ผู้เขียน หัวข้อ: ผนึกกำลัง 'ไทย-ชิงเต่า' เดินเครื่องสู้วิกฤตราคายาง  (อ่าน 1091 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 88303
    • ดูรายละเอียด
ผนึกกำลัง 'ไทย-ชิงเต่า' เดินเครื่องสู้วิกฤตราคายาง


อรพรรณ จันทรวงศ์ไพศาล

"เดือนพฤศจิกายน บริษัท รับเบอร์วัลเล่ย์ กรุ๊ป จำกัด จะนำนักลงทุนหลายสิบโรงงานในมณฑลซานตง ที่สนใจจะลงทุนในประเทศไทยไปสำรวจตลาดไทย และเยี่ยมชมเกษตรกรรวมถึงลงพื้นที่ไปดูสวนยางพารา"

คำกล่าวของ จาง เหยียน ประธานกรรมการและผู้จัดการใหญ่ บริษัท รับเบอร์วัลเล่ย์ กรุ๊ป จำกัด และบอกอีกว่าความร่วมมือ ระหว่างไทยและจีนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเป็นเหมือนการเตรียมตัวตอนนี้เราพร้อมแล้ว ชาวเกษตรกรชาวสวนยางของ จ.บึงกาฬ สามารถนำยางมาขายตลาดกลางที่ชิงเต่าโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางได้แล้ว

หลังหัวเรือใหญ่รับเบอร์วัลเล่ย์กล่าวกับตัวแทนชาวเกษตรกรสวนยางและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่มาร่วมงาน China International Rubber Industry Expo 2014 ที่อาคารชิงเต่า อินเตอร์เนชั่นแนล คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ มณฑลซานตง เมืองชิงเต่า ประเทศจีน ซึ่งจัดโดย บริษัท รับเบอร์วัลเล่ย์ ร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมยาง พาราแห่งประเทศจีน และสมาพันธ์อุตสาหกรรมปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์แห่งประเทศจีน

มหกรรมยางพาราครั้งนี้นอกจากจะจัดขึ้นเพื่อแสดงนวัตกรรมยางพาราแล้ว ยังเป็นมหกรรมเชื่อมความสัมพันธ์และความร่วมมือทางเศรษฐกิจด้วย

ดังที่ พินิจ จารุสมบัติ ประธานสภาวัฒนธรรมไทยจีนและส่งเสริมความสัมพันธ์ ผู้ผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างไทยกับจีน บอกว่า การจัดงานยางพาราครั้งนี้เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของอุตสาหกรรมยางพารา ที่สามารถต่อยอดสู่ความร่วมมือที่มั่นคงของผู้ใช้ยางและผู้ผลิตยาง จากต้นน้ำ กลางน้ำ สู่ปลายน้ำอย่างชัดเจนขึ้น ซึ่งความร่วมมือระหว่างไทยกับชิงเต่าเกิดขึ้นมาได้หลายปีและในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ 7 โรงงาน 7 แบรนด์จากเมืองชิงเต่าจะไปเยี่ยมชมสวนยางพาราและเกษตรกรถึงประเทศไทย รวมถึงภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงเกษตรฯ บีโอไอ นิคมอุตสาหกรรม สภาวัฒนธรรมไทยจีนและส่งเสริมความสัมพันธ์ มติชน และทุกหน่วยงานที่เป็นพันธมิตรกันอยู่

"โรงงานจากชิงเต่า มาเพื่อมองหาที่ลงทุนตั้งนิคมอุตสาหกรรมยางรถยนต์ที่ประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยมีการปลูกยางพาราและผลิตยางอันดับ 1 ของโลก ใน 1 ปีผลิตได้ประมาณ 4 ล้าน 2 แสนตันเป็น 1 ใน 3 จากการใช้ยางพาราโดยรวมทั่วโลก 12 ล้านตัน แต่ที่ผ่านมาเราเจอปัญหาเรื่องราคายางพาราตกต่ำมากเทียบกับอดีตเมื่อ 2-3 ปีก่อนยางเครปแผ่นเกรด 3 มีราคาสูงถึง 188 บาท ซึ่งวิเคราะห์กันแล้วว่าเป็นราคาที่สูงเกินจริง ราคาที่ เหมาะสมควรจะอยู่ที่ 80 บาท แต่ปีนี้เหลือแค่ 40 บาท เป็นราคาที่เกิดจากการเก็งกำไรของคนกลุ่มหนึ่ง ของตลาดล่วงหน้า ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของกลุ่มเกษตรกร ซึ่งยักษ์ใหญ่กลุ่มนี้เป็นผู้กำหนดราคา แต่ไม่เคยปลูกยางหรือผลิตยางสักเส้น ทางออกคือจะทำยังไงให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการซื้อขายยางให้โรงงานโดยตรง ตัดพ่อค้าคนกลางออกไป" พินิจอธิบาย

ความร่วมมือครั้งนี้ผู้ได้ประโยชน์ถ้วนหน้าคือกลุ่มเกษตรกร ประชา ทรัพย์พิพัฒนากรรมการผู้จัดการสหกรณ์กองทุนสวนยางอำเภอบ่อทอง จำกัด จ.ชลบุรี ซึ่งนำยางพารามาจัดแสดงในงาน China International Rubber Industry Expo (CIRI Expo) 2014 ได้แสดงความรู้สึกยินดีถึงความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศ เพราะบ่อทองเป็นสหกรณ์แห่งแรกที่โกอินเตอร์

ประชาเปิดใจว่า สหกรณ์บ่อทองเป็นแห่งแรกในประเทศไทยที่จดทะเบียนเป็นผู้ค้ายางกับประเทศจีนและตั้งสำนักงานที่ประเทศจีนด้วย เราผลิตยางพาราได้ประมาณ เดือนละ 1,500 ตัน ส่งออกจีนประมาณ เดือนละ 1,000 ตันขึ้นไป โดยเริ่มส่งเดือนกันยายน 2557 ผลตอบรับเบื้องต้นถือว่า ดีมาก เทียบกับก่อนหน้าขายผ่านบริษัท หลักทรัพย์ หรือโบรกเกอร์ ที่มาซื้อที่บ่อทอง ในราคาตลาดกลางไม่ใช่ราคาซื้อขายจริง ซึ่งเป็นปัญหาต่อราคายางพารา

"สาเหตุที่ราคายางตกต่ำครั้งนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ผมไม่เชื่อว่าตอนนี้ยางพาราล้นตลาด แต่มันถูกปั่นให้ลดลงเพื่อซื้อเข้าและจะถูกปั่นขึ้นเพื่อขายต่อไป โดยผู้กำหนดราคาคือตลาดกลาง โดยผ่านพ่อค้าคนกลาง ที่เข้าไปซื้อกับเกษตรกรโดยตรงแล้วกดราคาให้ต่ำ ถ้าเกษตรกรไม่ขายเขาจะไปซื้อเจ้าอื่น ทำให้ชาวสวนยางต้องยอมขายในราคาถูก ตอนนี้เราพยายามจะทำให้เกษตรกรมาส่งยางให้กับสหกรณ์หรือถ้ามี พ.ร.บ.บังคับให้พ่อค้าซื้อขายผ่านตลาดกลางของสหกรณ์เท่านั้น จะทำให้กองทุนเป็นผู้กำหนดปริมาณราคาให้เหมาะสมตามความจริง ไม่มากไปหรือน้อยไป รวมถึงการตั้งกองทุนและประกันราคาเหมือนกองทุนอ้อยน้ำตาล" ประชาบอกขณะที่ จ.บึงกาฬ น้องใหม่ของประเทศที่มีพื้นที่ปลูกยางพาราถึง 900,000 ไร่ เป็นพื้นที่เปิดกรีด 50-60 เปอร์เซ็นต์ สร้างผลผลิต ไร่ละ 250 กิโลกรัมต่อปี ปัจจุบันกำลังประสบปัญหาราคายาง ตกต่ำ เทวัญ สรรค์นิกร รองผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ บอกว่า ปัจจุบันราคายางอยู่ในภาวะตกต่ำมาก ทำให้รายได้ของจังหวัด ลดลงเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ เป็นวิกฤตที่เกิดทั้งประเทศ แนวทางแก้ไขทางจังหวัดมีแนวคิดจะลดค่าใช้จ่าย แปรรูปยางพาราเพื่อยกระดับและเพิ่มมูลค่า และส่งเสริมให้มีอาชีพเสริม หรือปลูกพืชชนิดอื่นเพื่อมีรายได้อีกทาง

