วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง
วันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559
ปัจจัย
วิเคราะห์
1. สภาพภูมิอากาศ
- ประเทศไทยตอนบนมีอากาศหนาวเย็นและมีลมกรรโชกแรง โดยอุณหภูมิลดลง 4 - 8 องศาเซลเซียส ส่วนภาคใต้มีเมฆบางส่วนกับมีฝนตกบางแห่ง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการกรีดยาง
2. การใช้ยาง
- บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า ยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนมกราคม 2559 มีจำนวน 51,821 คัน ลดลงร้อยละ 13.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
3. เศรษฐกิจโลก
- สำนักงานสถิติแห่งชาติฝรั่งเศสเปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมกราคมปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 97.0 จาก 96.0 ในเดือนธันวาคม 2558
- ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กล่าวว่า BOJ ไม่ลังเลที่จะใช้มาตรการหากความผันผวนในตลาดส่งผลกระทบต่อความพยายามของ BOJ ในการจัดการกับภาวะเงินฝืด ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่า BOJ อาจตัดสินใจผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม หากเงินเยนแข็งค่าขึ้นหรือตลาดหุ้นชะลอตัวลง
- มาร์กิต อิโคโนมิกส์ เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของสหรัฐฯ เดือนกุมภาพันธ์ชะลอตัวลงสู่ระดับ 49.8 บ่งชี้ถึงภาวะหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี โดยลดลงจากตัวเลขเดือนมกราคมที่ระดับ 53.1 ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะทรงตัวที่ระดับ 53.1
- มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ประกาศปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของบราซิลลงสู่สถานะ ?ขยะ? ส่งผลให้มูดี้ส์ เป็นสถาบันจัดอันดับที่ 3 ที่ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของบราซิลต่ำกว่าระดับที่น่าลงทุน
- ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สาขาริชมอนด์ กล่าวว่า เฟดยังคงมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป เพื่อสกัดเงินเฟ้อไม่ให้พุ่งขึ้นมากกเกินไป ขณะที่นักลงทุนต่างคาดการณ์ว่าเฟดไม่มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 15 - 16 มีนาคม 2559
4. อัตราแลกเปลี่ยน
- เงินบาทอยู่ที่ 35.67 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 0.06 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ
- เงินเยนอยู่ที่ 112.10 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ อ่อนค่าลง 0.15 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ
5. ราคาน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymex ส่งมอบเดือนเมษายนปิดตลาดที่ 32.15 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.28 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล หลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงในสัปดาห์ที่แล้ว
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ตลาดลอนดอนส่งมอบเดือนเมษายน 2559 ปิดที่ 34.41 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.14 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล
- สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยสต๊อคน้ำมันดิบสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 3.5 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 507.6 ล้านบาร์เรล โดยเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 6 ในช่วง 7 สัปดาห์ที่ผ่านมา
6. การเก็งกำไร
- ราคา TOCOM ส่งมอบเดือนมีนาคมอยู่ที่ 146.3 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 1.8 เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 156.4 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 2.1 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ
- ราคา SICOM เปิดตลาดที่ 128.0 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม ลดลง 1.0 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม
7. ข่าว
- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานว่า เดือนมกราคมยอดจำหน่ายบ้านใหม่ในสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 9.2 เมื่อเทียบเป็นรายเดือน อยู่ที่ 494,000 ยูนิต ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2558
- กระทรวงแรงงานฝรั่งเศสเปิดเผยว่า จำนวนผู้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ว่างงานเดือนมกราคมปรับตัวลดลง หลังพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนธันวาคม 2558 ทั้งนี้จำนวนผู้ว่างงานโดยสมบูรณ์ลดลงร้อยละ 0.8 อยู่ที่ 3,552,600 คน
8. ข้อคิดเห็นของประกอบการ
- ราคายางปรับตัวสูงขึ้นได้เล็กน้อยจากการเร่งซื้อของผู้ประกอบการเพื่อส่งมอบ ขณะที่ปริมาณผลผลิตยางลดลงเพราะหลายพื้นที่เริ่มหยุดกรีดในช่วงฤดูยางผลัดใบ
แนวโน้ม ราคายางมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในทิศทางเดียวกับตลาดล่วงหน้าโตเกียว จากการอ่อนค่าของเงินเยนและราคาน้ำมันปิดตลาดปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับอุปทานยางออกสู่ตลาดลดลงตามฤดูกาล อย่างไรก็ตาม เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่า และความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ ยังเป็นปัจจัยที่กดดันราคายางได้ในระดับหนึ่ง
ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา