ผู้เขียน หัวข้อ: 'ไทยฮั้ว'ฟันธง!หลังสิ้นก.ย.ราคายางขยับ  (อ่าน 1533 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 88258
    • ดูรายละเอียด
'ไทยฮั้ว'ฟันธง!หลังสิ้นก.ย.ราคายางขยับ

โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

"ไทยฮั้ว"ผู้ส่งออกรายใหญ่ฟันธง หลังสิ้นก.ย.ราคายางขยับ แนะรัฐบาลทุ่มส่งเสริมอุตสาหกรรมกลางน้ำและปลายน้ำ


นายหลักชัย กิตติพล ประธานบริหารและกรรมการผู้จัดการ. บริษัทไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การส่งออกยางพาราของไทย ในครึ่งปีแรกทำได้ 1.8 ล้านตัน คาดว่าทั้งปีจะส่งออกได้ 3.6 ล้านตันใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา




อย่างไรก็ตามหากรัฐบาลสามารถขายยาง 2.1 แสนตันได้สำเร็จ การส่งออกยางของไทยในปีนี้จะเพิ่มขึ้นทันทีเป็น 3.8 ล้านตัน แม้ปริมาณยางส่งออกเพิ่มขึ้น แต่มูลค่ายังน้อยกว่าเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เป็นผลมาจากราคายางที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี โดยเป็นผลมาจากที่ผลผลิตยางพาราในตลาดยังมีอยู่มาก จีนประกาศว่ายังมีสต็อกยางพาราอยู่บริเวณท่าเรือต่างๆ




ส่งผลให้ผู้ประกอบการล้อยาง ไม่มีแผนซื้อยางเพื่อเก็บสต็อก ที่ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายด้านดอกเบี้ย ค่าฝากในโกดัง ค่าดูแลค่าเสื่อมสภาพ เป็นต้น ในขณะที่การซื้อยางในตลาดสามารถทำได้ในทันที เพราะสินค้ามีอยู่แล้ว อีกทั้งราคาที่ซื้อมีแนวโน้มปรับตัวลดลง ทั้งหมดจึงเป็นผลให้ราคายางที่เกษตรกรได้รับปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง




เชื่อราคากระเตื้องไตรมาส 3


แต่ทั้งนี้จากสถานการณ์การส่งออกยางโดยทั่วไป จะเริ่มดีขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 ดังนั้นจึงเป็นไปได้ที่ราคายางในช่วงครึ่งปีหลัง จะปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีที่รัฐบาลสามารถระบายสต็อกที่มีอยู่ได้ เป็นความหวังว่าจะทำให้ราคายางถึง กก.ละ 65 บาทได้ตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่กล่าวเอาไว้ แต่เรื่องนี้อยู่บนข้อสันนิษฐานว่าจะไม่มีปัจจัยเสี่ยงอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง




ราคายางที่ปรับตัวสูงขึ้นได้ ยังจะเป็นผลมาจากที่มีรัฐบาลเข้ามาดูแลเรื่องยางพาราอย่างชัดเจน นั่นหมายถึงการจัดตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้มีอำนาจโดยตรง ไม่ผ่านปลัดกระทรวงเกษตรฯอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นต่อต่างชาติ




ส่วนหนึ่งเพราะยางพาราเป็นพืชที่ยังต้องอาศัยความร่วมมือกับประเทศผู้ผลิตด้วยกันเอง ในการสร้างเสถียรภาพราคา ที่ผ่านมาการนัดประชุมเพื่อหารือร่วมกันถึงการแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำไม่เกิดขึ้นเลย ทำให้ในปีนี้ราคายางของไทยตกต่ำอย่างถึงขีดสุดและราคาไม่น่าจะต่ำไปกว่านี้อีกแล้ว เนื่องจากเกษตรกรจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก




สิ้นเดือนก.ย.ราคาไป65บาท/กก.


? ผมคิดว่าหลังเดือน ก.ย. เป็นต้นไป สถานการณ์ยางทุกอย่างจะเริ่มดีขึ้น เพราะได้รัฐบาลใหม่มากำกับนโยบาย ที่สามารถเดินหน้าได้เต็มที่และรวดเร็วยิ่งขึ้น ปลายปี 57 นี้น่าจะเห็นราคายางของไทยอยู่ที่กก. 65 บาท ในขณะที่ปี 58 ราคายางคาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น แต่ไม่พรวดพราดเหมือนที่เคยเป็น โดยจะสามารถคาดเดาได้จากกลุ่มผู้ประกอบการล้อยางที่ครึ่งปีแรกมีกำไรมากถึง 20-38 % จึงเป็นสัญญาณที่ดีว่ากำไรทั้งหมดจะมีส่วนดึงให้อุตสาหกรรมต้นน้ำ และกลางน้ำดีขึ้นด้วย ? นายหลักชัย กล่าว




นอกจากนี้ศักยภาพโดยรวมทางด้านเศรษฐกิจ ของผู้ใช้ยางพารารายใหญ่ของโลก ปีนี้ทั้งสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรปหรืออียู จีน ปรับตัวในทางที่ดีขึ้น ยอดการผลิตรถยนต์ของโลกที่คาดว่าจะมีมากถึง 80 ล้านคัน ในปี 58 จะเพิ่มขึ้นเป็น 90 ล้านคัน และ 100 ล้านคันในปีต่อไป การประเมินในเบื้องต้นจึงคาดว่าปริมาณการใช้ยางจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทำให้ยางยังเป็นสินค้าที่มีอนาคต


แต่จากสถานการณ์ยางในปัจจุบันที่ผลผลิตเพิ่มขึ้นเร็วกว่าการเพิ่มขึ้นของความต้องการในตลาด ดังนั้นเพื่อให้ราคายางที่เกษตรกรได้รับอยู่ในอัตราที่รับได้ เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องกำหนดนโยบายเรื่องยางให้ชัดเจน ไม่ไขว้เขวอย่างที่เป็นมาในอดีต




อย่างกรณีการโค่นยางเก่าเพื่อปลูกใหม่ทดแทน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่จะชะลอปริมาณน้ำยางไม่ให้ออกสู่ตลาดได้ เดิมกำหนดที่จะโค่นให้ได้ปีละ 5 แสนไร่ หากไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมายในปีนั้น ปีต่อไปก็ต้องเพิ่มเป็น 1 ล้านไร่ เป็นต้น ทั้งนี้เพราะมีเกษตรกรบางส่วนที่จะไม่ยอมโค่นทิ้งหากเห็นว่าราคายางเริ่มปรับตัวสูงขึ้น

จี้รัฐส่งเสริมอุตสาหกรรมปลายน้ำ




นอกจากนี้ควรส่งเสริมอุตสาหกรรมปลายน้ำให้เพิ่มขึ้น เพราะเป็นส่วนที่ไทยขาดแคลน ทำให้ยางพาราที่ผลิตได้ประมาณ 4 ล้านตัน/ปี ต้องพึ่งพาการส่งออกมากถึง 90 % ที่เหลือใช้ในประเทศเพียงเล็กน้อย ทำให้ยางพาราถูกกำหนดราคาโดยต่างตลาดต่างประเทศ และเกิดปัญหาขึ้นในปัจจุบันกรณีที่ราคาตกต่ำ อย่างไรก็ตามการสนับสนุนอุตสาหกรรมยางของภาครัฐในปัจจุบัน ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมกลางน้ำ โดยให้สถาบันเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ต่างๆ ลงทุนสร้างโรงงานยางแท่ง ยางแผนรมควัน มากขึ้น ซึ่งโดยส่วนตัวเห็นว่ายังไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง




ทั้งนี้เพราะอุตสาหกรรมกลางน้ำเหล่านี้ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน มีกำลังการผลิตมากถึง 6-7 ล้านตันต่อปี เฉพาะไทยฮั้ว เอง ปัจจุบันใช้เพียง 50 % ของกำลังการผลิตทั้งหมด หากย้อนกลับไปในอดีต ช่วงรัฐบาลที่มีนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี หรือชวน 1 มีการสนับสนุนให้สถาบันเกษตรกรสร้างโรงอบ ยางแผ่น มากถึง 600 แห่ง ปัจจุบันพบว่าถูกทิ้งล้างไม่ได้ใช้การจำนวนมาก ทั้งหมดเหล่านี้อยากให้รัฐบาลที่เข้ามาใหม่พิจารณาทบทวนและหาทางแก้ไขที่ถูกต้อง




สำหรับผลประกอบการของไทยฮั่ว ครึ่งปีแรก สามารถส่งออกยางได้รวม 2 แสนตัน มูลค่าประมาณ 18,000 ล้านบาท ในส่วนของปริมาณพบว่าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาเล็กน้อย แต่มูลค่าต่ำกว่าเป้าที่กำหนด ไว้ 25,000 ล้านบาท เพราะราคายางช่วงต้นปีตกต่ำ จากที่คิดว่าราคาเอฟโอบีจะอยู่ที่ ตันละ 2,500 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 80 บาท/กก. ผลพบว่าราคาที่ได้ที่กก.ละ 60 บาทเท่านั้น




อย่างไรก็ตามสถานการณ์ยางที่คาดว่าจะเริ่มดีขึ้นในช่วงปีหลัง ไทยฮั้วจึงหวังว่าทั้งปีจะส่งออกให้ได้ 6 แสนตัน มูลค่า 30,000 ล้านบาท และปี 58 ที่ 40,000 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้นปีละ 20 % แต่ทั้งนี้สัดส่วนการส่งออกของไทยฮั่วจะมีการเปลี่ยนแปลงตามความต้องการของตลาด โดยจะส่งออกยางแท่งมากขึ้นจากปัจจุบันที่มีสัดส่วน 50 % ที่เหลือเป็นยางแผ่นรมควัน 25 % และ น้ำยางข้น 25 % ทั้งนี้เพราะโรงงานยางล้อกว่า 90 % ในขณะนี้ใช้ยางแท่งเป็นวัตถุดิบ ที่สะดวกกว่า ไม่เหนียวเมื่อเทียบกับยางแผ่นรมควัน ที่ต้องใช้พลังงานในการผลิตยางล้อมากขึ้น