ผู้เขียน หัวข้อ: ยุติมหากาพย์การโกงสต็อกยาง ๓.๑ แสนตัน / สุนทร รักษ์รงค์ เผยแพร่: 23 ธ.ค. 2559 09:12:00  (อ่าน 4061 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 82044
    • ดูรายละเอียด
ยุติมหากาพย์การโกงสต็อกยาง ๓.๑ แสนตัน / สุนทร รักษ์รงค์

เผยแพร่:นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้

23 ธันวาคม 2559
ประเด็นร้อนกระแส ?ตื่นราคายาง? ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ทางสังคมอย่างกว้างขวาง กล่าวคือ ในช่วงนี้ราคายางได้ขยับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ ยางแผ่นดิบชั้น ๓ ณ ตลาดกลางยางพารา อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ราคา ๕๘.๑๕ บาท และเมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๙ ขยับสูงขึ้น ๑๙.๑๐ บาท ภายใน ๑ เดือน ส่วนยางแผ่นรมควันชั้น ๓ ราคาแตะ ๘๐ บาท เป็นครั้งแรกในรอบ ๓ ปี หลังเกิดวิกฤตราคายางพาราตกต่ำ

ราคายางที่สูงขึ้นในปลายปี ๒๕๕๙ ก็เป็นไปตามการคาดการณ์ของหลายฝ่าย เพราะว่าต้นปี ๒๕๕๙ เกิดปรากฎการณ์เอลนิโญ ที่มีสภาพอากาศแล้งจัด อุณหภูมิสูงถึง ๔๕ องศาเซลเซียส ส่งกระทบให้ผลผลิตยางของโลกลดลง ๑ ล้านตัน ประกอบกับภาวะราคายางพาราตกต่ำในประเทศไทย ทำให้มีการโค่นต้นยางทิ้ง ลดพื้นที่การปลูก เจ้าของสวนยางแปลงใหญ่หยุดกรีดยางเพราะไม้คุ้มต้นทุน ทำให้ผลผลิตยางของไทยมีแนวโน้มลดลง ๓๐-๓๕% ยิ่งมีฝนตกหนักและเกิดน้ำท่วมในภาคใต้ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ทำให้ผลผลิตยางออกสู่ตลาดน้อยลงมาอีก การแย่งซื้อยางของพ่อค้าก่อนปิดกรีดจึงมีผลทำให้ราคายางขยับสูงขึ้น รวมทั้งยังมีปัจจัยบวกภายนอกประเทศมาหนุนเสริม เช่น ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น สต็อกยางที่จีนลดลงมามาก ราคายางกระดาษหรือตลาดล่วงหน้าที่ญี่ปุ่นสูงขึ้น ภาวะเศรษฐกิจของโลกเริ่มฟื้นตัว เป็นต้น

จนกระทั่งการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้ออกประกาศเพื่อเปิดประมูลสต็อกยาง ๓.๑ แสนตัน เมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๙ และเปิดรับสมัครผู้สนใจเมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๙ ผลปรากฏว่าทำให้ราคายางร่วงลงมา 3-4 บาท ในช่วง ๑๙-๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๙ ท่ามกลางกระแสการคัดค้านจากเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศให้ยุติการประมูลยางในช่วงนี้ และมีข้อเสนอให้ระบายยางในสต็อกดังกล่าวในช่วงปิดกรีด คือระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน ๒๕๖๐ในกระแส ?ตื่นราคายาง? รวมทั้งข้อกังวลของเกษตรกรชาวสวนยางต่อกรณีการประมูลยางในสต็อกของ กยท. จนนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยาง กับ กยท. บางเครือข่ายประกาศจะฟ้องศาลปกครอง เพื่อขอคุ้มครองฉุกเฉินให้มีการยุติการประมูลยางในช่วงนี้ และมีการตั้งข้อสงสัยถึงความโปร่งใสในการบริหารงานของการยางแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะการทำหน้าที่ของผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย ที่เกษตรกรชาวสวนยางเคลือบแคลงให้พฤติกรรมว่า ส่อไปในทางเอื้อประโยชน์ให้นายทุนหรือไม่ ซึ่งผู้เขียนสามารถวิเคราะห์ความกังวลใจของเกษตรกรชาวสวนยางได้ ๓ ประการ

ประการแรก การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) อ้างว่า ต้องระบายสต็อกยางในช่วงยางแพง เพราะมีค่าใช้จ่ายที่ต้องเช่าโกดังเดือนละ ๒๘ ล้านบาท พร้อมชี้แจ้งว่าจะค่อยๆ ทยอยขาย ไม่ขายล๊อตใหญ่ ไม่ดัมพ์ราคา และจะทำให้มีผลกระทบต่อราคายางและกลไกตลาดให้น้อยที่สุด แต่ทางเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางก็โต้แย้งว่า ทำไม กยท.ต้องออกมาประกาศในวันที่ราคายางสูงสุด (๑๖ ธ.ค.๕๙)  และทำไม ไม่ขายหรือประมูลยางในช่วงปิดกรีด ซึ่งไม่มียาง จะทำให้เกษตรกรชาวสวนยางมีผลกระทบ หรือเดือดร้อนน้อยที่สุด ซึ่งต่างฝ่าย ต่างก็ตอบโต้กันด้วยข้อมูลและเหตุผล


ทางสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง ๑๖ จังหวัดภาคใต้ ไม่ขอแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ เพราะเป็นสิทธิของ กยท.ที่สามารถกระทำได้ และก็เป็นสิทธิของเกษตรกรชาวสวนยางที่เป็นเจ้าของ กยท.ตัวจริง จะลุกขึ้นมาปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง และตรวจสอบการทำงานของ กยท. แต่ถ้าหากการประมูลยางในสต็อกครั้งนี้ส่งผลกระทบให้ราคายางตกต่ำอีกครั้ง ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อนโยบายที่ผิดพลาดนี้ เป็นบอร์ดการยาง หรือผู้ว่าการยาง หรือเป็นเรื่องเวรกรรมของเกษตรกรชาวสวนยางที่ต้องรับผิดชอบเอง

ประการที่ ๒ ในการขายยางในสต็อกด้วยวิธีการประมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่ระบุว่าต้องซื้อยางยกโกดัง แต่หากพบว่ามียางเสื่อมคุณภาพปะปน ก็จะลดหลั่นราคาตามหลักเกณฑ์ที่สถาบันวิจัยยางการยางแห่งประเทศไทยกำหนด อันนี้แหละครับที่เป็นประเด็นของปัญหาว่า ยางสภาพไหน คุณภาพเช่นไร และจะมีราคาเท่าไร ใช้อะไรเป็นตัวชี้วัด สายตาของพนักงานใช่หรือไม่ เพราะถ้าตั้งเงื่อนไขโดยการใช้ดุลยพินิจของคนหรือพนักงาน จบข่าวครับ

นั่นคือ ช่องว่างของการทุจริต เงินมันซื้อได้ทุกอย่างแหละ ไม่เว้นแม้กระทั่งคน และมหากาพย์การโกงยางในสต็อกจะกลับมาหลอกหลอนอีกครั้ง ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะจบสิ้นเมื่อไหร่ หากเราต้องเดินทางไกลเพื่อวกกลับมาสู่วังวนเดิมๆ ผู้เขียนเชื่อว่าคงไม่มีใครยอมอีกแล้ว กยท.เตรียมคำตอบไว้ให้ดีๆ ก็แล้วกัน

ประการสุดท้าย จะเกิดการประมูลยางลวงโลกหรือไม่ คือสมมุติว่ามีผู้ประมูลยางได้ และซื้อยางไปในราคาเฉลี่ยที่ต่ำกว่าท้องตลาดมากๆ ซึ่งราคายางประมูลกับราคาซื้อขายจริงจะแตกต่างกัน ราคาซื้อขายจริงจะลดหลั่นตามคุณภาพ และต่ำกว่าราคาประมูล

