำนักข่าวรอยเตอร์และมหาวิทยาลัยมิชิแกนรายงานว่า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนเพิ่มขึ้นแตะ 89.4 จุด จาก 86.9 จุดในเดือนตุลาคม สำหรับการคาดการณ์เรื่องเงินเฟ้อนั้นขยับตัวลง โดยการคาดการณ์เรื่องเงินเฟ้ออ่อนตัวลงแตะร้อยละ 2.6 จากร้อยละ 2.9 ในเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 7 ปี
- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกเดือนตุลาคมปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าการปรับตัวลงของราคาน้ำมันช่วงกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน ขณะที่สหรัฐฯ กำลังเข้าสู่ฤดูกาลจับจ่ายซื้อของ
- สำนักงานสถิติแห่งชาติสหภาพยุโรปรายงานว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในกลุ่มยูโรโซนไตรมาส 3 ขยายตัวร้อยละ 0.2 ขณะที่ GDP สหภาพยุโรปขยายตัวร้อยละ 0.3 จากไตรมาสก่อน
5. อัตราแลกเปลี่ยน
- เงินบาทอยู่ที่ 32.79 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 0.03 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ
- เงินเยนอยู่ที่ 116.03 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ อ่อนค่าลง 0.22 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ
6. ราคาน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymex ส่งมอบเดือนธันวาคม ปิดตลาดที่ 75.82 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.60 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อเพื่อเก็งกำไร หลังจากที่ราคาน้ำมันลดลงอย่างมากแตะระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปีเมื่อวันก่อน นอกจากนี้ภาวการณ์ซื้อขายได้แรงหนุนจากกระแสคาดการณ์ที่ว่ากลุ่มโอเปคอาจตัดสินใจลดกำลังการผลิตเพื่อหนุนราคาน้ำมันที่ลดลงต่ำกว่า 80 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล เป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี
- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ตลาดลอนดอน ส่งมอบเดือนธันวาคม ปิดที่ 79.41 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.92 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล
7. การเก็งกำไร
- ราคาตลาด TOCOM ส่งมอบเดือนธันวาคม 2557 อยู่ที่ 196.3 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 0.8 เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนเมษายน 2558 อยู่ที่ 206.4 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 1.3 เยนต่อกิโลกรัม
- ราคาตลาด SICOM เปิดตลาดที่ 166.0 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม ลดลง 2.0 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม
8. ข่าว
- ผู้นำภาคธุรกิจของญี่ปุ่นและสหรัฐฯ เรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นปรับขึ้นภาษีการบริโภคเป็นร้อยละ 10 ในปีหน้าตามที่วางแผนไว้ เพื่อปฏิบัติตามพันธสัญญาในการฟื้นฟูทางการคลัง
9. ข้อคิดเห็นของผู้ประกอบการ
- ราคายางทรงตัวหรือปรับตัวสูงขึ้นได้เล็กน้อย เพราะผลผลิตยังมีน้อย ฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ประกอบกับต้องแข่งขันกับองค์การสวนยาง ทำให้ผู้ประกอบการที่ต้องการยางต้องปรับราคาขึ้น
แนวโน้ม ราคายางมีแนวโน้มทรงตัวหรือเปลี่ยนแปลงในช่วงแคบ ๆ โดยมีปัจจัยบวกจากเงินเยนอ่อนค่าต่อเนื่องแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 7 ปี และอุปทานยางออกสู่ตลาดน้อยจากภาวะฝนตกหนักทางภาคใต้ของไทย ประกอบกับกระแสข่าวว่าในสัปดาห์นี้จะมีการเจรจาของ 3 ประเทศผู้ผลิตยางรายใหญ่ ขณะที่ปัจจัยลบมาจากราคาน้ำมันปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี และนักลงทุนชะลอซื้อ หลังมีรายงานว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3 ของญี่ปุ่นหดตัวลงร้อยละ 1.6 ขณะที่สต๊อคยางตลาดเซี่ยงไฮ้ของจีน ณ วันที่ 14 พฤศจิกายน 2557 ปรับตัวขึ้นแตะที่ 180,234 ตัน
ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา