โวย 5 เสือชิงปาดหน้ารัฐบาลขายยางจีน
ปิดฉากดีลซื้อยางสต๊อกรัฐบาลล็อตแรก 1 แสนตัน "ยี่ฟังเหลียน"จากเกาะสิงคโปร์เข้าวิน บิ๊ก อ.ส.ย.ระบุพร้อมส่งมอบสัปดาห์นี้ ชู 2 ออพชันป้องกันเบี้ยวรับมอบ ขณะดีลกับไชน่า ไห่หนาน รับเบอร์ยักษ์ใหญ่จากจีนยังอึมครึม วงการแฉ 5 บิ๊กส่งออกยางชิงตัดหน้าเสนอราคาแข่ง ส่วนล็อตที่เหลืออีก 1.1 แสนตัน ตั้งเงื่อนไขใครชนะประมูลต้องซื้อพ่วงยางจากสถาบันเกษตรกร "ปีติพงศ์" ลั่นพร้อมแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ
กรณีที่รัฐบาลจะขายยางในสต๊อก 2.1 แสนตัน โดยล็อตแรกจะขาย 1 แสนตัน ปรากฏชื่อบริษัท ยี่ฟังเหลียน จำกัด (บจก.)บริษัทคนไทยจดทะเบียนในสิงคโปร์เสนอซื้อยกล็อตและให้ราคาสูงสุด ซึ่งที่ผ่านมาดีลดังกล่าว ยังคลุมเครือว่ารัฐบาลได้ตัดสินใจขายไปแล้วหรือไม่ เพราะมีกระแสบริษัทไม่มีเงินวางค้ำประกันซื้อสินค้า ขณะที่ปรากฏชื่อ บริษัท ไชน่า ไห่หนาน รับเบอร์ อินดัสทรี กรุ๊ปฯ ยักษ์ใหญ่บริษัทใช้ยางอันดับหนึ่งจากจีนได้ติดต่อขอซื้อในราคาสูงกว่ารายแรก ตามที่ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้เกาะติดมาอย่างต่อเนื่องนั้น
แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงความคืบหน้าล่าสุดว่านายชนะชัย เปล่งศิริวัธน์ ผู้อำนวยการองค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) ได้เซ็นสัญญาขายยางในสต๊อกแบบลับล็อตแรกจำนวน 1 แสนตันให้กับ บจก.ยี่ฟังเหลียน เรียบร้อยแล้ว โดยระบุขายเป็นเงินสด ไม่ต้องวางเงินมัดจำหรือค้ำประกันใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้จะใช้รูปแบบในการเสนอราคาซื้อ ณ หน้าคลังสินค้า ส่วนอีก 1.1 แสนตันที่เหลือ ตั้งเงื่อนไขว่าจะต้องรับซื้อยางแผ่นจากสถาบันเกษตรกรเพิ่มอีก 1.1 แสนตัน เพื่อดันราคายางในประเทศที่ตกต่ำให้ขยับขึ้น
สอดรับกับคำยืนยันจากนายชนะชัย เปล่งศิริวัธน์ ผู้อำนวยการ อ.ส.ย. ที่ระบุว่าภายในสัปดาห์นี้จะเริ่มส่งมอบยาง 1 แสนตันให้กับยี่ฟังเหลียน
โดยได้เตรียมความพร้อมการรับมอบสินค้าใน 2 รูปแบบ คือ
1.ในรูปของการขายแบบราคา ณ ท่าเรือ (เอฟโอบี) จะส่งมอบของที่ท่าเรือ ทั้งนี้ผู้ซื้อต้องเปิดแอล/ซี ชำระค่าสินค้าก่อน หรือรูปแบบที่
2. หากเสนอราคาหน้าโกดัง จะต้องโอนเงินจ่ายสินค้ามาก่อนจึงจะส่งมอบสินค้าให้ ทั้งนี้ผู้ซื้อจะไม่สามารถเลือกคลังได้ เนื่องจากมีคณะทำงานตรวจสอบมาตรฐานสินค้าก่อนขายแล้ว มั่นใจว่าการขายยางครั้งนี้จะไม่เสียเปรียบเอกชน
++แฉ 5 เสือชิงเสนอราคาแข่ง
นอกจากนี้แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่ บริษัท ไชน่า ไห่หนาน รับเบอร์ฯมีความต้องการยางพาราและอยู่ระหว่างประสานติดต่อขอเข้าพบและเจรจา กับรัฐบาลไทยว่า ขณะนี้มีกระแสข่าวว่ากลุ่ม 5 ผู้ส่งออกยางรายใหญ่ของไทย ได้เสนอขายยางให้กับไชน่า ไห่หนาน รับเบอร์ ตัดหน้าก่อนเจรจากับรัฐบาลไทยโดยเสนอราคาต่ำกว่า
ในประเด็นนี้ยอมรับตรงๆว่าเรื่องนี้รู้สึกไม่พอใจที่พ่อค้าทำในลักษณะนี้ เนื่องจากช่วงที่ขอให้ช่วยซื้อยางในสต๊อกรัฐบาล แทนที่จะช่วยกันซื้อเพื่อดันราคายางในประเทศ แต่กลุ่มพ่อค้ากลับรวมหัวกันกดราคารับซื้อยางที่กิโลกรัมละ 38-42 บาท และมาชิงตัดหน้าขายอย่างนี้อีก ดูจะไม่เป็นธรรมกับชาวสวนยางและรัฐบาล อย่างไรก็ดีหากการขายยางในสต๊อกจบลง คาดจะส่งผลให้ราคายางในประเทศปรับตัวสูงขึ้นอย่างแน่นอน โดยที่ผ่านมาหลายฝ่ายมองว่าสต๊อกยางของรัฐบาลเป็นต้นเหตุทำให้ราคายางพาราใน ตลาดโลกดีดตัวขึ้นได้
"ให้คนไทยมาช่วย ก็กลับมากดราคา แต่พอรายอื่นมาช่วยซื้อ เป็นชาวต่างชาติ กลับไปตีรวน เพื่อทำให้ยางราคาตกลงอีก ยกตัวอย่าง บจก.ยี่ฟังเหลียน ที่ทำกับเค้าเหมือนอย่างกับว่าเค้ามาลักยางในสต๊อก ทั้งที่จริงมาให้ราคาสูง สร้างความปั่นป่วน ดึงกระแส ทำให้ราคายางตกต่ำ"
++ไทยรับเบอร์ ยันไม่เกี่ยว
นายวรเทพ วงศาสุทธิกุล ประธานกรรมการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทไชน่า ไห่หนาน รับเบอร์ฯถือเป็นลูกค้าประจำ มาซื้อขายน้ำยางสดจากบริษัทอยู่แล้ว และในวันที่ 3 กันยายนนี้ทั้งสองฝ่ายมีแผนจะเจรจาเพื่อร่วมมือกันในการทำธุรกิจ ไม่เกี่ยวกับการซื้อขายยางรัฐบาล บริษัทไชน่า ไห่หนาน รับเบอร์ฯ เป็นบริษัทที่ใหญ่มาก เจ้าของธุรกิจเป็นเจ้าของเกาะไหหลำ ร่ำรวย มีทั้งสวนยาง และโรงงาน คล้ายกับ อ.ส.ย.ของไทย ดังนั้นจึงยังไม่แน่ใจว่าบริษัทจะมาซื้อยางจากรัฐบาลไทยจริงหรือไม่ ที่สำคัญไชน่า ไห่หนาน รับเบอร์ เป็นบริษัทอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ของจีน หากมีการซื้อขายจริงจะต้องแจ้งตลาดฯ เพื่อให้ผู้ถือหุ้นรับทราบ
"เข้าใจตัวแทนจากไชน่า ไห่หนานฯที่จะมาเจรจาธุรกิจกับบริษัทในครั้งนี้ จะเป็นคนละกลุ่มกับที่มาเจรจาซื้อขายยางกับรัฐบาลไทย ตั้งข้อสังเกตว่าหากเขาจะเจรจาซื้อก็สามารถซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) แค่รัฐมนตรีไทย ยกหูประสานถึงผู้ว่าการรัฐก็สามารถทำได้ ไม่เห็นต้องตั้งนายหน้า มาเจรจาซื้อ"
++จี้ 6 เรื่องรมต.เกษตรฯ
นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานชุมชนสหกรณ์เกษตรกรรมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ใน 1 -2 วันนับจากนี้จะยื่นหนังสือถึง นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คนล่าสุดเพื่อขอให้ช่วยดำเนินการใน 6 เรื่องสำคัญคือ 1. ให้จัดตั้งตลาดกลางยางพาราแบบข้อตกลงส่งมอบจริง (Physical Forward Market) แบบวันต่อวันราคาเป็นปัจจุบัน (Spot Price) เพราะบางครั้งผู้ขายและผู้ซื้อยางมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคายางที่ ปรับตัวขึ้นลงอย่างรุนแรงและกะทันหัน 2. เสนอให้รัฐมนตรี ข้าราชการ และพ่อค้า ตั้งยุทธศาสตร์ยางร่วมกันให้เป็นเสียงเดียวกัน 3. ตั้งวอร์รูมยาง 4. สต๊อกยางที่เหลือตกเกรด ให้เกษตรกรไปทดลองเรียนรู้ในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆ 5.เร่งผลักดันโครงการที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนยางที่ผ่านมติคณะ รัฐมนตรี(ครม.) แล้วทั้งในส่วนของสถาบันเกษตรกรและการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ให้ผู้ ประกอบการเร็วที่สุด และ 6.ให้เจรจาร่วม 8 ประเทศ (ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เมียนมาร์ เวียดนาม กัมพูชา ลาว และ ฟิลิปปินส์) ซึ่งเป็นผู้ปลูกยางสดส่วน 80% ของโลก รวมตัวกันเสนอราคาเดียวกัน
