ผู้เขียน หัวข้อ: เกษตรกรรับเคราะห์ วิกฤติภัยแล้งซ้ำราคาพืชผลตกต่ำ  (อ่าน 648 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 82926
    • ดูรายละเอียด
เกษตรกรรับเคราะห์ วิกฤติภัยแล้งซ้ำราคาพืชผลตกต่ำ


วันจันทร์ที่ 09 มีนาคม 2015 เวลา 10:50 น.



ท่ามกลางภาวะปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ กลุ่มเกษตรกรไปแล้วนั้น ปัญหาใหญ่ในปีนี้ยังต้องเจอกับปัญหาภัยแล้งมากระหน่ำซ้ำสอง


สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุชัดเจนว่าในไตรมาสสุดท้ายของปี 2557 การผลิตภาคเกษตรหดตัวลง 1.6% และทั้งปีราคาสินค้าเกษตรเฉลี่ยลดลง 6.2% และรายได้เกษตรกรลดลง 5.3%


ขณะเดียวกันปัญหาภัยแล้งได้ก่อตัวส่งสัญญาณว่าอาจมีความรุนแรงเข้ามาซ้ำ เติมพี่น้องเกษตรกรอีกระลอก ตามที่กรมชลประทานได้รายงานตั้งแต่เดือน ต.ค.2557 ว่า ในฤดูแล้งปีนี้ น้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำต่างๆมีน้อย อยู่ในระดับต่ำเลวร้ายที่สุดในรอบ 15 ปี
สอดคล้องตามที่กรมป้องกันและ บรรเทาสาธารณภัยรายงานจังหวัดที่ประสบภัยแล้งตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค. 2557-มี.ค.2558 ว่าเกิดภัยแล้งแล้วในพื้นที่ 19 จังหวัด 93 อำเภอ 509 ตําบล 4,622 หมู่บ้าน คิดเป็น 6.17% ของจำนวนหมู่บ้าน 74,963 แห่งจากทั่วประเทศ


ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า พื้นที่ความเสียหายทางการเกษตรมีมากกว่า 1 ล้านไร่ และเกือบทั้งหมดเป็นข้าวนาปรังที่ยืนต้นตาย และทั้งหมดนี้อาจทำให้ปริมาณผลผลิตข้าวไทยลดลง แต่ไม่ได้หมายความว่าราคาข้าวของเกษตรกรจะปรับตัวดีขึ้น เพราะยังมีแรงกดดันจากข้าวในสต๊อกรัฐบาล


ภาวะเคราะห์ซ้ำกรรมซัดจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และภาวะภัยแล้งในปีนี้ รัฐบาลพยายามทุ่มเม็ดเงินเข้าสู่มือเกษตรกร หวังขยับราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะพืชหลัก ทั้งข้าวและยางพารา ผ่านมาตรการต่างๆ เช่น การจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนาและชาวสวนยางไร่ละ 1,000 บาท การให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อให้โรงสีไปรับซื้อข้าวเก็บในสต๊อก หรือการให้เงินกู้สถาบันเกษตรกรไปรับซื้อยางพารามาเก็บในสต๊อก


แต่ดูเหมือนว่า จนถึงวันนี้ยังไม่เพียงพอที่จะกอบกู้สถานการณ์ หรือสร้างความเชื่อมั่นว่า รัฐบาลจะสามารถประคับประคอง ภาคเกษตรซึ่งเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนประเทศให้ฝ่าวิกฤติหนนี้ได้อย่าง ไร


ทั้งหมดนี้ จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่าทำไมการทำมาค้าขาย การบริโภคในต่างจังหวัดหรือการจับจ่ายใช้สอยของผู้มีรายได้น้อยจึงซบเซา ในเมื่อคนกลุ่มนี้เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เป็นกำลังหลักที่จะขับเคลื่อนให้การบริโภคขยายตัว กลับมีรายได้ลดลงโดยเฉพาะชาวนาและชาวสวนยางที่รายได้หด ชักหน้าไม่ถึงหลัง


