ผู้เขียน หัวข้อ: ห่วงโซ่อุปทานยางพารา ?สวรรค์ของผู้ซื้อ (ตอนที่ 1 )  (อ่าน 1349 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 82926
    • ดูรายละเอียด
ห่วงโซ่อุปทานยางพารา ?สวรรค์ของผู้ซื้อ (ตอนที่ 1 )
04 พฤษภาคม 2019 เวลา 12:22 น.



ยางพาราสินค้าเกษตรส่งออกสำคัญของไทย หลายปีที่ผ่านมาราคายางพาราในประเทศตกต่ำลงมาก เราเลยยกหัวข้อห่วงโซ่อุปทาน ที่มีผลอย่างมากต่อการกำหนดราคายาง
เชื่อว่าหลายท่านเคยตั้งข้อสงสัย การที่กลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เป็นแหล่งผลิตยางธรรมชาติมากที่สุดในโลกกว่าร้อยละ 90 โดยเฉพาะประเทศไทยที่สามารถผลิตและส่งออกได้มากที่สุดในโลก มีพื้นที่ปลูกยางพารากว่า 23 ล้านไร่ ผลผลิตปีละ 4.5 ล้านตัน แต่ยังไม่สามารถกำหนดทิศทางของราคา ยางพารา ในตลาดโลกได้ มันเพราะอะไรกันแน่ ตอบแบบรีบๆ เลยก็คือ ตลาดยางพารายังคงเป็นการกำหนดโดยผู้ซื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ สต๊อกยางโลกมีสูง ขณะที่ปริมาณการใช้ยางของโลกและการผลิตที่มีตัวเลขใกล้เคียงกัน ดีมานด์และซัพพลายที่ใกล้เคียงกันนี่เองที่ทำให้ผู้ซื้อมีอำนาจต่อรองมากกว่าผู้ผลิต


ยางพารา




ทั้งโครงสร้างตลาดยางพาราโลก เป็นแบบผู้ซื้อน้อยราย ผู้ซื้อหรือผู้บริโภคหลักมีเพียง ไม่กี่รายซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตล้อยางชั้นนําของโลก มีฐานการผลิตที่จีน อินเดีย และสหรัฐอเมริกา ขณะที่ผู้ผลิตวัตถุดิบยางขั้นต้นและผู้ส่งออกมีมากทั้งรายใหญ่และรายย่อยในแต่ละประเทศ อาทิ  ไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม และมาเลเซีย ดังนั้น ตลาดจึงเป็นของผู้ซื้อ ผู้ซื้อมีอิทธิพลต่อการกําหนดราคายางในตลาดโลกเป็นสําคัญ โดยการซื้อขาย ยางพารา จะเป็นการกําหนดราคารับซื้อไม่ใช่เป็นการกําหนดราคาขายจากผู้ผลิตเหมือนสินค้าอื่นๆ ทั่วไป


เฉพาะประเทศไทยผลผลิตยางกว่าร้อยละ 80 ถูกส่งออกไปต่างประเทศซึ่งอยู่ในรูปวัตถุดิบขั้นต้น มีเพียงประมาณร้อยละ 10 ที่ใช้ในประเทศในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ยางยานพาหนะ ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย ยางยืด ยางรัดของ เป็นต้น และส่วนที่เหลือเก็บเป็นสต็อกไว้ทําให้ไทยต้องยอมรับราคาที่ผู้นําเข้าจากตลาดโลกกําหนดมาให้ ซึ่งจะทําให้ได้ราคาชี้นําในการรับซื้อต่อมายังห่วงโซ่อุปทานต่อไป ได้แก่ ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม พ่อค้าในเมือง พ่อค้าท้องถิ่น และเกษตรกร
ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ประกอบการไทยใช้ราคายางในตลาดซื้อขายล่วงหน้าต่างประเทศเป็นราคาอ้างอิงในการซื้อขายยางในตลาดส่งมอบจริง ตลาดล่วงหน้าต่างประเทศที่ผู้ประกอบการให้ ความสําคัญในการพิจารณาความเคลื่อนไหวของ ราคา ได้แก่