ผู้เขียนเชื่อว่า กยท.ไม่กล้าขายยางในราคาถูกๆ เพราะสังคมจะจับตามองและตรวจสอบ หากขายยางในราคาถูกก็จะเข้าข่ายการดัมพ์ราคายาง จนทำให้การประมูลยางในครั้งนี้ก็นำไปสู่ความล้มเหลวคือ จะไม่มีใครกล้าเสนอราคาสูงกว่าราคากลาง นอกเสียจากว่าจะเกิดการทุจริต กรณีมียางเสื่อมคุณภาพอยู่ในล๊อตนั้นด้วย ซึ่งราคากลางจะถูกกำหนดจากราคายางถัวเฉลี่ยของตลาดกลางยางพาราทั้งประเทศ ในวันก่อนการประมูล แต่ราคานี้เป็นราคายางดี ๑๐๐% ไม่ใช่ยางในสต็อก จึงไม่มีใครรู้สภาพและคุณภาพยางที่แท้จริงว่ามียางผิดรูป ยางขึ้นรา ยางเสีย และยางดีในจำนวนและสัดส่วนเท่าไร แต่ถ้าหากมีการประมูลสต๊อกยางยกโกดัง โดยไม่คัดคุณภาพ ที่สำนวนชาวบ้านเรียกว่า ตาดีได้ ตาร้ายเสีย ดูเหมือนจะยุติธรรม แต่ กยท.จะกล้าทำหรือ เพราะวิธีนี้ราคายางประมูลจะต่ำกว่าราคายางในตลาดมาก เป็นการชี้นำจนเกิดกระแสฉุดราคายางให้ตกต่ำในภาพรวม

กรณี กยท.ประกาศให้มีการประมูลยางในสต็อก แต่สุดท้ายไม่สามารถทำให้เกิดการซื้อขายยางได้จริง และกลายเป็นการประมูลยางลวงโลก มันก็ไม่สำคัญเท่ากับนโยบายการประมูลยางในครั้งนี้ทำให้ราคายางตกต่ำ และก่อให้เกิดความเสียหายต่อเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งเกษตรกรชาวสวนยางมีสิทธิตั้งข้อสงสัยกับ กยท.ว่าเป็นนโยบายที่ถูกกำหนดมาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้พ่อค้าหรือไม่ เพราะราคายางที่ลดลง ๑ บาท ชาวสวนยางเสียหายวันละ ๑๐ ล้านบาท ถ้าลดลงมา ๕ บาท เสียหายวันละ ๕๐ ล้านบาท เดือนละ ๑,๕๐๐ ล้านบาท ใครจะรับผิดชอบ?  หากเกษตรกรชาวสวนยางจะฟ้องการยางแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้เสียหาย ก็กรรมใครกรรมมันครับผม

แต่สมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง ๑๖ จังหวัดภาคใต้ ยังคงยืนยันตามมติเดิมที่เคยยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี โดยให้รัฐบาลประกาศทำสต็อกยาง ๓.๑ แสนล้านตันเป็น dead stock  และให้รัฐบาลส่งมอบยางให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด เพื่อนำยางไปลาดถนน ซ่อมถนน เพราะ อบจ.มีความพร้อมทั้งเครื่องมือ เครื่องจักร และงบประมาณ รวมทั้งให้ อบจ.รับยางไปเก็บเอง รับผิดชอบค่าเช่าโกดังเอง กยท.จะได้หยุดเอาเรื่องนี้มาอ้าง หรือนำยางไปให้เอกชนแปรรูป เพื่อไปทำเป็นสนามฟุตซอลให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบล หรือ อบต.ทุกตำบล แค่นี้ยางในสต็อกก็ไม่พอแล้วละครับ


หรือไม่ก็นำยางไปแปรรูปเป็นล้อรถไถ หรือรถแทรกเตอร์ ซึ่งใช้เทคโนโลยีไม่สูงในการผลิต และยางเสื่อมสภาพก็ใช้เป็นวัตถุดิบได้ ถือเป็นเครื่องมือและอุปกรณ์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกร หรือสถาบันเกษตรกรทั่วประเทศตามนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ของรัฐบาล


ท่านนายกฯ ประยุทธ์ครับ เราขาดทุนจากโครงการจำนำข้าวได้เป็นแสนๆ ล้าน หากจะยอมขาดทุนกับสต๊อกยางนี้อีกไม่กี่หมื่นล้าน ทางสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้มองว่าคุ้มนะครับ ซึ่งจะทำให้ยางล๊อตนี้ถูกใช้ไปจนหมด เพื่อส่งเสริมการใช้ยางในประเทศ และถือเป็นการเคลียร์สต๊อกยางเจ้าปัญหา ที่ถูกอ้างว่าเป็นต้นเหตุให้ราคายางซบเซา อีกทั้งท่านนายกฯ จะได้ทำบุญกุศลครั้งยิ่งใหญ่ ด้วยการยุติมหากาพย์การโกงสต๊อกยาง ที่ทำมาหากินบนความทุกข์และคราบน้ำตาของเกษตรกรชาวสวนยางนี้เสียที


ที่มา MGR online
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 24, 2016, 12:26:39 PM โดย Rakayang.Com »