ผู้เขียน หัวข้อ: หว่านเงินเกือบ 2 แสนล้านไร้ผล ยาง-ข้าวดิ่งไม่ถึงครึ่งรับจำนำ  (อ่าน 946 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 82776
    • ดูรายละเอียด
หว่านเงินเกือบ 2 แสนล้านไร้ผล ยาง-ข้าวดิ่งไม่ถึงครึ่งรับจำนำ

มาตรการยกระดับราคาข้าว-ยางกว่า 1.8 แสนล้านบาท ส่อ "เหลว" ราคาตกต่อเนื่อง หอมมะลิเหลือไม่ถึงหมื่นบาท โยนกันวุ่นทั้งโรงสี-ผู้ส่งออก "ยาง" ไม่น้อยหน้า Buffer Fund ซื้อแค่ 100 ตัน ต้องรอข่าวดีโละสต๊อกยางรัฐ 2 แสนตัน
หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) อนุมัติแนวทางรักษาเสถียรภาพราคาเพื่อแก้ไขปัญหาราคาข้าวเปลือกฤดูการผลิต 2557/2558 ตกต่ำ ตั้งแต่การลดต้นทุนการผลิตไร่ละ 432 บาท ตามด้วยมาตรการยกระดับราคาข้าวเปลือก ได้แก่ 1) สินเชื่อเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีและสินเชื่อเพื่อเตรียมข้าวเปลือก ขึ้นยุงฉางเกษตรกร วงเงิน 52,454 ล้านบาท 2) ค่าเช่าและเก็บรักษาข้าวเปลือกแก่เกษตรกรและสหกรณ์ 3,000 ล้านบาท 3) วงเงินชดเชยต้นทุนเงินที่ต้องขออนุมัติเพิ่มเติมอีก 2,980.16 ล้านบาทนอก จากนี้ยังมีการอนุมัติเงินให้กับโรงสีข้าวที่สมัครเข้าร่วมโครงการชดเชย ดอกเบี้ย 3% เพื่อซื้อข้าวเก็บสต๊อกเป้าหมาย 6 ล้านตัน โดยใช้วงเงินรวม 612 ล้านบาท โดยมาตรการทั้งหมดนี้ รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายให้ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิฤดูการผลิต 2557/2558 อยู่ที่ไม่ต่ำกว่าตันละ 16,000 บาท หรือคิดเป็นราคาส่งออกต่ำกว่าตันละ 950 เหรียญสหรัฐ ตามมาด้วยมาตรการจ่ายเงิน "อุดหนุน" ราคาข้าวให้กับชาวนาไร่ละ 1,000 บาท หรือไม่เกิน 15 ไร่ วงเงิน 40,000 ล้านบาท(จ่ายไปแล้ว 617,447 รายวงเงิน 7,366,756,500 บาท)

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานข้อมูลราคาจำหน่ายข้าวล่าสุดของกรมการค้าภายใน ปรากฏว่าราคาจำหน่ายข้าวสารในประเทศ ชนิดข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) เดือนพฤศจิกายน 2557 ตันละ28,930 บาท ถือเป็นระดับราคาที่ต่ำสุดในรอบปี หากเทียบราคาเฉลี่ยช่วง 11 เดือนแรก(มกราคม-พฤศจิกายน) ปี 2557 ตันละ 31,140 บาท "ต่ำกว่า" ช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่ราคาตันละ 33,450 บาท

ขณะที่ราคาส่งออก ข้าว (FOB) โดยกรมการค้าต่างประเทศระบุว่า ราคาเฉลี่ยข้าวหอมมะลิชั้น 2 (ใหม่) เดือนพฤศจิกายน 2557 อยู่ที่ตันละ 863 เหรียญสหรัฐ หรือต่ำสุดในรอบ 7 ปี ขณะที่ราคาเฉลี่ย 11 เดือนแรกของปี 2557 ตันละ 972 เหรียญทั้งหมดนี้แสดงว่า มาตรการยกระดับราคาข้าวเปลือกที่รัฐบาลดำเนินการนั้น "ไม่ได้ผล"

โรงสีโยนผู้ส่งออกกำไรเละ

แหล่งข่าวจากวงการโรงสีข้าวกล่าวถึงโครงการให้โรงสีเข้าไปช่วยซื้อเพื่อชดเชย ดอกเบี้ย "ขณะนี้ยังไม่สามารถดำเนินการได้" เพราะติดปัญหาข้อปฏิบัติ เช่น อำนาจในการตรวจสต๊อกก่อนที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะปล่อยเงินกู้ให้กับโรงสี

