จีนแนะใช้2มาตรการแก้ยางตกต่ำ "รับเบอร์ฯ"ตั้งศูนย์ฝึกอบรมรับมือรง.ย้ายเข้าไทย
[size=78%]11 ก.ย. 2557 เวลา 12:30:52 น.[/size]
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
ซีอีโอ "รับเบอร์ วัลเล่ย์" จากจีน ชี้ไทยต้องใช้ 2 มาตรการแก้ราคายางตกต่ำ มุ่งใช้เทคโนโลยีแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าแทนการส่งออกวัตถุดิบ และจัดระบบการซื้อขายแบบใหม่ ตั้งตลาดกลางซื้อขายส่งมอบจริงรองรับ เผยจับมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ฝึกอบรมพนักงานไทย รองรับโรงงานแปรรูปยางรายใหญ่หลายรายจากจีนตั้งฐานผลิตในไทย
นายจาง เหยียน ประธานกรรมการบริหารและผู้จัดการใหญ่ บริษัท รับเบอร์ วัลเล่ย์ กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยถึงประเด็นการแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำของไทยที่เป็นผู้ผลิตยางธรรมชาติรายใหญ่อันดับ 1 ของโลกว่า มีวิธีแก้ไข 2 ประการคือ 1.ปฏิรูปอุตสาหกรรมยางจากการขายวัตถุดิบมาใช้เทคนิคการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า ซึ่งปัจจุบันรับเบอร์ วัลเล่ย์กำลังประสานงานโรงงานแปรรูปยางในจีนมาตั้งโรงงานในไทยมากขึ้นเพื่อรับกับการเปิดตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ในปี 2558 เช่น บริษัท หลินหลง จำกัด บริษัท จงเช่อ จำกัด บริษัท ไซหลุน จำกัด บริษัท เซ็นจูรี่ ไทร์ จำกัด ซึ่มาตรฐานการลงทุน หากผลิตยางรถบรรทุกต้อง 2 ล้านเส้น/ปีขึ้นไป ถ้าผลิตยางรถเก๋งต้องผลิต 10 ล้านเส้น/ปี มูลค่าลงทุนประมาณ 2,000 ล้านหยวน หรือประมาณ 1 หมื่นล้านบาท
"ตอนนี้กำลังก่อสร้างศูนย์ฝึกอบรมเกี่ยวกับการแปรรูปยางที่ระยอง เพื่อฝึกอบรมระดับพนักงาน เจ้าของกิจการ ฯลฯ รองรับการลงทุน โดยได้เซ็นบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือให้เป็นแกนนำในการฝึกอบรม นอกจากนี้ รับเบอร์ วัลเล่ย์กำลังศึกษาที่จะมาตั้งคลังสินค้าเก็บยางในไทย ว่าต้องเชื่อมโยงกับโรงงานต่าง ๆ อย่างไร รวมทั้งระบบโลจิสติกส์ คาดว่าจะศึกษาให้เสร็จภายใน 1 ปี"
2.ต้องจัดระบบการซื้อขายแบบใหม่ ทั้งใช้ระบบออนไลน์และไม่ใช้ระบบออนไลน์ ในการจัดตั้งตลาดกลางซื้อขายส่งมอบจริง เช่น ที่นครชิงเต่า ยางที่ซื้อขายไม่ควรสต๊อกนานเกิน 1 ปี เพราะต้องการเน้นคุณภาพ เพื่อสร้างแบรนด์และชื่อเสียงที่จะส่งผลดีมาถึงยางไทยด้วย
สำหรับการดำเนินธุรกิจในจีนนั้น จากการที่รับเบอร์ วัลเล่ย์ นครชิงเต่า มณฑลชานตง ต้องการยกระดับนครชิงเต่าเป็นศูนย์กลางยางโลก ปัจจุบันมีบริษัทผู้ประกอบกิจการยางครบวงจรกว่า 160 บริษัท จึงต้องการลดต้นทุนการจัดซื้อยางธรรมชาติลง เพราะก่อนหน้านี้ซื้อขายกันหลายทอดทำให้ต้นทุนสูง ซึ่งไม่ยุติธรรม รับเบอร์ วัลเล่ย์จึงได้จัดตั้งตลาดกลางซื้อขายส่งมอบยางจริงขึ้น พร้อมเปิดซื้อขายเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันมีมูลค่าซื้อขายยางแท่ง STR 20 และยางแผ่นรมควัน (RSS3) รวมมูลค่า 3 แสนกว่าล้านหยวน
ที่ผ่านมา ราคายางต้องดูจากตลาดซื้อขายล่วงหน้า โตเกียวและเซี่ยงไฮ้ ซึ่งราคาดังกล่าวไม่ได้มาจากการซื้อขายส่งมอบจริงควรมาดูจากการซื้อขายจริงเป็นหลักฉะนั้น รับเบอร์ วัลเล่ย์จึงตั้งขึ้นมาให้เห็นราคายางที่แท้จริง ตลาดล่วงหน้าควรเป็นตัวเสริม ซึ่งขณะนี้การซื้อขายล่วงหน้าของทั้ง 2 ตลาดก็ใช้ราคาซื้อขายส่งมอบจริงอ้างอิงเหมือนกัน นอกจากนี้ รับเบอร์วัลเล่ย์ ได้จัดระบบซัพพลายเชนใหม่ให้ชาวสวนที่กรีดยาง ส่งสหกรณ์แล้วขายให้กับโรงงานแปรรูปยางโดยตรง ลดขั้นตอนไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางหลายทอด โดยซื้อยางแผ่นรมควันชั้น 3 จากสหกรณ์บ่อทองจังหวัดชลบุรีจำนวน 100 ตัน มูลค่าตันละ1,860 เหรียญสหรัฐ หรือ กก.ละ 56 บาท เท่าราคาที่ซื้อจากบริษัทวงษ์บัณฑิตผู้ส่งออกรายใหญ่ของไทยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และต่อไปจะซื้อโดยตรงผ่านสหกรณ์ชาวสวนยางในจังหวัดบึงกาฬ
นายจางเหยียนกล่าวและเสริมว่าจากแผนงานต่างๆ ที่บริษัทดำเนินการมาทำให้ 160 บริษัทไม่รวมการดำเนินงานของตลาดกลาง มีกำไรในปี 2556 ถึง 5,500 ล้านหยวน ปีนี้คาดว่าจะมีกำไร 1 หมื่นล้านหยวน โดยวันที่ 15-18 ตุลาคมศกนี้ นครชิงเต่าจะจัดงานเอ็กซ์โปยางโลก มีการออกบูทสินค้าเครื่องจักรกล วัตถุดิบ และสารเคมีกว่า 100 บริษัท คาดว่าบริษัทยางทั่วโลกเข้าเยี่ยมชมกว่า 500 บริษัท
อนึ่ง บริษัทรับเบอร์ วัลเล่ย์จะนำ 10 บริษัทจีนมาเจรจาตกลงซื้อขายยางกับสหกรณ์ยางไทย ซึ่งกระทรวงเกษตรฯกำลังหารือกับรับเบอร์ วัลเล่ย์ในรายละเอียดกันอยู่ และในปีที่ผ่านมาจีนใช้ยางธรรมชาติ 4.28 ล้านตัน เป็นการนำเข้า 3 ล้านตัน โดยนำเข้าจากไทย 70% หรือประมาณ 2.1 ล้านตัน และปีนี้คาดว่าจีนจะนำเข้ายางเพิ่มประมาณ 6%