ผู้เขียน หัวข้อ: กยท.ปล่อยกู้สวนยางรายละ5หมื่น ดอกเบี้ยร้อยละ2ลงทุนปลูกพืชผสมผสานเสริมรายได้  (อ่าน 824 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 87603
    • ดูรายละเอียด

กยท.ปล่อยกู้สวนยางรายละ5หมื่น ดอกเบี้ยร้อยละ2ลงทุนปลูกพืชผสมผสานเสริมรายได้


หนังสือพิมพ์แนวหน้า -- จันทร์ที่ 18 ธันวาคม 2560 00:00:38 น.
 
นายธีรวัฒน์ เดชทองคำ รองผู้ว่าการ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า กยท. มีนโยบายสนับสนุนเกษตรกรปลูกสวนยางแบบเกษตรผสมผสาน หรือปลูกพืชเชิงซ้อน โดยจะสนับสนุนเงินทุนให้กู้เพื่อนำมาประกอบอาชีพจากกองทุนพัฒนายางพารารายละไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี ซึ่งจะเพียงพอสำหรับการนำไปลงทุนประกอบอาชีพเสริม เพื่อเพิ่มรายได้สร้างความมั่นคง ยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกรชาวสวนยางโดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยได้อย่างยั่งยืน


สำหรับอาชีพเสริมในการทำสวนยางแบบผสมผสานนั้นมีหลากหลายรูปแบบ เกษตรกรอาจจะปลูกพืชแซมยาง หรือพืชร่วมยางก็ได้ เช่น การปลูกข้าวไร่ สับปะรด อ้อยคั้นน้ำ กล้วย มะละกอ ขมิ้นชัน ข่า ตะไคร้ น้าวัวตัดดอก ขิงแดง ดาหลา ไผ่เลี้ยงหวาน ไผ่ตง ไผ่กิมซุ่ง หวายกินหน่อ สละ ไม้ผลต่างๆ เห็ดต่างๆ ผักเหลียง ผักกูด ผักหวานป่า เป็นต้น
 
นอกจากนี้ เกษตรกรชาวสวนยางอาจจะนำเงินมาลงทุนประกอบอาชีพเสริมด้านปศุสัตว์ หรือทำประมงแบบผสมผสานในสวนยางก็ได้เช่นกัน ไม่ว่า จะเป็นการเลี้ยงแพะ การเลี้ยงหมูหลุม (หรือหมูบังเกอร์) เลี้ยงไก่พื้นเมือง เป็ด การเพาะจิ้งหรีด ชันโรง ด้วงสาคู เลี้ยงผึ้งพันธุ์ หนอนนก การเลี้ยงกบหรือ ปลาดุกในบ่อซีเมนต์หรือบ่อพลาสติก ภายในสวนยาง เป็นต้น หรือแม้การประกอบอาชีพ เสริมอื่นๆ เช่น การทำปุ๋ยอินทรีย์ การแปรรูปสินค้าเกษตร การท่อผ้า เป็นต้น ซึ่ง กยท.พร้อมที่จะให้การสนับสนุนทั้งเงินทุนและความรู้ในการประกอบอาชีพเสริมดังกล่าว โดยเกษตรกรสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้จากหน่วยงานของ กยท.ในพื้นที่นั้นๆ
 
อย่างไรก็ตาม การทำอาชีพเสริมจะประสบผลสำเร็จได้นั้น เกษตรกรจะต้องมีความขยัน อดทน และที่สำคัญจะต้องเกิดจากความต้องการของเกษตรกรจริงๆ ซึ่งที่ผ่านมามีเกษตรกรหลายรายที่ประสบผลสำเร็จในการทำสวนยางแบบผสมผสานดังกล่าว ทำให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ไม่ว่าราคายางพาราจะตกต่ำหรือวิกฤติแค่ไหนก็ตาม
 
รองผู้ว่าฯ กยท.กล่าวต่อว่า สำหรับสวนยางเก่าที่ต้องการโค่นเพื่อ ปลูกใหม่ กยท. มีเป้าหมายที่จะโค่นสวนยาง เก่าให้ได้ปีละ 400,000 ไร่ และปลูกทดแทนด้วยยางพันธุ์ดีประมาณ 200,000 ไร่ ที่เหลือปลูกแทนด้วยพืชเศรษฐกิจอื่นๆ หรือไม้ผล จะทำให้ในแต่ละปีได้ผลผลิตที่ดีมาทดแทนผลผลิตที่เสื่อมสภาพ โดยเกษตรกรจะได้รับเงินสนับสนุนไร่ละ 16,000 บาท ทั้งนี้เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน