ผู้เขียน หัวข้อ: วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง วันอังคารที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2559  (อ่าน 980 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 88345
    • ดูรายละเอียด

วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง
วันอังคารที่  26  มกราคม  พ.ศ. 2559

ปัจจัย


วิเคราะห์

1. สภาพภูมิอากาศ


- มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยมีกำลังแรงทำให้ภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีฝนตกหนัก ร้อยละ 60 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช  พัทลุง และสงขลา  ซึ่งส่งผลกระทบต่อการกรีดยาง  ส่วนประเทศไทยตอนบนยังคงมีอากาศหนาวเย็นลงอีกและมีฝนเกิดขึ้นได้ในบางแห่ง

2. การใช้ยาง


- สมาคมตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ยอดขายรถมือสองของญี่ปุ่นในปี 2558 ลดลงร้อยละ 0.5 จากปีก่อนหน้า ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าความต้องการรถยนต์ยังคงอ่อนแอ  ทั้งนี้ความต้องการรถยนต์ชะลอตัวลงนับตั้งแต่รัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่มภาษีการบริโภคเมื่อเดือนเมษายน 2557

3. เศรษฐกิจโลก


- กระทรวงการคลังของจีน เปิดเผยว่า รัฐวิสาหกิจ (SOE) ของจีนมีกำไรลดลงในปีที่แล้ว ขณะที่เศรษฐกิจจีนขยายตัวต่ำสุดในรอบ 25 ปี  ทั้งนี้กำไรของ SOE ลดลงร้อยละ 6.7 ในปีที่แล้วสู่ระดับ 2.3 ล้านล้านหยวน (3.51 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ)

- สถาบัน IFO ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจของเยอรมนี เปิดเผยว่า ผู้บริหารภาคธุรกิจของเยอรมนีมีความเชื่อมั่นลดลงแตะ 107.3 จุด ในเดือนมกราคม เมื่อเทียบกับสถิติที่ 108.6 เมื่อเดือนธันวาคม ปีก่อนหน้า โดยปรับลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ว่าจะลดลงแตะระดับ 108.4 จุด

- กระทรวงการคลังญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ยอดขาดดุลการค้าของปี 2558 ลดลงร้อยละ 77.9 จากปี 2557 มาอยู่ที่ระดับ 2.83 ล้านล้านเยน (2.39 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากยอดการนำเข้าที่ลดลงอย่างหนัก ท่ามกลางสถานการณ์น้ำมันดิบที่ลดลง

- ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาดัลลัส เปิดเผยว่า ดัชนีกิจกรรมการผลิตในรัฐเท็กซัสลดลงในเดือนมกราคม สู่ระดับ -34.6 จากระดับ -21.6 ในเดือนธันวาคม เนื่องจากการทรุดตัวของราคาน้ำมัน

4. อัตราแลกเปลี่ยน


- เงินบาทอยู่ที่ 35.99 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่า 0.02  บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

- เงินเยนอยู่ที่ 118.07 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่า 0.61 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ

5. ราคาน้ำมัน


- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymex ส่งมอบเดือนมีนาคม 2559 ปิดตลาดที่ 30.34 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 1.85 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หลังจากมีรายงานว่า การผลิตน้ำมันของอิรักเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ รวมทั้งข่าวที่ว่ากลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ไม่มีแนวโน้มจัดประชุมฉุกเฉินแม้ว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลงอย่างมากก็ตาม

- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ตลาดลอนดอนส่งมอบเดือนมีนาคม 2559 ที่ตลาดลอนดอนปิดที่ 30.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 1.68 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

- ผู้อำนวยการบริหารของสำนักงานพลังงานสากล (IEA) กล่าวว่า ราคาน้ำมันจะยังถูกกดดันในช่วงขาลงในปีนี้ เนื่องจากยังคงมีปริมาณน้ำมันมากเกินไปในตลาด ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันมีไม่มากนัก  อย่างไรก็ดี เขาคาดว่าราคาน้ำมันจะฟื้นตัวขึ้นในปลายปีหน้าและยังคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 80 ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 4-5 ปีข้างหน้า

6. การเก็งกำไร


- ราคา TOCOM ส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ 2559 อยู่ที่ 151.0 เยนต่อกิโลกรัม ลดลง 3.3 เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนมิถุนายน 2559 อยู่ที่ 159.6 เยนต่อกิโลกรัม ลดลง 3.6 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ

- ราคา SICOM เปิดตลาดที่ 127.8 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 0.5 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม

7. ข่าว


- นายกรัฐมนตรีจีน กล่าวว่า จีนจะขยายขอบเขตการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ไปยังธุรกิจอื่น ๆ เพื่อทดแทนการจัดการภาษีธุรกิจ ซึ่งเป็นความพยายามปรับโครงสร้างภาษีของรัฐบาล

8. ข้อคิดเห็นของประกอบการ


- ราคายางทรงตัวหรือลดลงเล็กน้อย เพราะยังมีแรงหนุนจากผู้ประกอบการบางส่วนยังมีความต้องการซื้อ ขณะที่ผลผลิตเริ่มลดลง แหล่งข่าวรายงานว่าในระยะนี้ราคายางที่เกษตรกรได้รับโดยภาพรวมขึ้นอยู่กับปัจจัยในประเทศมากกว่า โดยเฉพาะการเข้ารับซื้อยางของรัฐบาลและปริมาณผลผลิตที่เริ่มลดลง

แนวโน้ม ราคายางมีแนวโน้มทรงตัวหรือเปลี่ยนแปลงในช่วงแคบ ๆ โดยมีปัจจัยลบมาจากราคาน้ำมันปรับตัวลดลง และเงินบาทแข็งค่า ประกอบกับนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว หลังจากที่มีรายงานว่ารัฐวิสาหกิจของจีนมีผลกำไรลดลงในปี 2558 ขณะที่เศรษฐกิจจีนขยายตัวต่ำสุดในรอบ 25 ปี  อย่างไรก็ตาม การรับซื้อขางพาราของรัฐบาลซึ่งเริ่มขึ้นแล้วเมื่อวานนี้ (25 มกราคม 2559) และอุปทานยางที่ออกสู่ตลาดเบาบางลงยังเป็นปัจจัยหนุนราคายางได้ในระดับหนึ่ง



ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา