ชาวสวนขอถอนร่างกม.ยาง 'อำนวย' แจงเน้นวิจัย-พัฒนา
ร่าง พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทยจ่อเข้า สนช. เตรียมควบรวม 3 องค์กรยางไว้ภายใต้ "การยางแห่งประเทศไทย" เน้นการวิจัยและพัฒนาเพิ่มการใช้ยางในประเทศจาก 14 เป็น 50% ด้านกลุ่มชาวสวนยางภาคใต้ยื่นหนังสือต่อประธาน สนช.ขอถอนร่างกฎหมายออกจากการพิจารณา วางร่างฉบับใหม่ขอเกษตรกรนั่งคณะกรรมการกึ่งหนึ่ง-ชาวสวนไม่มีเอกสารสิทธิที่ดินและคนกรีดยางไม่ได้รับประโยชน์
นายอำนวย ปะติเส ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 57 คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติเห็นชอบหลักการร่าง พ.ร.บ. การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. ...เตรียมดำเนินการเข้าสู่การพิจารณาวาระแรกของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คาดว่าภายใน 6 เดือนจะสามารถประกาศใช้ได้ และเปิดโอกาสให้องค์กรใด ๆ สามารถ เสนอข้อเสนอแนะ เพื่อนำมาแก้ไขเพิ่มเติม ในชั้นกรรมาธิการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจตนารมณ์ของร่าง พ.ร.บ.การยางฯ คือ การปฏิรูประบบบริหารยางพารา ให้ยุบหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3 หน่วยงาน คือ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) องค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) และสถาบันวิจัยยาง โอนภารกิจรวมกันภายใต้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ซึ่งมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยจะมีคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทยมีอำนาจวางนโยบายและควบคุมดูแล
"การจัดตั้งการยางแห่งประเทศไทยนั้น จะมีลักษณะคล้ายกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดยเป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นเพื่อความเป็นเอกภาพและสามารถบริหารจัดการเงิน เพื่อใช้พัฒนาและรักษาเสถียรภาพยางได้ รายได้ที่หน่วยงานหามาได้ไม่ต้องส่งให้รัฐบาล แต่นำมาใช้บริหารจัดการยางเอง" นายอำนวยกล่าว
ทั้งนี้ ส่วนเงินกองทุนเงินเซส ในร่าง พ.ร.บ.ได้กำหนดให้แบ่งเป็นสัดส่วน คือ 1.ต้นน้ำ นำเงินเพื่อทดแทนการโค่นยางเก่าและปลูกยางใหม่ 2.กลางน้ำ แปรรูปสหกรณ์ให้เกิดความเข้มแข็ง และวิจัยให้เกิดการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยาง 3.ปลายน้ำ การจัดการเสถียรภาพราคายางด้วยการตั้งกองทุนมูลภัณฑ์กันชนเพื่อซื้อยางในราคาต่ำและขายยางในช่วงราคาสูง แต่ยังไม่ได้กำหนดสัดส่วนการจัดสรรเงินให้แต่ละส่วน ซึ่งองค์กรต่าง ๆ สามารถเสนอความคิดเห็นในขั้นกรรมาธิการของ สนช.เพื่อความโปร่งใส
"พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวต้องการเน้นเรื่องของการนำเงินกองทุนไปใช้พัฒนา และวิจัยการใช้ยางภายในประเทศมากขึ้น จากตัวเลขที่ไทยมีการใช้ยางภายในประเทศเพียง 14% คาดว่าหลังจากเกิดกฎหมายดังกล่าว เราตั้งเป้าหมายให้เกิดการใช้ยางได้ถึง 50% กฎหมายจะทำให้มีการวิจัยการแปรรูปยางเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่ม จากมูลค่าการส่งออกยางที่ 6.7 แสนล้านบาท เราก็ตั้งเป้าหมายให้ส่งออกยางเพิ่มถึง 1.1 ล้านล้านบาท ต่อปี" นายอำนวยกล่าว
อย่างไรก็ตาม นายสุนทร รักษ์รงค์ ผู้ประสานงานแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง และเกษตรกรยางภาคใต้กว่า 50 คน ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อประธาน สนช. เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 57 และหารือกับนายอำนวย ปะติเส เพื่อขอให้ถอดถอนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวออกจากการพิจารณา และจะเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากเกษตรกรเพื่อยกร่าง พ.ร.บ.ใหม่
โดยข้อคัดค้านของเกษตรกรกลุ่มแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง คือ 1.มีตัวแทนเกษตรกรในคณะกรรมการ กยท.เพียง 1 คน ต้องการให้มีเกินกึ่งหนึ่งของคณะกรรมการ 2.ไม่เห็นด้วยกับการใช้เงินเซส (Cess) สนับสนุนภาคธุรกิจ และไม่เห็นด้วยที่สามารถนำเงินเซสสนับสนุนผู้ปลูกยางรายใหญ่ขนาดเกิน 250 ไร่ ซึ่งเงินเซสควรใช้สนับสนุนชาวสวนยางรายย่อยเท่านั้น 3.นิยามไม่ครอบคลุมชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิที่ดินและคนกรีดยาง 4.ไม่มีกองทุนสวัสดิการชาวสวนยาง 5.ให้ยกเลิกอำนาจนายกรัฐมนตรีที่สามารถแทรกแซงคณะกรรมการได้ 6.ขอให้ผนวกสวนยางขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ซึ่งมีอยู่กว่า 1 แสนไร่เข้าไว้ด้วย
Souce: ประชาชาติธุรกิจ