ผู้เขียน หัวข้อ: วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง วันพุธที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2559  (อ่าน 817 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 82956
    • ดูรายละเอียด

วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง
วันพุธที่  20  มกราคม  พ.ศ. 2559
ปัจจัย


วิเคราะห์

1. สภาพภูมิอากาศ


- ประเทศไทยตอนบนยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้าและมีฝนบางแห่ง ร้อยละ 10 - 20 ของพื้นที่ ส่วนภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่ง ๆ ร้อยละ 20 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนบนของภาค อย่างไรก็ตาม สภาพอากาศโดยรวมเอื้อต่อการกรีดยาง

2. การใช้ยาง


- รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติราคารับซื้อยางโดยตรงจากเกษตรกรที่กิโลกรัมละ 45 บาท สำหรับยางแผ่นดิบ วงเงิน 4.5 พันล้านบาท เริ่มรับซื้อตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2559 เป็นต้นไป

3. เศรษฐกิจโลก


- สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรปรายงานว่า เดือนธันวาคมอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนขยับขึ้นร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบเป็นรายปี ขณะที่เมื่อเทียบเป็นรายเดือนอยู่ในระดับทรงตัว โดยถูกกดดันจากการทรุดตัวของราคาน้ำมัน

- ธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศอัดฉีดเม็ดเงินมูลค่า 6 แสนล้านหยวน (9.1 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐ) เข้าสู่ตลาดการเงินผ่านทางโครงการเงินกู้ระยะกลาง (MLF) เพื่อเสริมสภาพคล่องในระบบธนาคาร
- สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมันเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ปี 2558 ลดลงร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2552 อัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนี CPI ได้ลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2554 แต่ได้ปรับตัวขึ้นร้อยละ 0.9 ในปี 2557

- กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประกาศปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและสหรัฐฯ ในปีนี้ จากการประเมินครั้งก่อนเมื่อเดือนตุลาคม 2558 โดยระบุถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจในตลาดเกิดใหม่ เช่น จีน ทั้งนี้ในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (WEO) IMF ระบุว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวร้อยละ 3.4 ในปีนี้ ลดลงร้อยละ 0.2 จากคาดการณ์ครั้งก่อน หลังจากมีการขยายตัวร้อยละ 3.1 ในปี 2558 นอกจากนี้ IMF คาดว่า

    เศรษฐกิจโลกขยายตัวร้อยละ 3.6 ในปี 2560 ลดลงร้อยละ 0.2 จากคาดการณ์ครั้งก่อน
    เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 2.6 ในปี 2559 และปี 2560 ลดลงร้อยละ 0.2 จากการคาดการณ์ครั้งก่อน ส่วนปี 2558 เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีการเติบโตร้อยละ 2.5
    เศรษฐกิจจีนขยายตัวร้อยละ 6.3 ในปี 2559 และร้อยละ 6.0 ในปี 2560 ไม่เปลี่ยนแปลงจากการคาดการณ์ครั้งก่อน ขณะที่ปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 6.9
    เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวร้อยละ 1.0 ในปี 2559 ไม่เปลี่ยนแปลงจากคาดการณ์ครั้งก่อน และขยายตัวร้อยละ 0.3 ในปี 2560 ลดลงร้อยละ 0.1 จากคาดการณ์ครั้งก่อน ส่วนปี 2558 เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีการขยายตัวร้อยละ 0.6

- สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เปิดเผยว่า

    ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 6.9 เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2533 หรือในรอบ 25 ปี และชะลอตัวจากอัตรา
    ร้อยละ 7.3 ในปี 2557 ส่วนช่วงไตรมาส 4 ปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 6.8 ชะลอตัวลงจากไตรมาส 3 ที่ร้อยละ 6.9
    ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนธันวาคมขยายตัวร้อยละ 5.9 เมื่อเทียบเป็นรายปี ชะลอตัวลงจากเดือนพฤศจิกายนที่ขยายตัวร้อยละ 6.2 ส่วนตลอดปี 2558 ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 6.1 ชะลอตัวลงจากปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 8.3
    ยอดค้าปลีกของจีนเดือนธันวาคมขยายตัวร้อยละ 11.1 เมื่อเทียบเป็นรายปี ส่วนปี 2558 ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7 เมื่อเทียบเป็นรายปี ชะลอตัวลงจากร้อยละ 12.0 ในปี 2557
    การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรปี 2558 ขยายตัวเพียงร้อยละ 10.0 เมื่อเทียบเป็นรายปี ชะลอตัวลงจากปี 2557 ที่ขยายตัวถึงร้อยละ 15.7

4. อัตราแลกเปลี่ยน


- เงินบาทอยู่ที่ 36.29 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ อ่อนค่าลง 0.01 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ

- เงินเยนอยู่ที่ 117.20 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 0.32 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ

5. ราคาน้ำมัน


- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymex ส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ปิดตลาดที่ 28.46 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 0.96 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล หลังจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนเปิดเผยว่าเศรษฐกิจจีนปี 2558 ขยายตัวในอัตราต่ำสุดในรอบ 25 ปี นอกจากนี้ยังได้รับแรงกดดันจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะน้ำมันล้นตลาด หลังจากอิหร่านประกาศเพิ่มการส่งออกน้ำมัน

- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ตลาดลอนดอนส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ปิดที่ 28.76 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.31 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล

- สำนักงานสารสนเทศพลังงานสากล (IEA) เปิดเผยว่า ตลาดน้ำมันโลกยังคงประสบกับภาวะน้ำมันล้นตลาด เพราะนอกจากความต้องการน้ำมันได้อ่อนแรงลงอันเป็นผลมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศ การที่สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (EU) ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านจะส่งผลให้อิหร่านสามารถส่งออกน้ำมันสู่ตลาดโลกได้มากขึ้น

6. การเก็งกำไร


- ราคา TOCOM ส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ 2559 อยู่ที่ 149.3 เยนต่อกิโลกรัม ลดลง 0.2 เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนมิถุนายน 2559 อยู่ที่ 158.1 เยนต่อกิโลกรัม ลดลง 2.0 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ

- ราคา SICOM เปิดตลาดที่ 130.0 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 1.5 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม

7. ข่าว


- สมาคมผู้สร้างบ้าน (NAHB) ของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้สร้างบ้านทรงตัวที่ระดับ 60.0 ในเดือนมกราคม แต่ยังอยู่ใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี

- ราคาทองคำปรับตัวขึ้นมากกว่าร้อยละ 1.0 วานนี้ในการซื้อขายที่ตลาดยุโรป จากการคาดการณ์ว่าจีนจะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่ซบเซา

8. ข้อคิดเห็นของประกอบการ


- ราคายางปรับตัวสูงขึ้นได้อีก เพราะความกังวลว่าปริมาณผลผลิตยางลดลงตามฤดูกาล และรัฐบาลเข้าซื้อยาง ทำให้ผู้ประกอบการต้องเร่งซื้อเพราะกลัวจะขาดแคลนยาง


แนวโน้ม ราคายางมีแนวโน้มทรงตัวหรือเปลี่ยนแปลงในช่วงแคบ ๆ โดยมีปัจจัยบวกจากเงินบาทอยู่ในระดับอ่อนค่า และมาตรการรับซื้อยางของรัฐบาล รวมทั้งความกังวลเกี่ยวกับอุปทานยางออกสู่ตลาดลดลง เพราะใกล้เข้าสู่ฤดูยางผลัดใบ ส่วนปัจจัยลบมาจากราคาน้ำมันปรับตัวลดลง และความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีน หลังจากจีนเปิดเผยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ปี 2558 ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 25 ปี




ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา