วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง
วันพฤหัสบดีที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2559
ปัจจัย
วิเคราะห์
1. สภาพภูมิอากาศ
- ประเทศไทยตอนบนยังมีอากาศเย็น โดยจะมีอุณหภูมิลดลง 1 - 2 องศาเซลเซียส ส่วนภาคใต้มีเมฆบางส่วนกับมีฝนบางแห่งร้อยละ 10 ของพื้นที่ ไม่ส่งผลกระทบต่อการกรีดยาง ทำให้ในระยะนี้ปริมาณผลผลิตยางออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น
2. การใช้ยาง
- เว็บไซต์ Auto.gasgoo.com รายงานว่า บริษัทโตโยต้ามอเตอร์ คอร์ป มียอดจำหน่ายรถยนต์ในตลาดจีนราว 1.12 ล้านคันในปี 2558 เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยบริษัทโตโยต้ามีแผนจำหน่ายรถยนต์ในจีนทั้งสิ้น 1.1 ล้านคันในปี 2558 สูงกว่ายอดจำหน่ายในปี 2557 อยู่ร้อยละ 6.8 สำหรับปี 2559 โตโยต้าตั้งเป้ายอดจำหน่ายไว้ที่ 1.15 ล้านคัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 จากยอดจำหน่ายปี 2558
3. เศรษฐกิจโลก
- มาร์กิต อิโคโนมิกส์ เปิดเผยรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเดือนธันวาคม ดังนี้
อิตาลี ปรับตัวขึ้นแตะ 55.3 จาก 53.4 ในเดือนพฤศจิกายน
เยอรมัน ปรับตัวขึ้นแตะ 56.0 ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดในรอบ 17 เดือน จาก 55.6 ในเดือนพฤศจิกายน
ฝรั่งเศส ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 49.8 จาก 51.0 ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 11 เดือน
ยูโรโซน ทรงตัวที่ระดับ 54.2 แต่ปรับตัวดีขึ้นจากดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้นเดือนธันวาคมที่ 53.9
จีน ลดลงแตะ 50.2 จาก 51.2 ในเดือนพฤศจิกายน
- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนพฤศจิกายนลดลง สอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ทั้งนี้ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 0.2 หลังจากที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 ในเดือนตุลาคม บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงในไตรมาส 4 โดยมีการปรับลดคาการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไตรมาส 4 ลงสู่ร้อยละ 0.5
- ผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานสหรัฐฯ (ISM) พบว่า ภาคบริการเดือนธันวาคมขยายตัว แม้ในอัตราต่ำกว่าเดือนพฤศจิกายน ทั้งนี้ดัชนีภาคบริการของ ISM อยู่ที่ 55.3 ในเดือนธันวาคม ลดลงจาก 55.9 ในเดือนพฤศจิกายน
- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานว่า ตัวเลขขาดดุลการค้าสหรัฐฯ เดือนพฤศจิกายนลดลงร้อยละ 5.0 อยู่ที่ 4.237 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือน ขณะที่การส่งออกลดลงร้อยละ 1.6 แตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2555 และการนำเข้าลดลงร้อยละ 1.7 ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2554
- รองประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) กล่าวว่า การที่เฟดคาดการณ์ว่าจะมีปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้งในปีนี้ เป็นเพียงการประเมินเท่านั้น และเฟดยังไม่รู้ว่าจะมีการปรับขึ้นจริงจำนวนกี่ครั้ง ทั้งนี้เจ้าหน้าที่เฟดคาดว่าอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงจะปรับขึ้นแตะร้อยละ 1.375 ในปลายปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 2.375 ในปลายปี 2560 และร้อยละ 3.250 ในเวลาอีก 3 ปี
4. อัตราแลกเปลี่ยน
- เงินบาทอยู่ที่ 36.33 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ อ่อนค่าลง 0.10 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ
- เงินเยนอยู่ที่ 117.95 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 0.63 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ
5. ราคาน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymex ส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ปิดตลาดที่ 33.97 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 2.00 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากความวิตกกังวลว่าเกี่ยวกับภาวะอุปทานน้ำมันที่สูงเกินไป หลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยปริมาณการผลิตน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นอย่างเหนือความคาดหมาย
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ตลาดลอนดอนส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ปิดที่ 34.23 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 2.19 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล
- สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยสต๊อคน้ำมันดิบสหรัฐฯ ลดลง 5.1 ล้านบาร์เรล ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 300,000 บาร์เรล
6. การเก็งกำไร
- ราคา TOCOM ส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ 2559 อยู่ที่ 136.0 เยนต่อกิโลกรัม ลดลง 1.2 เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนมิถุนายน 2559 อยู่ที่ 146.7 เยนต่อกิโลกรัม ลดลง 1.5 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ
- ราคา SICOM เปิดตลาดที่ 114.4 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม ลดลง 0.6 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม
7. ข่าว
- ผลสำรวจของออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิง อิงค์ (ADP) ระบุว่า ภาคเอกชนสหรัฐฯ มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 257,000 ตำแหน่งในเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นระดับสูงสดในรอบ 1 ปี และสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 195,000 ตำแหน่ง
8. ข้อคิดเห็นของประกอบการ
- ราคาปรับตัวลดลงเล็กน้อยตามตลาดต่างประเทศที่ยังคงซบเซา การถามซื้อมีน้อย ยังคงต้องรอดูสถานการณ์ ขณะที่ปริมาณยางออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น
แนวโน้ม ราคายางมีแนวโน้มปรับตัวลดลงในทิศทางเดียวกับตลาดล่วงหน้าโตเกียว จากการแข็งค่าของเงินเยนและราคาน้ำมันปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับนักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน หลังจากภาคบริการและภาคการผลิตของจีนชะลอตัวลง ทำให้เงินหยวนอ่อนค่าลงอีก รวมทั้งสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลางและคาบสมุทรเกาหลี อย่างไรก็ตาม เงินบาทที่อ่อนค่ายังเป็นปัจจัยหนุนราคายางได้ในระดับหนึ่ง
ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา