ผู้เขียน หัวข้อ: เร่งกู้วิกฤติยางพารา (09/12/2557)  (อ่าน 903 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 88303
    • ดูรายละเอียด
เร่งกู้วิกฤติยางพารา (09/12/2557)
« เมื่อ: ธันวาคม 09, 2014, 12:59:02 PM »
เร่งกู้วิกฤติยางพารา (09/12/2557)

สถานการณ์วิกฤติราคายางพาราที่ดิ่งเหวอยู่ในขณะนี้ ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อรายได้ของเกษตรกรชาวสวนยางพาราไปทั่วทุกภาค เพราะขณะนี้พืชเศรษฐกิจชนิดนี้มิได้เป็นอาชีพหลักของภาคใต้เท่านั้น แต่ปัจจุบันได้กระจายไปทั่วทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะในภาคอีสาน
มีข้อมูลที่น่าสนใจจากรายงานนักวิชาการคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในแนวทางแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจเรื่องปัจจัยที่กระทบกับเกษตรกรชาวสวนยางพารา เช่น ต้นทุนการผลิตยางพาราของไทยเมื่อเทียบกับประเทศผู้ผลิตยาง พบว่าในปี  2555 สูงสุดที่กิโลกรัมละ 2.2 เหรียญสหรัฐ หรือ 65 บาท  (ยางแผ่นดิบ)


ในขณะที่มาเลเซียอยู่ที่กิโลกรัมละ 1.50 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 45 บาท อินโดนีเซียอยู่ที่กิโลกรัมละ 1.70  เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 54 บาท กัมพูชา, เวียดนาม และลาวอยู่ที่กิโลกรัมละ 1.20 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 36  บาทตามลำดับ



ขณะเดียวกัน มาตรการงดเก็บเงิน CESS จากผู้ส่งออก ที่เสนอเพื่อลดต้นทุน 3 บาทนั้น คิดว่าเกษตรกรไม่น่าจะได้ประโยชน์มาก เนื่องจากในระบบตลาดเสรี ผู้ซื้อยางจะทราบต้นทุนยางพาราลดลงไปกิโลกรัมละ 3 บาท ส่งผลให้ผู้ซื้อจะพยายามกดราคา ไม่สามารถควบคุมผู้ซื้อยางพาราได้ เพราะส่วนใหญ่เป็นการซื้อกับเกษตรกรโดยตรงหรือผ่านกลุ่มโดยตรง (direct trade)



และสิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกประการหนึ่ง คือ ปริมาณยางพาราที่ล้นตลาด เนื่องจากในปี 2557 เป็นปีที่ไทยจะมีผลผลิตยางเพิ่มจากโครงการ 1 ล้านไร่ และอีก 2 ล้านไร่ที่อยู่นอกโครงการ ซึ่งคาดว่าน่าจะมีผลกระทบต่อราคายางพาราแน่นอน

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นรัฐบาลจักต้องพิเคราะห์ข้อมูลสำคัญเหล่านี้ และให้ความสำคัญเพื่อทำความเข้าใจ มุ่งไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ มากกว่าการออกมาใช้ข้อกฎหมายห้ามปรามชาวสวนยางที่เตรียมการเคลื่อนไหว โดยควรนั่งทบทวน ระดมสรรพกำลังทรัพยากรมาแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนให้ชาวสวนยางมากกว่า


เนื่องจากการประกาศเคลื่อนไหวใหญ่ของเครือข่ายชาวสวนยางที่กำลังจะมีขึ้นนั้น ทางหนึ่งก็เพื่อให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาในเชิงรุก มากกว่าวนอยู่ภายใต้เงื่อน ไขของระบบข้าราชการ หรือปล่อยให้ปัญหาเรื้อรังไปเรื่อยๆ จนกระทั่งชาวสวนไม่สามารถทนต่อสภาพที่เข้าสู่วิกฤติมากขึ้นทุกวัน



ขณะเดียวกัน ในเบื้องต้นรัฐบาลควรมีความชัด เจน ในการแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วนเฉพาะหน้านี้ เพื่อพยุงสถานการณ์ให้ดีขึ้นมากกว่าที่จะปล่อยให้ย่ำแย่กว่าที่เป็นอยู่



ข้อเสนอของชาวสวนยางที่ประกาศแนวทาง หรือข้อเสนอให้รัฐบาลมีมาตรการเบื้องต้นช่วยเหลือชาวสวนยางได้ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นประกันยางพาราไว้ที่ 80 บาท ซึ่งการรับซื้อก็ให้รัฐบาลชดเชยส่วนต่างเป็นเงินสดก็ดี หรือจะชดเชยส่วนต่างเป็นพันธบัตรรัฐบาลก็ได้



เหล่านี้เป็นข้อเสนอโดยตรงของชาวสวนยางที่อยู่ในสถานการณ์วิกฤติ รัฐบาลจะต้องเร่งพูดคุย ทำความเข้าใจ และตื่นตัว จะทำได้หรือไม่ก็ต้องมีการพูดคุยหา จุดสมดุล มากกว่าจะพูดว่าต้องรอ หรืออ้างการใช้มาตร การทางกฎหมายมาข่มขู่หากมีการเคลื่อนไหว



ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจักต้องแก้ไขปัญหาสถาน การณ์ยางพาราอย่างเป็นระบบและบูรณาการ มิฉะนั้น ความเดือดร้อนครั้งนี้จะซ้ำรอยชาวนาที่หมดหวัง จนกลายเป็นโศกนาฏกรรมอีกครั้งกับชาวสวนยางพาราในประเทศไทย.




ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ (วันที่ 9 ธันวาคม 2557)