ตลาดล่วงหน้าโตเกียว หรือ TOCOM (Tokyo Commodity Exchange)
ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์สิงคโปร์หรือ SGX (Singapore Exchange)
ตลาดล่วงหน้าเซี่ยงไฮ้หรือ SHFE (Shanghai Futures Exchange)
โดยแต่ละตลาดมีบทบาทสําคัญมากในการเป็นราคาชี้นํา ตลอดจนแนวโน้ม การเคลื่อนไหวราคายางพาราในตลาดโลก เนื่องจาก เป็นตลาดซื้อขายล่วงหน้าที่เป็นสากล มีจํานวนผู้เล่นมาก มีระบบตลาดและการส่งมอบที่ได้มาตรฐาน ทําให้ผู้ประกอบการใช้ราคาในตลาดล่วงหน้าเป็นราคา อ้างอิงในการกําหนดราคารับซื้อ ดังนั้น ราคายางในประเทศเคลื่อนไหวทิศทางเดียวกันกับราคายางใน ตลาดล่วงหน้าต่างประเทศทั่วโลก

ตลาดซื้อขายล่วงหน้ามีบทบาทสำคัญ
ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ยางพารา ยางพาราจัดเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีมาตรฐานเดียวกันทั่วโลกไม่ว่าใครจะเป็นผู้ผลิตก็ตาม โดยมีทั้งการซื้อขายจริงและซื้อขายเก็งกําไรกันทั่วโลกผ่านตลาดส่งมอบจริง ที่เป็นตลาดที่เมื่อมีการซื้อขายสินค้าเกษตร แล้ว จะต้องมีการส่งมอบสินค้าตามจํานวนและราคาที่ตกลงซื้อขาย ทั้งแบบที่ต้องส่งมอบทันที ซึ่งการซื้อขายในตลาดแบบนี้แทบจะไม่มีการทําสัญญาซื้อขาย ผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงของราคายางในอนาคตเอง
ตลาดส่งมอบในอนาคต (Forward) ที่เป็นตลาดที่มีการซื้อขายมากในปัจจุบัน ผู้ซื้อและผู้ขายตกลงซื้อขาย ณ วันปัจจุบัน โดยกําหนดว่าจะซื้อหรือขายในวันข้างหน้า ณ ราคาวันปัจจุบัน โดยใช้ราคาตลาดล่วงหน้าเป็นราคาอ้างอิงประกอบกับการต่อรองราคาระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายปริมาณ สถานที่ส่งมอบ ปัญหาที่มักเกิดขึ้นในการซื้อขายแบบ Forward ทําให้เกิดการบิดพลิ้วสัญญา เนื่องจากสัญญา Forward เป็นการซื้อขายนอกตลาดไม่สามารถมีใครรับประกันหรือชดเชย จากการที่คู่สัญญาไม่ทําตามข้อตกลงได้

ประกอบกับปัจจุบันผู้ซื้อและผู้ขายต้องการป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของราคายางในอนาคต จึงเกิดตลาดซื้อขายสัญญาล่วงหน้า (Futures contract) โดยมีการเปิดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามปริมาณ คุณภาพ ราคา เวลา และสถานที่ส่งมอบ แต่ ?ไม่จําเป็นต้องมีการส่งมอบกันจริงก็ได้? หากผู้ซื้อไม่ ต้องการ และผู้ซื้อผู้ขายสามารถทําการขายหรือซื้อ สัญญาสินค้าคืนได้โดยการซื้อขายในทางตรงกันข้าม กับสถานะที่ตนถืออยู่โดยมีตลาด ทําหน้าที่เป็นศูนย์กลางการซื้อขายด้วยระบบและการ ชําระราคาที่มีมาตรฐาน

ขณะที่การกําหนดราคายางพาราในตลาดโลกและตลาดในประเทศ จะขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านอุปสงค์และอุปทานโลก ปัจจัยที่จะกําหนดอุปสงค์คือความต้องการจาก ประเทศผู้ใช้ยางรายใหญ่ ได้แก่ จีน สหรัฐฯ ยุโรป อินเดีย

ด้านปัจจัยกําหนดอุปทาน คือ ผลผลิตของประเทศที่ผู้ผลิตหลัก ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม การซื้อขายยางพารานั้นผู้นําเข้าหรือผู้ใช้ยาง ในแต่ละประเทศจะติดต่อกับผู้ส่งออก โดย พิจารณาราคายางในตลาดล่วงหน้าในญี่ปุ่นหรือเซี่ยงไฮ้  ณ วันปัจจุบันเป็นราคาอ้างอิง และ ต่อรองราคาเพื่อตกลงทําการซื้อขาย ราคาที่ตกลงซื้อ ขายกัน เรียกว่าราคา FOB ซึ่งผู้ส่งออกจะจัดหาสินค้าหรือวัตถุดิบที่จะส่งออกโดยรับซื้อจากโรงงานแปรรูป การกําหนดราคาในขั้นตอนนี้จะพิจารณาจากราคา FOB หักด้วยค่าใช้จ่ายในการขนส่ง เป็นราคาซื้อขายระหว่างประเทศซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายที่ตกลงกันจะส่งมอบสินค้า ณ ท่าเรือที่กําหนดไว้และหักด้วยเงินสงเคราะห์ (CESS)  ที่เป็นค่าธรรมเนียมในการส่งออกยางพาราที่เก็บจากผู้ส่งออก ยางนอกประเทศในอัตราที่กําหนด

การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศผู้ซื้อ
ปัจจัยกําหนดการเคลื่อนไหวของราคายางพาราในปัจจุบันจะสอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเป็นสําคัญ โดยจะเกี่ยวข้องกับตัวแปรที่ส่งผลต่ออุปสงค์อุปทานของโลก อาทิ เศรษฐกิจของประเทศผู้ใช้ยางพารา ความต้องการใช้ยางพาราโลกจะมาจากประเทศผู้ใช้หลัก ได้แก่ จีน สหรัฐฯ และยุโรป โดยจีนเป็นผู้บริโภคยางและเป็นผู้ผลิตรถยนต์อันดับ 1 ของโลก และเป็นตลาดส่งออกที่สําคัญที่สุดของไทย เศรษฐกิจจีนจึงมีความสำคัญมากต่อการขึ้นลงของราคายางพารา
สัดส่วนการส่งออกยางพาราไปประเทศจีนที่เป็นผู้ซื้อยางพารารายใหญ่ของโลกในปัจจุบันเพื่อผลิตเป็นยางล้อ ปีที่ผ่านมาจีนยังต้องการยางธรรมชาติเพื่อป้อนโรงงานผลิตยางล้อประมาณ 5.5 ล้านตัน ขณะที่ข้อมูลของกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ประเทศไทยนับเป็นผู้ส่งออกยางรายใหญ่ที่สุดไปจีน ซึ่งมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 45 ของปริมาณยางพาราที่ใช้ในประเทศจีน

ผู้ส่งออกลำดับถัดมา คือ อินโดนีเซีย ที่มีสัดส่วนการส่งออกยางไปจีน ร้อยละ 15 และเวียดนามที่ขยับมาเป็นเบอร์ 3 ในการส่งออกยางของโลกมีมาร์เก็ตแชร์ส่งออกไปจีนร้อยละ 12  ขณะที่มาเลเซียลดการส่งออกยางธรรมชาติไปจีนลงเหลือสัดส่วนในตลาดวัตถุดิบยางพาราที่ 7.8 และที่เหลือคือ ยางพาราจาก สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมา และฟิลิปปินส์ ที่มีสัดส่วนรวมกันประมาณ ประมาณร้อยละ 5.2

นอกเหนือจากนั้นคือจีนใช้ยางภายในประเทศซึ่งมีปลูกอยู่ทางยูนาน กระนั้นเห็นได้ว่าไทยสามารถครองตลาดยางแผ่นรมควันและยางแท่งของจีนได้มากกว่าคู่แข่งที่สำคัญอย่างเห็นได้ชัด



ด้วยเหตุนี้ เมื่อเศรษฐกิจจีนขยายตัว โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ ความต้องการในการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้น ความต้องการใช้ยางพาราก็จะเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคายางพาราเพิ่มสูงขึ้น
อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่า ในระยะหลังตั้งแต่กลางปี 2554 เป็นต้นมา แม้ว่ายอดผลิตรถยนต์โลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ราคายางธรรมชาติกลับลดลง เนื่องจากราคาได้รับอิทธิพลมาจากตัวแปรอื่น โดย เฉพาะตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับตลาดล่วงหน้า เช่น การคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศ ผู้ใช้ยางรายใหญ่ สถานการณ์ความไม่สงบต่างๆ ซึ่งกล่าวโดยเหมารวมก็คล้ายๆ กับการเข้าไปปั้นราคากันในตลาดล่วงหน้าที่อ่อนไหวนั่นเอง
 
โปรดติดตาม ห่วงโซ่อุปทานยางพารา ?สวรรค์ของผู้ซื้อ (ตอนจบ ) เร็วๆ นี้
อ้างอิง : ธนาคารแห่งประเทศไทย
: กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์
: International Rubber Study Group (IRSG)
: http://rubber.oie.go.th
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 04, 2019, 04:50:47 PM โดย Rakayang.Com »