ผู้เขียน หัวข้อ: วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง วันพฤหัสบดีที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2558  (อ่าน 1019 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 88287
    • ดูรายละเอียด

วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง

วันพฤหัสบดีที่  29  มกราคม  พ.ศ. 2558


ปัจจัย


วิเคราะห์


1. สภาพภูมิอากาศ


- ภาคใต้ยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้ากับมีเมฆบางส่วน อุณหภูมิต่ำสุด 20 - 24 องศาเซลเซียส ไม่ส่งผลกระทบต่อการกรีดยาง ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น


2. การใช้ยาง


- บริษัทนิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดรถยนต์ในประเทศปี 2558 มีปัจจัยลบมากกว่าปัจจัยบวก โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ลดลงน่าจะเป็นปัจจัยบวก แต่กลับเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง เช่น กระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยน เศรษฐกิจ ส่งผลต่อเนื่องไปจนถึงการส่งออกและการใช้จ่ายเป็นลูกโซ่ นอกจากนี้ราคาพืชผลเกษตรตกต่ำส่งผลถึงการตัดสินใจในการซื้อรถยนต์ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ภาคใต้ที่มียอดจำหน่ายลดลงอย่างเห็นได้ชัด


3. เศรษฐกิจโลก


- สำนักงานสภาแห่งรัฐของจีนระบุว่า เศรษฐกิจจีนสามารถขยายตัวราวร้อยละ 7.0 ในปีนี้ และจะสามารถสร้างงานได้อย่างเพียงพอ


- ผลสำรวจโดยบริษัท Qfk เผยให้เห็นว่า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเยอรมันเดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้นแตะ 9.3 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 13 ปี จาก 9.0 ในเดือนมกราคม เน้นย้ำให้เห็นถึงแนวโน้มที่แข็งแกร่งต่อเนื่องของความเชื่อมั่นผู้บริโภค หลังจากราคาน้ำมันที่ลดลงทำให้ผู้บริโภคสามารถจับจ่ายได้มากขึ้น


- สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (EU.) รายงานว่า อัตราการลงทุนในภาคธุรกิจยูโรโซนไตรมาส 3 ปี 2557 แตะระดับร้อยละ 21.7 แทบไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ที่อยู่ร้อยละ 21.6


- คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ลงมติด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์เห็นพ้องให้คงอัตราดอกเบี้ยใกล้ร้อยละ 0 อย่างน้อยจนถึงกลางปีนี้ ทั้งนี้เฟดได้ตรึงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอยู่ในช่วงร้อยละ 0 - 0.25 ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2551


4. อัตราแลกเปลี่ยน


- เงินบาทอยู่ที่ 32.61 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ อ่อนค่าลง 0.04 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ


- เงินเยนอยู่ที่ 117.67 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 0.56 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ


5. ราคาน้ำมัน


- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymex ส่งมอบเดือนมีนาคม ปิดตลาดที่ 44.45 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 1.78 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล หลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานรัฐบาลสหรัฐฯ (EIA.) เปิดเผยสต๊อคน้ำมันดิบสัปดาห์ก่อนเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานน้ำมันดิบล้นตลาด


- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ตลาดลอนดอน ส่งมอบเดือนมีนาคม ปิดที่ 48.47 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 1.13 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล


- สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานรัฐบาลสหรัฐฯ (EIA.) เปิดเผยสต๊อคน้ำมันดิบสัปดาห์ที่แล้วแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เป็นการปรับตัวขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 3 ขณะที่น้ำมันดิบล้นตลาด แต่น้ำมันเบนซินและน้ำมันกลั่นมีปริมาณลดลง ทั้งนี้สต๊อคน้ำมันดิบพุ่งขึ้น 8.9 ล้านบาร์เรล จากที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 4.1 ล้านบาร์เรล


6. การเก็งกำไร


- ราคาตลาด TOCOM ส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ อยู่ที่ 194.4 เยนต่อกิโลกรัม ลดลง 0.6 เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนมิถุนายน อยู่ที่ 199.6 เยนต่อกิโลกรัม ลดง 2.7 เยนต่อกิโลกรัม


- ราคาตลาด SICOM เปิดตลาดที่ 170.0 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 1.3 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม


7. ข่าว


- รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจเยอรมันกล่าวว่า เขาคัดค้านการยกหนี้ให้กรีซ และเรียกร้องให้รัฐบาลกรีซเปิดกว้างต่อการเจรจาที่เป็นธรรม และปฏิบัติตามเงื่อนไขของมาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน ขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงการคลังกรีซีแผนพบปะกับรัฐมนตรีกระทรวงการคลังของยุโรป เพื่อทำข้อตกลงฉบับใหม่ที่จะทดแทนมาตรการรัดเข็มขัด ซึ่งเขาหวังว่าจะสามารถหาทางออกโดยไม่สร้างความขัดแย้งกับยุโรป


- ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองมองว่า ความแข็งกร้าวของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของกรีซ อาจส่งผลให้กรีซเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้ และอาจทำให้กรีซต้องพ้นจากการเป็นสมาชิกยูโรโซนในที่สุด


- มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส คาดการณ์ว่า ยอดจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ของจีนจะยังคงอยู่ในช่วงขาลงอย่างต่อเนื่องในปี 2558 แต่เป็นการปรับตัวลงในอัตราที่ช้าลง โดยคาดว่าจะปรับตัวลงในช่วงร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับที่ลดลงร้อยละ 7.8 ในปี 2557


8. ข้อคิดเห็นของผู้ประกอบการ


- ราคายางทรงตัว เนื่องจากนโยบายภาครัฐที่เข้ามาซื้อยาง ทำให้ผู้ประกอบการบางรายขาดแคลนยางเพื่อส่งมอบ และใกล้เข้าสู่ฤดูยางผลัดใบ ส่งผลให้ราคายางในระยะนี้แม้ว่าราคาต่างประเทศจะปรับตัวลดลง แต่ราคายางในประเทศยังคงเคลื่อนไหวในกรอบจำกัด ไม่ปรับตัวลดลงมาก


แนวโน้ม ราคายางมีแนวโน้มทรงตัวเปลี่ยนแปลงในช่วงแคบ ๆ โดยมีปัจจัยด้านบวกจากความกังวลเกี่ยวกับอุปทานยางในตลาดจะลดลงในช่วงฤดูยางผลัดใบซึ่งจะเริ่มขึ้นในเร็ว ๆ นี้ รวมทั้งนโยบายกระตุ้นการใช้ยางในประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาราคายาง ส่วนปัจจัยลบมาจากราคาชี้นำตลาดล่วงหน้าโตเกียว และราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง ประกอบกับอุปสงค์ยางจากจีนยังคงซบเซา เนื่องจากเศรษฐกิจยังส่งสัญญาณชะลอตัว


ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา