ภาวะตลาดเงินบาท: เงินบาทเปิด 35.75/80 คาดทิศทางทรงตัวแคบถึงอ่อนค่าเล็กน้อยหลังไร้ปัจจัยสำคัญ
Monday, January 09, 2017 09:21:58
นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ 35.75/80 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่า
จากเมื่อเย็นวันศุกร์ที่ปิดตลาดที่ระดับ 35.69 บาท/ดอลลาร์
วันนี้เงินบาทคงจะเคลื่อนไหวทรงตัวอยู่กรอบแคบๆ เนื่องจากไม่มีข่าวที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อค่าเงินมากนัก แต่ก็ยังมีโอกาส
เคลื่อนไหวในทิศทางที่อ่อนค่า
"วันนี้ไม่ค่อยมีข่าวอะไรที่จะมีผลกับค่าเงิน บาทคงทรงๆ และอาจเคลื่อนไหวไปในทิศทางอ่อนค่าได้เล็กน้อย" นักบริหาร
เงินระบุ
นักบริหารเงิน คาดว่า วันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 35.70-35.90 บาท/ดอลลาร์
* ปัจจัยสำคัญ
- เช้านี้เงินเยนอยู่ที่ระดับ 117.00/40 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 115.92 เยน/ดอลลาร์
- ส่วนเงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.0520/0560 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 1.0600 ดอลลาร์/ยูโร
- อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 35.715 บาท/ดอลลาร์
- ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบสกุลเงินหลักๆในการซื้อขายที่ตลาดนิวยอร์กเมื่อวันศุกร์ (6 ม.ค.) หลังจากกระทรวง
แรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนธ.ค.
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อวันศุกร์ (6 ม.ค.) เนื่องจากเริ่มมีสัญญาณว่ากลุ่ม
ประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) เดินหน้าลดการผลิตตามข้อตกลง โดยสัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.พ.เพิ่มขึ้น 23 เซนต์
หรือ 0.43% ปิดที่ 53.99 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนมี.ค.เพิ่มขึ้น 21 เซนต์ หรือ 0.37% ปิดที่
57.10 ดอลลาร์/บาร์เรล
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อวันศุกร์ (6 ม.ค.) โดยภาวะการซื้อขายในตลาดทองคำได้รับแรงกดดันจากการ
แข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยสัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ. ลดลง 7.9
ดอลลาร์ หรือ 0.67% ปิดที่ 1,173.40 ดอลลาร์/ออนซ์
- ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ก เปิดเผยว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มขยายตัว 1.94% ในไตรมาสแรก
ของปีนี้ ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับการประเมินในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งอยู่ที่ระดับ 1.70% หลังมีการเปิดเผยตัวเลขการผลิตภาค
อุตสาหกรรมของสหรัฐที่แข็งแกร่ง นอกจากนี้ เฟดยังระบุว่า แบบจำลอง Nowcast แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 1.89%
ในไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว โดยสูงกว่าเมื่อเทียบกับการประเมินในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งอยู่ที่ระดับ 1.77%
- ผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตของ ISM ปรับตัวขึ้น 1.5% สู่
ระดับ 54.7 ในเดือน ธ.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ธ.ค.2014 โดยเพิ่มขึ้นจากระดับ 53.2 ในเดือน พ.ย.ทั้งนี้ ดัชนีอยู่
เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ภาวะขยายตัว ขณะที่คำสั่งซื้อใหม่พุ่งขึ้น 7.2% ในเดือน ธ.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย.2014
ขณะที่การจ้างงานเพิ่มขึ้น 0.8% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย.2015
- กระทรวงแรงงานสหรัฐ รายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 156,000 ตำแหน่งในเดือนธ.ค.
ขณะที่อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 4.7% หลังร่วงลงสู่ระดับ 4.6% ในเดือน พ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 9 ปี
ทั้งนี้ ภาคเอกชนมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 144,000 ตำแหน่งในเดือน ธ.ค.ขณะที่ภาครัฐจ้างงานเพิ่มขึ้น 12,000
ตำแหน่ง ขณะเดียวกัน ตัวเลขรายได้ต่อชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน ซึ่งเป็นข้อมูลที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญเพื่อ
หาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ เพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือน ธ.ค. หลังจากลดลง 0.1% ในเดือนพ.ย.
--อินโฟเควสท?-