ผู้เขียน หัวข้อ: วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง วันศุกร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2559  (อ่าน 706 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 82785
    • ดูรายละเอียด

วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง
วันศุกร์ที่  29  มกราคม  พ.ศ. 2559

ปัจจัย


วิเคราะห์

1. สภาพภูมิอากาศ


- ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้น 2-3 องศาเซลเซียส กับมีหมอกในตอนเช้า ส่วนภาคใต้มีฝนตกเป็นแห่ง ๆ ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ส่วนมากทางภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการกรีดยาง

2. การใช้ยาง


- ตามรายงานฉบับใหม่ของ Market Reports Online ระบุว่าผลผลิตยางพาราทั่วโลกในเวลานี้นับว่ามีมากเกินความต้องการเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน โดยมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2563 จะมีผลผลิตยางพาราส่วนเกินถึงประมาณ 1 ล้านตัน และปริมาณยางสังเคราะห์ส่วนเกินถึง 3 ล้านตัน ในขณะที่ความต้องการยางพาราทั่วโลกส่วนใหญ่จะนำไปเป็นวัตถุดิบผลิตยางล้อนั้น ก็กำลังลดลงเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจของจีนชะลอตัว

3. เศรษฐกิจโลก


- กระทรวงสื่อสารและกิจกรรมภายในประเทศของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนธันวาคม ปรับตัวขึ้นร้อยละ 0.1 จากปีก่อนหน้านี้

- กระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นปรับตัวลดลง ร้อยละ 1.4 ในเดือนธันวาคม จากเดือนก่อนหน้านี้

- คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคธุรกิจในยูโรโซน พบว่าลดลงสู่ระดับ 105.0 ในเดือนมกราคม ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปีที่แล้ว จากระดับ 106.7 ในเดือนธันวาคม

- สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ รายงานว่า เศรษฐกิจอังกฤษขยายตัวร้อยละ 0.5 ในไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว หลังจากเติบโตร้อยละ 0.4 ในไตรมาส 3 นอกจากนี้เศรษฐกิจอังกฤษมีการขยายตัวร้อยละ 2.2 ในปี 2558 โดยต่ำกว่าระดับร้อยละ 2.9 ในปี 2557

- กระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกเดือนธันวาคม หดตัวลงร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่2 และสะท้อนให้เห็นว่าอุปสงค์ของภาคครัวเรือนญี่ปุ่นชะลอตัว รวมทั้งผลกระทบที่เกิดจากการลดลงของราคาน้ำมัน

- ธนาคารกลางจีน (PBOC) ระบุว่า ทางธนาคารกลางจะเพิ่มความถี่ในการดำเนินงานทางตลาดเงินเป็นการชั่วคราวในระหว่างวันที่ 29 มกราคม ? 19 กุมภาพันธ์ 2559 เพื่อให้ตลาดการเงินมีสภาพคล่องที่เพียงพอในช่วงตรุษจีน

- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐฯ เช่น เครื่องบิน รถยนต์และเครื่องจักรขนาดใหญ่ ที่มีการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ลดลงร้อยละ 5.1 ในเดือนธันวาคม เมื่อเทียบรายเดือน ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงร้อยละ 0.7

- สำนักงานสถิติแห่งชาติของเยอรมนี เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อของเยอรมนี ซึ่งวัดตามมาตรฐานของสหภาพยุโรป ลดลงร้อยละ 0.9 ในเดือนมกราคม เมื่อเทียบรายเดือน ขณะที่ปรับตัวขึ้นร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบรายปีหลังจากเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.3 ในเดือนธันวาคม

4. อัตราแลกเปลี่ยน


- เงินบาทอยู่ที่ 35.82 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่า 0.04  บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

- เงินเยนอยู่ที่ 118.64 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่า 0.13 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ

5. ราคาน้ำมัน


- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymex ส่งมอบเดือนมีนาคม 2559 ปิดตลาดที่ 33.22 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.92 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ขานรับการคาดการณ์ที่ว่าประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่จะร่วมมือกันเพื่อปรับลดกำลังการผลิต โดยมีเป้าหมายที่จะแก้ปัญหาราคาน้ำมันตกต่ำ

- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ตลาดลอนดอนส่งมอบเดือนมีนาคม 2559 ที่ตลาดลอนดอนปิดที่ 33.89 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.79 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล




- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานรัสเซีย กล่าวว่า ซาอุดิอาระเบียได้เสนอให้ผู้ผลิตน้ำมันทั่วโลก พร้อมใจกันลดกำลังการผลิต ร้อยละ 5.0 เพื่อแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันตกต่ำ สาเหตุปริมาณน้ำมันล้นตลาด โดยสำหรับรัสเซียแล้วการลดกำลังการผลิตลง ร้อยละ 5.0 เท่ากับลดการผลิตน้ำมัน 500,000 บาร์เรลต่อวัน

6. การเก็งกำไร


- ราคา TOCOM ส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ 2559 อยู่ที่ 149.0 เยนต่อกิโลกรัม ลดลง 0.5 เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนมิถุนายน 2559 อยู่ที่ 155.7 เยนต่อกิโลกรัม ลดลง 1.1 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ

- ราคา SICOM เปิดตลาดที่ 122.0 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม ลดลง 2.3 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม

7. ข่าว


- กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยว่า จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรกในสัปดาห์ที่แล้วปรับตัวลง จากระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือน โดยลดลง 16,000 ราย สู่ระดับ 278,000 ราย และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 280,000 ราย

- สำนักงานสถิติแห่งชาติของสเปน (INE) รายงานว่า จำนวนคนว่างงานของสเปนลดลง 678,200 คน หรือ ร้อยละ 12.43 ในปี 2558 เทียบกับปี 2557 ซึ่งเป็นการลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2545 และยังระบุว่าอัตราว่างงานอยู่ที่ ร้อยละ 20.9 ในปี 2558

8. ข้อคิดเห็นของประกอบการ


- ราคายางปรับตัวลดลงเล็กน้อยตามตลาดต่างประเทศ ขณะที่ผู้ซื้อจากจีนเริ่มหยุดยาวในเทศกาลตรุษจีน ทำให้ขายออกยากไม่มีผู้ซื้อ และต้องเสนอขายในราคาต่ำกว่าตลาดสิงคโปร์ 1-2 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม ซึ่งจะขายได้ ดังนั้นผู้ส่งออกจึงต้องปรับราคาลง

แนวโน้ม ราคายางมีแนวโน้มปรับตัวลดลงในทิศทางเดียวกับราคาตลาดโตเกียว โดยมีปัจจัยลบมาจากการแข็งค่าของเงินเยนและเงินบาท  ประกอบกับนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและความอ่อนแอของเศรษฐกิจยูโรโซน ซึ่งส่งผลต่ออุปสงค์ยางในภาพรวม ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) แสดงความกังวลภาวะผันผวนในตลาดการเงินและภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก  อย่างไรก็ตาม ภาวะฝนตกหนักทางภาคใต้ของไทยและราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับมาตรการซื้อยางของรัฐบาลยังเป็นปัจจัยหนุนราคายางได้ในระดับหนึ่ง



ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา