ผู้เขียน หัวข้อ: สหกรณ์ยาง 400 แห่งเจ๊ง พิษประกันรายได้ทุบราคาดิ่งรายวัน  (อ่าน 655 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 82024
    • ดูรายละเอียด
สหกรณ์ยาง 400 แห่งเจ๊ง พิษประกันรายได้ทุบราคาดิ่งรายวัน

วันที่ 13 October 2019 - 22:42 น. ที่มา ประชาชาติธุรกิจ

นโยบายประกันรายได้ฉุดราคายางพาราดิ่งรายวัน กลไกตลาดเดี้ยง ชาวสวนยางโวยลั่นกลายเป็นเครื่องมือพ่อค้า-ผู้ส่งออก เผยกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชนธุรกิจโรงรมยาง 400 แห่งทั่วประเทศแบกสต๊อก ต้นทุนอ่วม ขาดทุนยับกว่าพันล้าน กรรมการ-สมาชิกเดือดร้อนหนัก เหตุจากวาง นส.3 โฉนดค้ำประกันเงินกู้แบงก์ เปิดสูตรคำนวณอ้างอิง ราคาตลาดยิ่งรูดต่ำ รัฐบาลต้องควักงบประมาณเพิ่มอีกไม่รู้จบ
ราคาซื้อขายยางในตลาดกลางยางพาราทั่วประเทศที่ปรับตัวในทิศทางลดลง ช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังรัฐบาลเตรียมประกาศราคากลางอ้างอิง ตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ราคายิ่งดิ่งลงรายวัน ล่าสุดวันที่ 11 ต.ค. 2562 ราคากลางเปิดตลาดยางแผ่นดิบอยู่ที่ 36.67 บาท/กก. ยางแผ่นรมควันชั้น 3 อยู่ที่ 38.55 บาท/กก. โดยการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) คาดการณ์ราคายางในเดือน ต.ค.ว่า ราคาในตลาดล่วงหน้าต่างประเทศมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นในระยะสั้น ก่อนปรับตัวลดลงอีกในระยะยาวเพราะยังอยู่ในช่วงขาลง กระทบต่อเนื่องถึงชาวสวนยาง กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ ตลอดจนวิสาหกิจชุมชนแปรรูปยาง โดยเฉพาะสหกรณ์ผู้ปลูกและผลิตยางพาราซึ่งมีอยู่กว่า 540 สหกรณ์ กับวิสาหกิจชุมชนที่ประกอบธุรกิจยางพาราทั่วประเทศซึ่งมีอยู่กว่า 1,200 แห่ง มีจำนวนไม่น้อยที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากราคายางที่อยู่ในระดับที่ต่ำและค่อนข้างผันผวน
 
พ่อค้าปล่อยข่าวยางล้นตลาด

นายสุนันท์ นวลพรหมสกุล รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผย ?ประชาชาติธุรกิจ? ว่า สาเหตุที่ยางราคาตกต่ำส่วนหนึ่งเป็นเพราะพ่อค้ามีการปล่อยข่าวว่ายางล้นตลาด ทั้งที่ในรอบ 8 เดือนแรกปีนี้ ตลาดโลกมีความต้องการยาง 7.8 ล้านตัน แต่มีผลผลิตเพียง 7.3 ล้านตันเท่านั้น โดยอาศัยสถานการณ์ที่บริษัท ฉงชิ่ง จำกัด รัฐวิสาหกิจผู้รับซื้อยางรายใหญ่ของรัฐบาลจีนปรับโครงสร้างองค์กร เปิดทางให้เอกชนเข้ามาร่วมถือหุ้น 45% ในบริษัท จึงต้องหยุดรับซื้อยางลงก่อนวันชาติจีนต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทำให้พ่อค้ายางภายในประเทศรับซื้อยางน้อยลง เพราะกลัวราคาตกลงไปอีก ซึ่งเรื่องนี้ทาง กยท.จะเสนอคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เร่งหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจรับซื้อยางภายใต้โครงการใช้ยางของหน่วยงานให้เร็วและมากขึ้น เพื่อดึงราคายางให้ขยับขึ้น
ผู้สื่อข่าว ?ประชาชาติธุรกิจ? รายงานว่า สาเหตุที่ราคายางตกต่ำลงตลอดในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา เพราะพ่อค้ายางไทยและจีนวิตกกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐอย่างมาก หากการเจรจาตกลงกันไม่ได้ในวันที่ 10-11 ตุลาคมนี้ จะมีการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกันมากขึ้นตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป ส่งผลต่อกำลังซื้อของคนจีนผู้บริโภคยางรายใหญ่ของโลก บวกกับเศรษฐกิจโลกขาลง ธนาคารกลางอาจต้องมีการลดดอกเบี้ยลงอีกในประเทศพัฒนาแล้ว ทำให้พ่อค้ายางชะลอการรับซื้อยางตามพ่อค้าจีนด้วย
400 โรงรมยางขาดทุนหนัก
 
นายเรืองยศ เพ็งสกุล ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อย (วคย.) และกรรมการสมาคมคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อย (ส.ค.ย.) เปิดเผย ?ประชาชาติธุรกิจ? ว่า วันที่ 15 ต.ค.นี้ จะมีการประชุมแกนนำชาวสวนยางที่ จ.นครศรีธรรมราช เพื่อหารือปัญหาราคายางที่ร่วงลงหนัก และชาวสวนยางมองว่านโยบายประกันรายได้ชาวสวนยาง ที่ราคายางแผ่นดิบ 60 บาท/กก. น้ำยางสด 57 บาท/กก. และยางก้อนถ้วย 23 บาท/กก. กลับมาเป็นเครื่องมือกดดันราคา จนเกิดทิศทางการดิ่งของราคาทุกวัน และอาจวูบถึง 4-5 กก.ต่อ 100 บาท

ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง คือ โรงรมยางกว่า 400 แห่งทั่วประเทศ ของสถาบันกลุ่มเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชนยาง และสหกรณ์ยาง เนื่องจากต่างขาดทุนต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือน พ.ค. 2562 จนถึงขณะนี้รวมแล้วกว่า 1,000 ล้านบาท ทั้งเงินทุนหมุนเวียน 2 ล้านบาท/โรง และขาดทุนต้นทุนการผลิต 500,000 บาท/โรง โดยเฉพาะสมาชิกในกลุ่ม วคย. มีประมาณ 250 โรง ที่รับซื้อน้ำยางสดจากสมาชิก ปัญหาคือขณะนี้เอกสารสิทธิ น.ส. 3 โฉนดที่ดิน ของกรรมการ และสมาชิกกลุ่มส่วนใหญ่ถูกนำไปวางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้อยู่ที่สถาบันการเงิน จึงอยากให้รัฐบาลเร่งหาทางช่วยเหลือบริหารจัดการให้ทิศทางราคายางดีขึ้น
ยางดิ่งหน้าเดิมกดราคาประมูล

?ตอนนี้โรงงานยางแห้งยุติการรับซื้อหมดแล้ว ซึ่งจะสร้างความไม่สมดุลให้เกิดขึ้นในระบบ เพราะราคาน้ำยางสดจะถูกพ่อค้าทุบตลาดลงไปอีก จากเดิมโรงงานยางแห้งรับซื้ออยู่ จะเป็นตัวคานราคารับซื้อน้ำยางสดไม่ให้ถูกทุบราคาที่สำคัญ ปัจจุบันหน่วยธุรกิจของ กยท. ไม่มีการประมูลยางจากตลาดกลางยางพารา มีแต่พ่อค้ารายเดิมเข้าร่วมประมูล ทำราคายิ่งร่วงลง ๆ?
นายเรืองยศกล่าวว่า ทางออกในการแก้ปัญหาคือการกำหนดนโยบายชัดเจนให้มีการใช้ยางพาราภายในประเทศเพิ่มขึ้น 10-40% เพื่อดึงยางออกจากระบบ ราคาจะขยับขึ้น โดยรัฐควรเรียกแกนนำชาวสวนยางทั่วประเทศมาประชุมวางรูปแบบแนวทาง เนื่องจากภาคเหนือ อีสาน ผลิตยางก้อนถ้วย ภาคใต้ตอนล่างผลิตน้ำยางสด ภาคใต้ตอนกลางผลิตยางรมควัน มีความต่างในยางตัวเดียวกัน โดยให้ กยท.ท้องที่ เป็นแม่งาน ไม่ใช่ออกแบบจากส่วนกลางที่ไม่ตอบโจทย์
โรงรมยางอ่วมสุด
นายประยูรสิทธิ์ คณานุรักษ์ ประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง การยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยในทำนองเดียวกันว่า โรงรมยางในเครือข่ายประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่องมา 3 ปีแล้ว แต่ปีนี้รุนแรงมาก เพราะราคาผันผวน ไม่นิ่ง และไหลลงมากที่สุด โดยบริษัทใหญ่ระดับประเทศและระดับโลกได้ยุติธุรกิจโรงรมยางไปก่อนแล้วประมาณ 5 ปี หันมาเป็นผู้ซื้อยางรมควันแทน เพื่อนำไปแปรรูปเป็นยางแท่ง ทำให้ธุรกิจโรงรมยางปัจจุบันเหลือแต่ของสถาบันเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์ สาเหตุที่ขาดทุนเป็นเพราะจะซื้อน้ำยางสดจากสมาชิกราคาวันต่อวัน แล้วนำเข้าสู่กระบวนการแปรรูปใช้ระยะเวลา 5 วัน ก่อนออกขายในตลาด ซึ่งราคาแกว่งจึงขาดทุน ต่างกับธุรกิจน้ำยางสดซื้อขายวันต่อวัน วันนี้ 32-33 บาท/กก. ขายให้กับโรงงานอุตสาหกรรมน้ำยางข้น 34 บาท/กก. กำไร 1-2 บาท การค้าน้ำยางสดจึงไม่ขาดทุน เพราะการซื้อมาขายไปวันต่อวัน ต่างกับยางรมควัน ซื้อขาย 5 วัน เสี่ยงสูงมาก
สหกรณ์เมืองคอนชี้แก้ไม่ตรงจุด
ด้านนายวิสูตร สุชาฎา ประธานสหกรณ์กองทุนสวนยางโสตประชา จำกัด อ.บางขัน จ.นครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า ตอนนี้ทุกสหกรณ์ได้รับผลกระทบจากภาวะขาดทุนอย่างหนัก มองว่าการแก้ปัญหาราคายางของรัฐบาลทำไปตามกระแส ส่งผลให้สถาบันเกษตรกร ชาวบ้านที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับยางพาราขาดทุนย่อยยับ เนื่องจากซื้อแพง-ขายถูก เพราะต้นทุนทั้งกระบวนการผลิตอยู่ที่ 6-7 บาท ปัจจุบันซื้อยางอยู่ที่ราคา กก.ละ 37 บาท ขายได้เท่าเดิม เท่ากับขาดทุน
40 สหกรณ์ยางตรังขาดทุนยับ
ขณะที่ที่นายมนัส หมวดเมือง ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรกองทุนสวนยางบ้านหนองครก ต.หนองปรือ อ.รัษฎา จ.ตรัง ระบุว่า ขณะนี้สหกรณ์การเกษตรกองทุนสวนยางกว่า 40 แห่งใน จ.ตรัง ขาดทุนเฉลี่ยไม่น้อยกว่าแห่งละกว่าล้านบาทต่อปี หรือทั้งจังหวัดไม่ต่ำกว่า 50-60 ล้านบาท จากปัญหาราคายางที่ตกต่ำต่อเนื่องและมีแนวโน้มร่วงลงอีก
สำรองจ่าย 2.4 หมื่นล้าน
สำหรับความคืบหน้าในการดำเนินโครงการประกันรายได้ชาวสวนยาง ระยะที่ 1 มีรายงานว่าจากที่ประชุม กนย.เห็นชอบตามข้อเสนอของ กยท.ให้กำหนดปริมาณยางที่จะประกันรายได้
(ยางแห้ง) 240 กก./ไร่/ปี หรือ 20 กก./ไร่/เดือน ระยะเวลาดำเนินการ (ต.ค. 2562-ก.ย. 2563) ระยะเวลาประกันรายได้ 6 เดือน (ต.ค. 2562-มี.ค. 2563) จ่ายเงินชดเชย 2 เดือน 1 ครั้ง โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรชาวสวนยาง งวดที่ 1 ระหว่าง 1-15 พ.ย. 62, งวดที่ 2 จ่าย 1-15 ม.ค. 63 งวดที่ 3 จ่าย 1-15 มี.ค. 63 แบ่งสัดส่วนรายได้เจ้าของสวนร้อยละ 60 และคนกรีดร้อยละ 40
ส่วนเงินค่าประกันรายได้ในแต่ละเดือน เท่ากับราคายางที่ประกันรายได้ หักราคากลางอ้างอิงการขาย ซึ่งมาจากการประกาศของคณะกรรมการกำหนดราคากลางอ้างอิง ประกาศทุก 2 เดือน โดยใช้ราคาตลาดกลางยางพารา, ราคาตลาด SICOM, ราคาตลาด TOCOM, ราคาเซี่ยงไฮ้ และปัจจัยอื่น ๆ ตามความเหมาะสม ฯลฯ
ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 24,278 ล้านบาท แบ่งเป็น 1) งบฯ ประกันรายได้ 23,472 ล้านบาท โดยให้ใช้เงินทุน ธ.ก.ส. สำรองจ่ายไปก่อน และให้ ธ.ก.ส.เสนอขอรับจัดสรรงบฯ ปี 2564 และปีถัด ๆ ไป ภายใน 5 ปี ปีละ 5,500 ล้านบาท ค่าบริหารจัดการโครงการให้ กยท.เสนอขอรับจัดสรรงบฯ ปี 2564 2) งบฯ ชดเชยต้นทุนเงินของ ธ.ก.ส. ร้อยละ 2.40 รวม 563.3 ล้านบาท 3) ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและค่าธรรมเนียมโอนเงิน ธ.ก.ส. 8.55 ล้านบาท (5 บาท/ราย) และ 4) งบบริหารโครงการ ไม่เกินร้อยละ 1 ของงบฯประกันรายได้ 234.72 ล้านบาท
เปิดสูตรราคาอ้างอิง
สำหรับคำนวณสูตรการจ่ายเงินชดเชยภายใต้งบ 24,278 ล้านบาท แต่ละเดือนรัฐจะต้องชดเชยให้เกษตรกร 3,912 ล้านบาท แบ่งเป็น 1) ชดเชยราคาประกันยางแผ่นดิบคุณภาพดี 60 หักจากราคาอ้างอิงที่รัฐคำนวณ 39.92 ล้านบาท ชดเชย กก.ละ 20.08 บาท รวม 36,742,170.68 กิโลกรัม เท่ากับรัฐจ่ายชดเชย 737.7 ล้านบาท 2) น้ำยางสด (DRC 100%) ราคาประกัน 57 บาท/กก. หักราคาอ้างอิง 39.40 บาท/กก. ชดเชย 17.60 บาท รวม 114,698,873.65 กก. เป็นเงินชดเชย 2,018.7 ล้านบาท 3) ยางก้อนถ้วย (DRC 50%) ราคาประกัน 23 บาท/กก. หักราคาอ้างอิง 17.00 บาท/กก. เท่ากับชดเชย 6 บาท/กก.รวม 192,586,771.06 กิโลกรัม คิดเป็นเงินต้องชดเชย 1,155.5 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามจากที่ขณะนี้ราคาตลาดจริงปรับลดลงต่ำกว่า ?ราคาอ้างอิง? ตามสูตร เช่น น้ำยางสด 32-33 บาทต่อ กก. หรือต่ำกว่าราคาอ้างอิง 6-7 บาทแล้ว ดังนั้น ?แนวโน้ม? การจ่ายเงินชดเชยของรัฐอาจจะบานปลายมากกว่า 24,278 ล้านบาท

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 14, 2019, 11:10:22 PM โดย Rakayang.Com »