ขณะที่นายเพิก เลิศวังพง ประธานชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ทุกวันนี้ยังไม่เชื่อเลยว่ารัฐบาลจะขายยาง 1 แสนตันได้แล้ว และได้ราคาดี เพราะราคายางในประเทศยังลดลง อีกทั้งยังไม่เชื่อศักยภาพบริษัท ยี่ฟังเหลียนฯ เพราะคลุมเครือ และทำไมขายแบบลับๆ เพราะจริงๆ แล้วถึงขนาดนี้ควรเปิดเผยออกมาว่าขายจำนวนเท่าไร ราคาเท่าไร ไม่ใช่งุบงิบ มองไม่โปร่งใส และวันนี้ ทาง ครม. ยุคคสช. ได้ไฟเขียวอนุมัติเงินช่วยอุตสาหกรรมยางมาแล้ว 1.5 หมื่นล้านบาท เริ่มวันที่ 1 กันยายน 2557 แต่ความจริงวันนี้ยังกู้ไม่ได้ โดยเงินก้อนดังกล่าวแบ่งออกเป็น 2 ก้อน ได้แก่ จำนวนเงินกู้เสริมสภาพคล่อง 1 หมื่นล้านบาท
"คาดว่าสถาบันเกษตรกรกว่า 1 พันแห่งทั่วประเทศจะได้รับอานิสงส์ครั้งนี้ ส่วน อีก 5 พันล้านบาท สนับสนุนสินเชื่อแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มยางพารานั้น คาดว่าจะมีสถาบันเกษตรกรเพียง 10 แห่งที่มีความแข็งแรงจะเข้าร่วมโครงการนี้ แต่ปัจจุบันยังไม่คืบเลย"
++ มั่นใจ6 มาตรการดันราคายาง
ด้านนายดำรงค์ จิระสุทัศน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า หลังจากที่ขายยางในสต๊อกหมดแล้วมั่นใจว่ามาตรการที่ผ่านมติคณะรักษาความสงบ แห่งชาติ (คสช.) จะช่วยดันราคายางในประเทศได้ประกอบด้วย 1.มาตรการยกระดับราคาโดยเพิ่มสภาพคล่องด้านการตลาดเพื่อรวบรวมยางพารา วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท 2.แนวทางการเพิ่มมูลค่าผลผลิตและคุณภาพผลผลิตยางพารา โดยสนับสนุนสินเชื่อจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)ให้แก่สถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพารา วงเงิน 5 พันล้านบาท และโครงการสนับสนุนสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยางพารา วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท 4.โครงการสนับสนุนสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยางพารา โดยให้ธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกอบการ 5.หาตลาดใหม่ 6. สร้างตลาดกลางยางซื้อขายจริง
++"ปีติพงศ์"แย้มมีแผนในใจ
นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์คนใหม่ กล่าวว่า ขณะนี้ตนมีแผนงานในใจที่จะดึงราคายางในตลาดให้ปรับขึ้นอยู่แล้ว แต่คงต้องรอฟังสรุปจากข้าราชการกระทรวงถึงแผนงานการดำเนินงานว่าถึงขั้นไหน บ้าง และยังต้องรอฟังนโยบายจากรัฐบาลก่อน จึงจะสรุปแผนงานที่ชัดเจนในการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางทั้งระยะสั้น กลาง และยาวที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมได้
ที่มา หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ (วันที่ 4 - 6 กันยายน พ.ศ. 2557