"รัฐบาลตั้งวงเงินให้โรงสีช่วยซื้อ 600 ล้านบาท เพื่อกักข้าว 6 ล้านตันไม่ให้ออกสู่ตลาด จริง ๆ แล้วการจ่ายดอกเบี้ย 3% จากอัตราดอกเบี้ยปกติ 7% เท่ากับโรงสีต้องจ่ายดอกเบี้ยเองอีก 4% ขณะที่มูลค่าข้าวที่ซื้อมากักไว้มีความเสี่ยงที่ราคาข้าวจะลดลงเรื่อย ๆ ตามราคาตลาด เช่น ซื้อราคารัฐบาลต้นทุน 16,000 บาท คิดเป็นราคาข้าวสารตันละ 29,000 บาท แต่ปัจจุบันผู้ส่งออกบอกราคาซื้อข้าวล่วงหน้าอยู่ที่ตันละ 24,000-25,000 บาท เท่ากับโรงสีเสียดอกเพิ่ม แถมยังขาดทุนสต๊อกจากราคาตลาดที่ลดลงอีกตันละ 4,000-5,000 บาท"

ส่วน กรณีที่รัฐบาลกำหนดเป้าหมายราคาข้าวหอมมะลิไว้ที่เป้าหมาย 16,000 บาท หรือราคาส่งออกตันละ 950 เหรียญนั้น เมื่อคำนวณกลับมาเป็นราคาข้าวสาร โดยคูณอัตราแลกเปลี่ยน 32.50 บาท เป็นเงินตันละ 30,875 บาท หักค่าปรับปรุงตันละ 1,000 บาท ยอมหักค่าดอกเบี้ยให้อีกตันละ 500 บาท ทั้งที่ผู้ส่งออกซื้อข้าวจากโรงสีได้เครดิตยาว 1-2 เดือน เท่ากับว่าผู้ส่งออกต้องซื้อข้าวสารตันละ 29,375 บาท หรืออย่างต่ำ 29,000 บาท แต่ความเป็นจริงผู้ส่งออกกลับซื้อข้าวเพียงตันละ 24,000-25,000 บาท ตรงนี้ผู้ส่งออกข้าวมีกำไร "ส่วนต่าง" ระหว่าง 4,000-5,000 บาท/ตัน

ขณะ ที่ ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ได้โต้แย้งข้อกล่าวหาของกลุ่มผู้ประกอบการโรงสีข้าวว่าผู้ส่งออกไม่ได้มี กำไรจากการซื้อข้าวมากถึงขนาดนั้น หากคิดสูตรราคาจากราคาเป้าหมายส่งออกอยู่ที่ตันละ 950 เหรียญ คำนวณกลับมาเป็นราคาข้าวสาร คูณอัตราแลกเปลี่ยน 32.50 บาท เป็นเงินตันละ 30,875 บาท หักค่าปรับปรุงตันละ 1,800 บาท หักค่าดอกเบี้ยอีก 3% ในขณะที่ลูกค้ากว่าจะจ่ายเงินก็ใช้เวลานาน 1-2 เดือน กำไรผู้ส่งออกตันละ 270 บาท หรือซื้อข้าวได้แค่ตันละ 26,650 บาทเท่านั้น

ชาวนาร้อง "ตู่" เงินหายครึ่งหนึ่ง

นายวิเชียร พวงลำเจียก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า สมาคมจะทำหนังสือเรียน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี หลังจากที่สมาคมได้รับคำร้องเรียนจากชาวนาหลายจังหวัดว่า ขณะนี้ราคาข้าวเปลือกปีการผลิต 2557/2558 ได้ลดลงต่ำสุดประมาณ 50% จากช่วงที่เคยได้รับจากโครงการรับจำนำ เช่น ข้าวเปลือกหอมมะลิเหลือแค่ตันละ 9,000-10,000 บาท ต่ำกว่าราคาเป้าหมายของรัฐบาลกำหนดตันละ 16,000 บาท ส่วนข้าวเปลือกเหนียวเหลือตันละ 6,700-8,000 บาท หรือต่ำกว่าราคาเป้าหมายตันละ 13,000 บาท

"การจ่ายชดเชยชาวนาไร่ละ 1,000 บาทก็ได้กันประปรายไม่ครบ ดอกเบี้ยธนาคารที่กู้มาจะทำอย่างไรจะเอารายได้จากไหนจึงพอเพียงกับหนี้พวก นี้"

ยางราคาร่วงต่อเนื่อง

สถาณการณ์ราคายางพาราก็ยัง คง "ตกต่ำ" อย่างต่อเนื่อง แม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางหลายด้าน ไม่ว่าจะอนุมัติวงเงิน 58,000 ล้านบาท เพื่อให้สินเชื่อ/เงินกู้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง, การจ่ายเงินอุดหนุนไร่ละ 1,000 บาท แต่ไม่เกิน 15 ไร่ หรือ 15,000 บาท วงเงิน 8,500 ล้านบาท(จ่ายไปแล้ว 1377 ราย วงเงิน 13,053,250 บาท)และการอนุมัติให้องค์การสวนยาง (อสย.) ทำการซื้อขายยางผ่านกองทุนมูลภัณฑ์กันชน (Buffer Fund) วงเงิน 20,000 ล้านบาท เพื่อดึงราคายางในประเทศให้สูงขึ้น แต่จนถึงวันนี้ราคายางก็มีแต่จะดิ่งลง

ผู้สื่อข่าวรายงานในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2557 ราคายางตลาดกลางยางพาราสงขลาปรับตัวลดลง ยางแผ่นดิบแตะระดับ 47.25 บาท/กก. หรือลดลง 0.85 บาท, ยางแผ่นรมควันชั้น 3 กิโลกรัมละ 49.33 บาท/กก. หรือลดลงถึง 1.55 บาท, ราคาน้ำยางสด ณ โรงงานอยู่ที่ 47.00 บาท/กก. หรือลดลง1 บาท จากราคายางแผ่นดิบในวันที่ 3 พฤศจิกายน อยู่ที่ 52.25 บาท/กก. และยางแผ่นรมควันชั้น 3 อยู่ที่ 55.70 บาท/กก.

สำหรับราคายางที่ตลาดกลางยางพาราสุราษฎร์ธานีในรอบสัปดาห์ นี้ยังคงแกว่งตัวอยู่ในช่วง 49-50 บาท/กก. ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ราคายางลดลงมาจากวันที่ 17 พ.ย. ถึง 2.15 บาท/กก.

แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวถึงสัญญาซื้อขายยางพาราในสต๊อกรัฐบาล จำนวน 208,000 ตันจากโครงการรักษาเสถียรภาพราคายางพาราว่าจะมีการเซ็นสัญญาซื้อขายยางใน ปลายสัปดาห์นี้จำนวน 200,000 ตัน ส่งมอบเป็นเวลา 10 เดือน โดยส่งมอบครั้งละ 20,000 ตัน ราคาขายมีการยืนยันอย่างไม่เป็นทางการว่ามีราคาสูงกว่าราคาตลาด

"การ รับมอบสินค้าจะต้องมีการเปิด Letter of Credit (L/C) มาก่อน และจะมีการตั้งคณะกรรมการที่มีทั้งฝ่ายรัฐบาลไทยและเซอร์เวเยอร์ของผู้ซื้อ ในการตรวจสอบยางพาราแบบก้อนต่อก้อน เพื่อให้ถูกต้องตามเกณฑ์การคัดคุณภาพยางพาราที่ตกลงกัน ซึ่งอาจจะมียางมิดเชพ มีราแห้ง ราเปียกบ้าง ทำให้ราคาต่ำกว่าที่ให้แก่ยางคุณภาพดี แต่คู่ค้าจะรับซื้อแน่นอน เพราะคุณภาพยางยังนำไปใช้งานได้"

รายงานข่าวกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ อ.ส.ย.ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ขายยางแผ่นรมควันชั้น 3 กก.ละ 62 บาท และยางแท่ง กก.ละ 56 บาท รวมทั้งหมด 2 แสนตัน ให้กลุ่มบริษัทไห่หนานของจีนมาแล้ว แต่ยังไม่มีการเซ็นสัญญาซื้อขายอย่างเป็นทางการ

ด้านนายชนะชัย เปล่งศิริวัธน์ ผู้อำนวยการองค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) กล่าวถึงการเข้าซื้อยางระลอกสองของกองทุนมูลภัณฑ์กันชนยางพารา (Buffer Fund) หลังจากที่เข้าซื้อไปแล้ว 100 ตัน ในวันที่ 6 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า "จะยังไม่มีการเข้าซื้อยางในสัปดาห์นี้ เนื่องจากกรรมการบางส่วนต้องเดินทางไปประชุมไตรภาคีประเทศผู้ผลิตยางพารา 3 ประเทศ" และการเข้าซื้อยางก็ไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะซื้อทุกวันหรือวันละเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับคณะอนุกรรมการที่จะพิจารณาราคายางเป็นรายวัน



ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ (วันที่ 21 พฤศจิกายน 2557)