ถือเป็นความอ่อนแอถึงระดับฐานรากของเศรษฐกิจไทย


?ทีมเศรษฐกิจ? หยิบยกปัญหานี้ พูดคุยกับ ?ปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา? รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเจ้ากระทรวง หัวเรือใหญ่ผู้รับผิดชอบการแก้ไขปัญหานี้ให้แก่พี่น้องเกษตรกรโดยตรง


รัฐให้ความสำคัญหาแหล่งน้ำ


นายปีติพงศ์ กล่าวเริ่มต้นว่า ตั้งแต่รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศในช่วง 6 เดือนก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้ให้ความสำคัญปัญหาของเกษตรกร โดยเฉพาะเรื่องแหล่งน้ำ ซึ่งรัฐบาลเชื่อว่าการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำภาคเกษตร สร้างความมั่นคงในชนบท คือการสร้างแหล่งน้ำ ให้เกษตรกรสามารถสร้างรายได้ให้ตัวเองได้ตลอดปี ไม่ต้องเดินทางมาแสวงโชคในเมือง


อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนั้นเป็นการดำเนินการในระยะยาว ซึ่งต้องใช้เวลา ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลปัจจุบันเร่งดำเนินการ คือ การรับมือกับปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นเป็นอันดับแรก


?ทันทีที่ผมเข้ารับตำแหน่ง ได้ติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำและพบว่าปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนหลักของลุ่มน้ำ เจ้าพระยา และลุ่มน้ำแม่กลอง ส่อเค้าว่าจะเกิดปัญหา เนื่องจากปริมาณฝนในปีก่อนมีน้อยกว่าปกติ ส่งผลเป็นลูกโซ่ทำให้ปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนหรือปริมาณน้ำสำรองที่จะใช้ไป ในฤดูแล้งปีนี้มีปริมาณน้อยตามไปด้วย?


ทั้งนี้ ในส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วจากภัยแล้ง ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่เดือน ต.ค.2557 จนถึงปัจจุบัน เกิดความเสียหายมูลค่ารวมแล้ว 5,835 ล้านบาท กระทบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ภาคการเกษตรเพียง 0.23% ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นความเสียหายของพื้นที่ปลูกข้าวมูลค่า 5,356 ล้านบาท พื้นที่เสียหาย 1.14 ล้านไร่ คิดเป็นปริมาณผลผลิตข้าว 642,686 ตัน


ที่เหลือเป็นพืชไร่เสียหายมูลค่า 479.19 ล้านบาท พื้นที่เสียหาย 58,160 ไร่ ปริมาณผลผลิตเสียหาย 326,153 ตัน และพืชสวน มูลค่าความเสียหายไม่มากประมาณ 30,000 บาท


แม้ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเมื่อเทียบกับจีดีพีภาคเกษตรจะยังไม่มาก แต่เรื่องฝนฟ้าอากาศไม่ใช่เรื่องที่จะวางใจได้ทั้งหมด เพราะสภาพอากาศปัจจุบันมีความแปรปรวนค่อนข้างมาก นักอุตุนิยมวิทยาในประเทศไทยเอง ก็ยังมีความเห็นที่ไม่ตรงกัน บางกระแสทำนายว่า ฤดูแล้งนี้อาจจะยาวนานกินระยะเวลายาวไปจนฤดูฝนมาช้า แต่ไปตกมากตอนปลายฤดูฝน อีกกระแสหนึ่งก็ทำนายว่าฤดูแล้งนี้อาจจะสั้นๆ แล้วฤดูฝนก็จะมาเร็ว เพียงแต่ปลายฤดูฝนอาจจะมีปริมาณน้ำน้อย


เมื่อเป็นอย่างนี้รัฐบาลก็ยังวางใจไม่ได้ เพราะปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ กำลังซื้อของเกษตรกรเองก็ร่วงโรยอยู่แล้ว จะปล่อยให้ปัญหาภัยแล้งเข้ามาซ้ำเติมเกษตรกรอีกระลอกไม่ได้


ดังนั้น เป้าหมายการบริหารเศรษฐกิจภาคเกษตร จึงต้องมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มรายได้เข้าสู่มือเกษตรกร ผ่านนโยบายต่างๆ ที่เน้นการเพิ่มรายได้ สร้างเงินหมุนในพื้นที่ ไม่ใช่การอุดหนุน หรือเข้าไปบิดเบือนราคาโดยตรง เพราะไม่มีประสิทธิภาพ และรัฐต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายที่หนัก


วางมาตรการรับมือภัยแล้ง


เมื่อรัฐบาลเห็นว่าความเสียหายจากภัยแล้งที่มีต่อภาคเกษตรอาจจะขยายตัว มากขึ้นต่อเนื่อง ดูจากปริมาณน้ำต้นทุนที่มีตลอดหน้าแล้งในเดือน ต.ค.2557?เม.ย.2558 ไม่เพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงการปลูกข้าวนาปรังที่สูงมากถึง 10 ล้านไร่ เหมือนที่เกิดขึ้นในปีก่อนหน้าได้


นั่นจึงเป็นที่มาของการประกาศมาตรการภัยแล้งระยะที่ 1 คือการประกาศงดส่งน้ำเพื่อสนับสนุนการทำนาปรังในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำ แม่กลองรวม 26 จังหวัด และประกาศชัดเจนว่าจะไม่จ่ายเงินช่วยเหลือชาวนาที่ฝืนปลูกข้าวแล้วข้าวขาด น้ำยืนต้นตาย
เมื่อประกาศไม่ให้ทำนาปรังแล้ว จึงได้วางโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง 2557/58 วงเงินประมาณ 1,800 ล้านบาท ขณะนี้มีการจ้างงานแล้ว 37,569 ราย หรือคิดเป็น 84.63% ของเป้าหมายการจ้างงาน 44,348 ราย ประกอบกับมาตรการเสริม โดยสร้างอาชีพเสริมให้เกษตรกรมีรายได้ในช่วงหน้าแล้ง ด้านปศุสัตว์ ประมง การฝึกอาชีพและการแจกเมล็ดพันธุ์พืชใช้น้ำน้อย


สำหรับผลลัพธ์จากมาตรการระยะที่ 1 และมาตรการเสริม กระทรวงเกษตรฯประเมินว่า จะสร้างรายได้จากการจ้างแรงงานและอาชีพเสริมเข้าสู่ชุมชนภาคเกษตรไม่น้อย กว่า 200,000 บาทต่อชุมชน คิดเป็นแรงงานที่จ้างงานเฉลี่ย 660 คนต่อวันต่อชุมชน
แต่จนถึงตอนนี้ไม่ว่าจะวางมาตรการป้องกันให้รัดกุม เพียงใด แต่ก็ยังพบว่ายังมีเกษตรกรส่วนหนึ่ง ที่ไม่ทำตามคำขอร้องของทางราชการ โดยการฝืนปลูกข้าวนาปรัง ทั้งที่ได้รับข้อมูลแล้วว่าจะไม่มีน้ำให้ทำนาปรัง ทำให้พบว่าในพื้นที่ชลประทานทั่วประเทศมีการปลูกข้าวนาปรังรวมแล้วทั้งสิ้น 4.98 ล้านไร่ ซึ่งคาดว่าจะเสียหายสิ้นเชิงประมาณ 177,000 ไร่


นายปีติพงศ์ กล่าวต่อไปว่า จำนวนข้าวนาปรังทั่วประเทศในปีนี้ 4.98 ล้านไร่ พื้นที่ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด


คือ นาปรังในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาซึ่งมีมากที่สุดประมาณ 2.92 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวไปแล้วประมาณ 790,000 ไร่ เหลือพื้นที่ที่ยังไม่เก็บเกี่ยวประมาณ 2.13 ล้านไร่ ในจำนวนนี้จะเสียหายประมาณ 95,000 ไร่


พื้นที่ข้าวนาปรังที่จะเสียหายกระจายตัวอยู่ในพื้นที่ จ.สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา นครปฐม และสมุทรสาคร


ที่น่าเป็นห่วงรองลงมาคือ นาปรังในลุ่มน้ำแม่กลอง มีการฝืนปลูกข้าวนาปรังไป 128,000 ไร่ คาดว่าจะได้รับความเสียหาย 38,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ จ.นครปฐม จ.กาญจนบุรี จ.ราชบุรี จ.สมุทรสงคราม จ.สมุทรสาคร และ จ.เพชรบุรี


ที่เป็นห่วงน้อยที่สุด คือ พื้นที่นาปรังในภาคอีสาน 651,000 ไร่ เก็บเกี่ยวไปแล้ว 1,500 ไร่ มีโอกาสที่ข้าวนาปรังจะเสียหาย 16,800 ไร่เท่านั้น โดยกระจายพื้นที่อยู่ในเขต จ.กาฬสินธุ์ จ.ขอนแก่น จ.ชัยภูมิ จ.นครพนม จ.นครราชสีมา และ จ.อำนาจเจริญ


ห่วงราคาข้าว?ยางพาราขาลง


รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า หลังจากดำเนินการมาตรการรองรับภัยแล้งระยะที่ 1 ไปแล้ว แต่ก็ยังพบว่า รายได้ครัวเรือนภาคเกษตร และกำลังการใช้จ่ายในภาคชนบทยังไม่ฟื้นคืนเท่าที่ควร เพราะปัจจัยสำคัญ คือ พืชเศรษฐกิจหลัก คือ ข้าว และยางพารา ราคายังเป็นขาลง


นั่นเป็นเหตุผลของการเติมรายได้ผ่านมาตรการรองรับภัยแล้งระยะที่ 2 ผ่านโครงการชดเชยรายได้ให้เกษตรกรผู้ผลิตข้าวไร่ละ 1,000 บาท วงเงิน 40,000 ล้านบาท ซึ่งเบิกจ่ายไปแล้ว 38,802 ล้านบาท หรือคิดเป็น 97% และชาวสวนยางไร่ละ 1,000 บาท วงเงิน 8,200 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 7,582 ล้านบาท คิดเป็น 92.5%


?มาตรการนี้แม้จะไม่เกี่ยวกับภัยแล้งโดยตรง แต่มีความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องนำมาประเมิน เพราะเราบริหารจากรายได้ของเกษตรกรเป็นเป้าหมาย ไม่ว่าจะน้ำแล้งหรือน้ำท่วม ซึ่งผลลัพธ์ของมาตรการสนับสนุนเงินช่วยเหลือชาวนาและชาวสวนยางพบว่า ในกลุ่มของชาวนาได้รับเงินเฉลี่ยรายละ 13,860 บาท ชาวสวนยางได้รับเงินเฉลี่ยรายละ 11,860 บาท จากวงเงินสูงสุด รายละไม่เกิน 15,000 บาท?


ที่น่าสนใจ คือ เม็ดเงินที่นำไปจับจ่ายของเกษตรกร 2 กลุ่มใหญ่นี้ แตกต่างกัน โดยกลุ่มชาวสวนยางใช้จ่ายเงินไปมากกว่า 90% ขณะที่กลุ่มชาวนาเงินส่วนใหญ่ที่ได้รับไม่ได้ถูกนำไปใช้จ่าย แต่ 49% ของเงินที่ได้รับ ถูกนำไปเก็บไว้เพื่อลงทุนการผลิตในรอบใหม่ มีการนำเงินไปใช้จ่ายเพื่อการบริโภคประมาณ 38%


ทั้งนี้ สาเหตุที่ชาวสวนยางนำเงินไปใช้จ่ายมากกว่าชาวนา เป็นเพราะรูปแบบการลงทุนเพาะปลูกพืช 2 ชนิดไม่เหมือนกัน การปลูกข้าวต้องลงทุนเป็นรายฤดูกาล แต่ยางพาราลงทุนใหญ่ครั้งแรกในช่วงที่เริ่มต้นเพาะปลูกเท่านั้น แต่ก็เป็นสัญญาณที่ดีที่มีการบริโภค และมีการวางแผนออมเพื่อลงทุนการผลิตต่อไป


นายปีติพงศ์ กล่าวว่า ในใจวันนี้ยังเป็นห่วงราคาข้าว และราคายางพารา แม้ว่าผลจากภัยแล้ง และการยกเลิกนโยบายรับจำนำข้าว จะช่วยให้ปริมาณข้าวนาปรังในปี 2558 ลดลงมา มีจำนวนรวมไม่เกิน 6 ล้านไร่ หรือลดลง 30% จากปีก่อนที่มี 9 ล้านไร่ และการบริหารยางพาราแบบซื้อมาขายไปเพื่อกระตุ้นตลาดจะเริ่มแก้ปัญหาสต๊อกยาง เก่าที่ประเทศต้องรับภาระ ไว้ได้บ้าง


แต่ทั้งหมดนั้น เมื่อเทียบกับภาพใหญ่ของเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ดีนัก การส่งออกไทยยังไม่สดใส ในขณะที่แนวโน้มค่าเงินบาทไปในทางแข็งค่าขึ้น ย่อมไม่เป็นผลดีต่อข้าวและยาง ซึ่งส่วนใหญ่ผลิตเพื่อการส่งออก


หวังตำบลละล้านช่วยจ้างงาน


โครงการสุดท้ายภายใต้มาตรการระยะที่ 2 ที่รัฐบาลได้ยิงกระสุนลงไปแล้ว คือ โครงการสร้างรายได้และพัฒนาเกษตรกรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง วงเงิน 3,051 ล้านบาท ตั้งเป้าสนับสนุนงบประมาณให้ชุมชนละ 1 ล้านบาท


ในพื้นที่เป้าหมาย 3,051 ตำบล ใน 58 จังหวัด ซึ่งประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก


เงินที่จัดสรรให้ชุมชนเหล่านี้ไม่ใช่เงินให้เปล่า แต่ชาวบ้านจะต้องรวมกลุ่มกัน เสนอโครงการในการสร้างงาน หรือแก้ภัยแล้งให้แก่พื้นที่ของตัวเองเข้ามาให้ทางราชการพิจารณาอนุมัติงบ ประมาณให้ โดยโครงการที่จะได้รับเงินจากรัฐ ต้องมี 4 ลักษณะ คือ การจัดการแหล่งน้ำชุมชน การผลิตหรือแปรรูปการเกษตรเพื่อสร้างรายได้ในฤดูแล้ง การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการผลิต และการจัดการเพื่อลดความสูญเสียสินค้าเกษตร


มาตรการนี้ เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะเร่งขับเคลื่อน เป้าหมายของโครงการ คือจ้างแรงงานพื้นที่แล้ง


ซ้ำซาก ให้ได้ไม่ต่ำกว่า 50% โดยตั้งเป้าว่าสิ้นเดือน มี.ค.นี้จะต้องเบิกจ่ายได้ไม่น้อยกว่า 60-70% ของเม็ดเงินทั้งหมดในโครงการ ก่อนที่จะสิ้นสุดโครงการในเดือน มิ.ย.นี้


มาถึงวันนี้ซึ่งเข้าสู่กลางเดือน มี.ค.แล้ว ในแง่ของปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ทั่วประเทศ มีน้ำรวมกัน 41,247 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนเพียง 4% ใน


ขณะที่เหลือเวลาเพียง 45 วัน ก็จะสิ้นสุดฤดูแล้ง และเริ่มต้นฤดูฝนในเดือน พ.ค. ซึ่งประเมินว่ามีน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูกในช่วง
เริ่มต้นฤดูฝนได้


รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ถึงจะเบาใจเรื่องภัยแล้งไปได้ระดับหนึ่ง แต่งานของรัฐบาลก็ยังไม่แล้วเสร็จ เพราะยังต้องติดตามผลลัพธ์ของมาตรการทั้งหมดว่าได้ผลดีมากน้อยเพียงใด ซึ่งได้สั่งการให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ไปประมวลผลของนโยบายทั้งหมดมาอีกครั้ง


?หากประโยชน์โพดผลเกิดขึ้นกับพี่น้องเกษตรกรอย่างคุ้มค่าก็ถือว่าน่ายินดี แต่ถ้าไม่เป็นอย่างนั้นก็จะต้องมีการปรับปรุงแก้ไข
ต่อไป และผมเองก็คงต้องรับผิดชอบ?.


ทีมเศรษฐกิจ


ที่มา : โดย ไทยรัฐฉบับพิมพ์ 9 มี.ค. 2558 05:01 น.