"ตอนนี้เรามีสหกรณ์หลายแห่งในจังหวัด พยายามรวมกลุ่มและติดต่อกับทางชิงเต่าให้รับซื้อยางจากจังหวัดบึงกาฬ โดยจะพูดคุยกับนายกเทศมนตรีนครชิงเต่าและผู้ประกอบการเพื่อหาแนวทางให้ ชิงเต่ารับซื้อยางโดยตรงแบบสหกรณ์ฯบ่อทอง หรือลงทุนสร้างโรงงานผลิตที่ จ.บึงกาฬ" เทวัญอธิบายนิพนธ์ คนขยัน นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ บอกว่า ตอนนี้ความร่วมมือระหว่างไทยกับชิงเต่าเป็นไปด้วยดีมากได้เข้าเจรจากับบริษัท รับเบอร์วัลเล่ย์ ซึ่งนายจาง เหยียน ได้ตอบรับให้ชุมนุมสหกรณ์ฯสามารถส่งยางสู่ตลาดกลางของจีนได้หลังจากส่งยางแท่ง STR20 จำนวน 100 ตัน มาเป็นตัวอย่างเพื่อตรวจสอบคุณภาพซึ่งน่าจะแก้ปัญหายางพาราได้ในระดับหนึ่ง

เป็นมุมมองจากตัวแทนชาวไทย แต่ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ไม่ได้ส่งผลแค่ต้นน้ำหรือภาคเกษตรกรซึ่งเป็นฝ่ายผลิตเท่านั้น ยังกระทบไปถึงปลายน้ำคือภาคอุตสาหกรรมด้วย ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างไทยและชิงเต่าขึ้นมา

ฉี เหวินหยิง (Xu Wenying) รองประธานและเลขาธิการอุตสาหกรรมยางประเทศจีนบอกว่า ขณะนี้ราคายางพาราลดลงอย่างมาก ประเทศจีนซึ่งเป็นผู้บริโภครายหลักรู้สึกเป็นห่วงเรื่องราคาวัตถุดิบที่ตกต่ำลง สวนทางกับราคาผลผลิตที่ไม่ได้ลดลงเลย ยอดผลิตภัณฑ์ยางพาราในอุตสาหกรรมยาง 1-8 เดือนที่ผ่านมามีปริมาณเพิ่มขึ้น แต่มีผลกำไรลดลง รวมถึงการเติบโตลดลงเหลือ 7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเทียบกับปีที่ผ่านมาการเติบโตอยู่ที่ 22.88 เปอร์เซ็นต์ ทำให้บางบริษัทประสบภาวะขาดทุน

ปัญหาที่เกิดมาจากหลายสาเหตุด้วยกัน ฉี เหวินหยิง บอกว่า ปัญหาเรื่องยางพาราเป็นเรื่องที่สะสมมาตั้งแต่อดีต ซึ่งหลายฝ่ายต่างพยายามหาทางออก ตอนนี้ที่ทำได้ คือ ต้องลดอัตราส่วนของยางพาราลง ส่วนราคาจะต้องพยายามรักษาเสถียรภาพ ไม่ให้ราคาตกลงมากนัก เพราะราคาที่ลดลงมีผลกระทบต่อหลายอย่าง

ด้าน เซี่ย เหยียน รองนายกสมาคมมิตรภาพชาวจีนและชาวต่างประเทศ กล่าวว่า การจัดงานที่เมืองชิงเต่าครั้งนี้เนื่องจากเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในเส้นทางสายไหม ตามโครงการของ นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีประเทศจีน มีแนวคิด 1 แนวพื้นที่ 1 เส้นทางสามารถเชื่อมโยงอดีตถึงปัจจุบันสามารถเชื่อมโยงระหว่างประเทศ และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

"โครงการเส้นทางสายไหม สามารถส่งเสริมให้ประชาชนที่อยู่ในเส้นทางมีส่วนร่วม โดยเฉพาะเรื่องยางพารา ส่วนการจัดงาน China International Rubber Industry Expo 2014 ครั้งนี้เป็นงานที่สอดคล้องกับนโยบายจีนโดยตรง ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม และเศรษฐกิจ" นายเซี่ย เหยียน อธิบายความร่วมมือครั้งนี้เป็นอีกความหวังของธุรกิจยางพาราในประเทศไทย สร้างความมั่นคงให้กับอุตสาหกรรมยางพาราที่เชื่อมโยงระหว่าง 2 ประเทศ สู่การเป็นศูนย์กลางแหล่งอุตสาหกรรมยางพาราครบวงจร




Souce: มติชน