สั่งตั้งบอร์ดยางปฏิรูปทั้งระบบ
ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีเกษตรฯ ลงนาม ตั้งบอร์ดยางพาราบริหารจัดการทั้งระบบ ชูแนวทางไม่บิดเบือนกลไกตลาด และไม่เน้นประชานิยมตามนโยบาย คสช. ด้านชาวสวนร้องแก้ปัญหายางราคาตกแบบเดียวกับมาเลย์จ่ายชดเลย 5 พันบาทสำหรับรายย่อยมีที่ไม่เกิน 15 ไร่ พร้อมให้บริษัทร่วมทุนซื้อเก็บ ขณะ IRCoร่อนหนังสือแจ้งอินโดฯ-มาเลย์ ยัน คสช.ไม่ขายยาง 2.1 แสนตันแล้ว แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้มีคำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เลขที่ 483/2557 ลงวันที่ 11 มิถุนายน 2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานจัดทำแนวทางการบริหารจัดการยางพาราทั้งระบบอย่างมีเอกภาพ หรือ "บอร์ดยาง" เพื่อให้การบริหารจัดการยางพาราในภาคเกษตรกร สถาบันเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้ส่งออกทั้งระบบ เป็นไปอย่างมีเอกภาพและมีประสิทธิภาพ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534
ทั้งนี้องค์ประกอบคณะทำงาน ประกอบด้วย รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านส่งเสริมและพัฒนาเกษตรและระบบสหกรณ์) เป็นประธานคณะทำงาน รองปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์ (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาการผลิต) รองประธานคณะทำงาน ส่วนคณะทำงาน ประกอบด้วย อธิบดีกรมวิชาการเกษตร อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ผู้อำนวยการองค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) และนายทรงธรรม จั่นทรัพย์ ที่ปรึกษาด้านการเกษตร สกย. เป็นคณะทำงานและเลขานุการ
"คณะทำงานชุดนี้จะมีอำนาจหน้าที่คือ 1.พิจารณาแนวทางสนับสนุนช่วยเหลือเกษตรกร สถาบันเกษตรกร ผู้ประกอบการผู้ส่งออกยางพารา เพื่อให้การบริหารจัดการยางพาราทั้งระบบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ 2.เสนอแนะแนวทางและมาตรการเกี่ยวกับสินค้ายางพารา เพื่อให้มีการบริหารจัดการสินค้ายางพารามีเอกภาพ และมีการพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพและประสิทธิผลอย่างต่อเนื่องทั้งระยะสั้น และระยะยาว โดยไม่บิดเบือนกลไกลตลาด ขานรับนโยบาย คสช. ไม่เน้นประชานิยม อย่างไรก็ดีการขับเคลื่อนในครั้งนี้จะนำไปสู่การผลักดัน พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยางพาราไทยทั้งระบบอีกครั้ง เน้นความชัดเจนและต่อเนื่องไม่ผันแปรไปตามการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลหรือการเปลี่ยนรัฐมนตรี"
ด้านนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานคณะทำงานเศรษฐกิจมหภาค การเงินการคลัง สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะประธานสภาการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในขณะนี้นอกจากรัฐบาลไทยที่ได้มีมาตรการในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากราคายางพาราตกต่ำ โดยจ่ายชดเชยปัจจัยการผลิตไร่ละ 2,520 บาท ไม่เกินรายละ 25 ไร่แล้ว ในส่วนของมาเลเซียอีกหนึ่งผู้ผลิตและส่งออกยางพารารายใหญ่ ล่าสุดก็ได้มีการเร่งรัดออกมาตรการแก้ปัญหายางราคาตกแล้วเช่นกัน โดยจะให้เงินช่วยเหลือเกษตรย่อยที่มีพื้นที่ไม่เกิน 2.5 เฮกตาร์ หรือประมาณ 15 ไร่ที่จดทะเบียนกับกองทุนสงเคราะห์สวนยาง RISDA โดยกำหนดอัตราการการช่วยเริ่มต้นรายละ 500 ริงกิต หรือ 5 พันบาทต่อราย เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายนนี้ เป็นต้นไป ในเรื่องนี้ทางสถาบันเกษตรกรของไทยอยากเสนอให้ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีมาตรการช่วยเหลือในรูปแบบเดียวกับมาเลเซีย นอกจากนี้ควรให้บริษัท ร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ จำกัด (IRCo) ได้ซื้อยางเก็บไว้ในอัตราส่วนการถือหุ้นประกอบด้วยไทย 2 ส่วน อินโดนีเซีย 1.5 ส่วน และ มาเลเซีย 1 ส่วน เพื่อดึงราคายางในตลาดโลกให้ขยับสูงขึ้นทั้งระบบ
ขณะที่นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่ผู้บริหาร IRCoเผยว่า ได้แจ้งข่าวไปยังมาเลเซีย และอินโดนีเซีย เรียบร้อยแล้วว่ารัฐบาลไทยจะไม่ขายยาง 2.1 แสนตันออกมาในตลาด แต่จะหันไปใช้แนวทางการส่งเสริมการใช้ในประเทศแทน เพื่อไม่ให้ราคายางตกต่ำไปมากกว่าในปัจจุบัน
เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